สหรัฐฯ เผชิญความท้าทายจากวิกฤตผู้ลี้ภัยในเท็กซัส

โดย PPTV Online

เผยแพร่

เวลานี้จีนและรัสเซียกำลังมุ่งเป้าให้ความสนใจไปที่ประเด็นความขัดแย้งบริเวณชายแดนสหรัฐฯ และเม็กซิโก หลังจากที่ผู้ว่าการรัฐเท็กซัสได้ประกาศต่อต้านนโยบายผ่อนปรนผู้ขอลี้ภัยเข้าไปในสหรัฐฯ ของรัฐบาลฝ่ายบริหารของโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้จีนและรัสเซียฉวยโอกาสนำวิกฤตดังกล่าวขึ้นมาปลุกระดมบนโซเชียลมีเดีย และบิดเบือนข้อมูลเพื่อสร้างความปั่นป่วนในสหรัฐฯ ขณะที่การเลือกตั้งกำลังใกล้เข้า

ช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาประเด็นความขัดแย้งด้านความมั่นคงบริเวณตามแนวชายแดนและการตรวจคนเข้าเมือง ระหว่างรัฐบาลท้องถิ่นของรัฐเท็กซัส และรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ตกเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วสหรัฐฯ และเรื่องนี้กลายเป็นประเด็นมากขึ้น

“ปูติน” เผย สหรัฐฯ ภายใต้ “ไบเดน” ดีกว่าสหรัฐฯ ที่ “ทรัมป์” ปกครอง

“ไบเดน” รอดคดีซุกเอกสารลับ แต่ถูกสงสัยความจำมีปัญหา

รัฐเท็กซัส รายการรอบโลก DAILY
ชายแดนรัฐเท็กซัส

หลังจากที่ เกร็ก แอบบอตต์ ผู้ว่าการรัฐเท็กซัส พร้อมด้วยผู้ว่าการรัฐต่างๆ ที่มาจากพรรครีพับลิกันอีก 13 คนรวมตัวกันที่สวนสาธารณะแห่งหนึ่งในเมืองอีเกิล พาสเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา และประกาศต่อต้านนโยบายดังกล่าวของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ

นี่จึงทำให้บริเวณดังกล่าวกลายเป็นจุดศูนย์กลางของการเผชิญหน้ากันระหว่างหน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่นของรัฐเท็กซัส และรัฐบาลกลางสหรัฐฯ และเกิดการชุมนุมของกลุ่มที่ใช้ชื่อว่า God's Army ที่ออกมารวมตัวประท้วงต่อต้านการอพยพข้ามชายแดนของผู้ขอลี้ภัย ภายใต้สโลแกน Take our border back

ความขัดแย้งระหว่างรัฐเท็กซัส และรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ทวีความตึงเครียดมากขึ้น หลังจาก ผู้ว่าการรัฐเท็กซัสประกาศว่าจะไม่ยอมเปิดชายแดนให้กับผู้ขอลี้ภัยจากอเมริกาใต้เข้าสหรัฐฯ อย่างผิดกฎหมายเด็ดขาด

นอกจากนี้ยังสั่งวางกำลังป้องกันชาติตามชายแดนที่มีลวดหนามติดใบมีดวางตลอดแนวชายแดนด้วย ทั้งนี้รัฐบาลกลางสหรัฐฯ ได้ฟ้องร้องผู้ว่าการรัฐเท็กซัสในข้อหาควบคุมพื้นที่สาธารณะที่มีทางลาดไปยังแม่น้ำ และวางลวดหนามริมฝั่งแม่น้ำ

โดยฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ชี้ว่า เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยบริเวณชายแดนของรัฐเท็กซัสได้ขัดขวางไม่ให้ตำรวจตระเวนชายแดนของรัฐบาลกลางเข้าไปยังแม่น้ำเพื่อช่วยเหลือผู้ขอลี้ภัยสามคนที่จมน้ำตาย

อย่างไรก็ตามรัฐเท็กซัสได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว ขณะที่ผู้ว่าการรัฐเท็กซัสระบุว่า สิ่งที่เขาทำคือการหยุดยั้งไม่ให้ผู้คนข้ามพรมแดนเข้าไปยังสหรัฐฯ อย่างผิดกฎหมาย  และการยืนหยัดอยู่ตรงนี้ก็เพื่อส่งข้อความที่ชัดเจนไปถึงรัฐบาลกลางว่า พวกเขาได้รวมตัวกันเพื่อต่อสู้และรักษาหลักประกันตามรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ

นอกจากความขัดแย้งระหว่างผู้ว่าการรัฐเท็กซัสและผู้นำสหรัฐฯ จะกลายเป็นข่าวใหญ่ในสหรัฐฯ แล้ว เรื่องนี้ยังเป็นประเด็นร้อนในรัสเซียและจีนด้วย โดยทั้งสองชาติต่างออกมาแสดงความเห็นบนโซเชียลมีเดียในประเด็นดังกล่าว และส่งเสียงเชียร์ให้สหรัฐฯ เกิดความไม่สงบ

ความขัดแย้งระหว่างผู้ว่าการรัฐเท็กซัสและประธานาธิบดีไบเดน ได้ยกระดับเพิ่มขึ้น หลังประธานาธิบดีไบเดน ได้นำเรื่องฟ้องร้องไปถึงศาลฎีกาของสหรัฐฯ และได้รับอนุญาตให้ตำรวจชายแดนตัดลวดหนามได้

แต่กลับกลายเป็นว่า ผู้ว่าการรัฐเท็กซัสได้ขวางคำสั่งดังกล่าว และประกาศให้คำมั่นสัญญาว่า จะเพิ่มลวดหนามเพื่อป้องกันกลุ่มผู้ขอลี้ภัยเข้ามารุกรานในสหรัฐฯ 

นอกจากนี้รัฐเท็กซัสยังได้รับการสนับสนุนจากผู้ว่าการรัฐต่างๆ ของพรรครีพับลิกันทั่วประเทศในการส่งทหารและกองกำลังของพวกเขาไปช่วยควบคุมพื้นที่บริเวณชายแดน

ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นในรัฐเท็กซัส ทำให้ทางฝั่งของรัสเซีย ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐบาลและสื่อของรัฐ ได้ออกมาส่งเสียงเชียร์ให้สหรัฐฯ เกิดความไม่สงบ โดยเฉพาะในพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์มีบุคคลทางการเมือง นักวิเคราะห์ โพสต์ข้อความ บทวิเคราะห์ และบทบรรณาธิการที่คาดการณ์ว่า ในสหรัฐฯ จะเกิดสงครามกลางเมือง และยังสนับสนุนให้รัฐเท็กซัสแยกตัวออกจากสหรัฐฯ ด้วย

 

อย่างเช่น ดมิทรี เมดเวเดฟ อดีตประธานาธิบดีและอดีตนายกรัฐมนตรีรัสเซีย ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ โพสต์ข้อความทางแพลตฟอร์มเอ็กซ์ (X) ว่า ประเด็นข้อพิพาทที่ชายแดนสหรัฐฯ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่า พลังความเป็นเจ้าโลกของสหรัฐฯ กำลังอ่อนแรงลงแล้ว และสิ่งที่เกิดขึ้นจะทำให้การจัดตั้งสาธารณรัฐประชาชนเท็กซัสกำลังใกล้เป็นจริงขึ้นเรื่อยๆ และประเด็นนี้อาจนำไปสู่ สงครามกลางเมืองนองเลือดที่อาจทำให้ผู้คนนับแสนต้องเสียชีวิต

เช่นเดียวกับสถานีโทรทัศน์ RT ของรัฐบาลรัสเซีย เป็นอีกฝ่ายที่พยายามนำเสนอเนื้อเรื่องที่ชี้ว่า สหรัฐฯ อยู่ในภาวะใกล้เข้าสู่สงครามกลางเมืองแล้ว

ทั้งนี้กระแสปลุกระดมแบ่งแยกของรัสเซียไม่ใช่เรื่องใหม่ และที่ผ่านมารัฐบาลรัสเซียเป็นฝ่ายให้การสนับสนุนการจัดประชุมใหญ่ประจำปีของกลุ่มนักเคลื่อนไหวการแบ่งแยกดินแดนจากทั่วโลก และหลายครั้งมีการนำเสนอข้อมูลโดยนักเคลื่อนไหวจากรัฐเท็กซัสและรัฐแคลิฟอร์เนีย

เบรท เชเฟอร์ นักวิชาการอาวุโสด้านข้อมูลบิดเบือนผ่านสื่อและสื่อดิจิทัล จาก German Marshall Fund of the United States (GMF) เปิดเผยกับฝ่าย Polygraph ของวีโอเอว่า ความเคลื่อนไหวของรัสเซียต่อประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องที่น่าประหลาดใจ และการหยิบยกเรื่องราวเกี่ยวกับสงครามกลางเมืองในสหรัฐฯ ขึ้นมาพูด เป็นเรื่องปกติที่จะเกิดขึ้นในรัสเซียเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ทศวรรษ

ส่วนทางฝั่งของจีน แม้ว่า เจ้าหน้าที่รัฐและสื่อของรัฐบาลจีนจะไม่ได้แสดงความเห็นต่อประเด็นดังกล่าวโจ่งแจ้งนัก แต่พบว่าสื่อสังคมออนไลน์ที่รัฐบาลจีนคุมเข้มอยู่ กลับมีการปล่อยให้ใช้แฮชแท็ก U.S. civil war หรือ สงครามกลางเมืองสหรัฐฯ และ Texas has entered a stage of war หรือ เท็กซัสก้าวเข้าสู่ภาวะสงคราม จนติดเทรนด์บนแพลตฟอร์มเว่ยป๋อ สื่อสังคมออนไลน์ของจีน

โดยผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ของจีนต่างชี้ว่า ความเคลื่อนไหวของผู้ว่าการรัฐเท็กซัสเป็นการแสดงให้เห็นว่า เขากำลังเตรียมทำสงครามกับรัฐบาลกลางสหรัฐฯ และบางส่วนโพสต์ข้อความสนับสนุนให้รัฐเท็กซัสยืนหยัดอย่างแข็งกร้าว และเรียกร้องให้มีการแยกตัวออกจากสหรัฐฯ ด้วย

นอกจากนี้ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ของจีนยังไปไกลกว่านั้น โดยผู้ใช้งานชื่อว่า Pingyuan Prince ซึ่งมีผู้ติดตามอยู่กว่า 1.2 ล้านคน ได้โพสต์ข้อความว่า อย่างน้อยมีการส่งรถฮัมวี 400 คัน พาหนะหุ้มเกราะแบรดลีย์ 72 คันและปืนใหญ่ฮาวอิตเซอร์ M109 จำนวน 48 ชุด ไปยังแนวหน้าของเท็กซัสแล้ว และผู้ว่าการรัฐเท็กซัสได้ประกาศภาวะสงครามด้วย

อย่างไรก็ตามในความเป็นจริง ผู้ว่าการรัฐเท็กซัสไม่เคยประกาศภาวะสงครามกับรัฐบาลกลางสหรัฐฯ และภาพของรถถังที่มีการเผยแพร่ตามสื่อสังคมออนไลน์จีนนั้นก็เป็นภาพของรถถังเอบรัมส์ และพาหนะหุ้มเกราะแบรดลีย์ที่ถูกจัดส่งไปยังฟอร์ตบลิสส์ ในรัฐเท็กซัส เพื่อร่วมการฝึกซ้อมทางทหาร ไม่ได้เกี่ยวข้องกับประเด็นวิกฤตชายแดนเท็กซัสเลย

สำหรับสหรัฐฯ ต้องเผชิญกับวิกฤตผู้ขอลี้ภัยทะลักเข้าประเทศอย่างต่อเนื่อง  นับตั้งแต่ต้นปี 2021 เป็นต้นมา พบผู้ขอลี้ภัยมากกว่า 6.3 ล้านคนเดินทางข้ามพรมแดนเข้าไปยังสหรัฐฯ อย่างผิดกฎหมาย

ขณะที่กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสหรัฐฯ ระบุว่า ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมาพบผู้ขอลี้ภัยลักลอบเข้าไปยังสหรัฐฯ มากกว่า 371,036 คน ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์  ขณะที่เจ้าหน้าที่ลาดตระเวนชายแดนสกัดจับคนลักลอบเข้าสหรัฐฯ ได้กว่า 3 แสนคนในพื้นที่ทางตอนใต้ของสหรัฐฯ

ขณะที่รัฐเท็กซัส ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้และติดกับชายแดนเม็กซิโก เผชิญกับปัญหาผู้ขอลี้ภัยลักลอบเดินทางเข้าสหรัฐฯ มาโดยตลอด และไม่สามารถสกัดคนเหล่านี้ได้ แม้แต่ในยุคของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีการสร้างกำแพงเป็นแนวยาว แต่ก็ยังสกัดได้ไม่หมด เพราะมีปัญหางบประมาณและคำสั่งศาลฎีกา

ปีที่แล้ว มีรายงานผู้ขอลี้ภัยเดินทางเข้าไปยังสหรัฐฯ ทุบสถิติครั้งใหม่ แม้รัฐบาลฝ่ายบริหารขอประธานาธิบดีไบเดนได้ออกกฎใหม่ที่เข้มงวดขึ้น หลังจากที่ข้อบังคับ Title 42 ในสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ ได้หมดอายุลงเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม กฎหมายของฝ่ายบริหารของโจ ไบเดน ทำให้คลื่นผู้ขอลี้ภัยสงบอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง ก่อนจะกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง

สาเหตุที่ผู้ขอลี้ภัยที่หลั่งไหลเข้าไปยังสหรัฐฯ จำนวนมาก เนื่องจากพวกเขาหนีความยากจน ความรุนแรง และความไม่มั่นคงทางการเมืองในประเทศบ้านเกิดของตัวเอง โดยส่วนใหญ่คนเหล่านี้มาจากฮอนดูรัส เวเนซุเอลา รวมถึงคิวบา เอลซัลวาดอร์ กัวเตมาลา และเฮติ ขณะที่ป่าช่องแคบดาเรียน (Darien Gap) ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นป่าฝนสุดอันตรายเป็นหนึ่งในช่องทางยอดนิยมที่ชาวอเมริกาใต้หลายพันคนเดินทางข้ามผ่านไปยังอเมริกาเหนือ

สำหรับสหรัฐฯ ถือเป็นจุดหมายปลายทางของผู้คนที่แสวงหาการเริ่มต้นชีวิตใหม่ ข้อมูลจากสถาบันนโยบายการย้ายถิ่นฐานในวอชิงตันระบุว่า เวลานี้มีผู้คนประมาณ 11 ล้านคนที่อยู่ในสหรัฐฯ โดยไม่มีเอกสารทางกฎหมายใดๆ และหลายคนอาศัย และทำงานที่นี่มาแล้วหลายปี หรือหลายสิบปีแล้ว

เปิดตำราข้อควรปฏิบัติของชาวพุทธ ใน “วันมาฆบูชา 2567”

ย้อนฟังเรื่องราว “ไอซ์ ปรีชญา” มรสุมทดสอบชีวิต

ราชทัณฑ์ แจงปล่อยตัวพักโทษ “ทักษิณ” เป็นไปตามกฎหมาย

Bottom-PL-HLW Bottom-PL-HLW

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ