ติดตามการเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซียที่เริ่มต้นขึ้นวันนี้เป็นวันแรกและจะดำเนินไปจนถึงวันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคมนี้ แม้ผลการนับคะแนนจะประกาศออกมาในวันอาทิตย์ช่วงกลางคืนตามเวลาท้องถิ่นของกรุงมอสโก แต่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะเปิดทางให้วลาดิเมียร์ ปูติน ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีรัสเซียต่อไปอีกเป็นสมัยที่ 5 จนถึงปี 2030 และนี่อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดทิศทางของสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนต่อไปในอนาคต
วันนี้เวลา 8.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวรัสเซียหลายสิบล้านคนได้ทยอยเดินทางไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซียตามจุดต่างๆ ซึ่งจัดขึ้นใน 27 ภูมิภาคทั่วประเทศ โดยค่อยๆ ไล่เปิดคูหาตามเขตเวลา เริ่มต้นตั้งแต่ภูมิภาคตะวันออกไกล ไปจนสุดทางตะวันตกที่แคว้นคาลินินกราด ดินแดนส่วนแยกของรัสเซียที่อยู่ติดบริเวณทะเลบอลติก
นอกจากนี้ นี่ยังเป็นครั้งแรกที่มีการจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีในพื้นที่แคว้นโดเนตสก์ ลูฮานสก์ ซาโปริซเซีย และเคอร์ซอน ที่รัสเซียผนวกจากยูเครนไปอย่างผิดกฎหมายหลังเปิดฉากทำสงครามรุกรานยูเครนในปี 2022 ด้วย
นี่คือบรรยากาศการลงคะแนนในเมืองวลาดิวอสต็อก เมืองท่าสำคัญบริเวณชายฝั่งทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของรัสเซียที่เปิดคูหาเป็นแห่งแรกๆ ในประเทศ ประชาชนชาวรัสเซียต่างทยอยเดินทางไปใช้สิทธิ์ที่จุดลงคะแนน
ส่วนนี่คือบรรยากาศที่คูหาแห่งหนึ่งในกรุงมอสโก เมืองหลวงของรัสเซีย ชาวรัสเซียได้เดินทางไปลงคะแนนเสียงกันอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน นี่คือวันแรกของการเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซีย ซึ่งจะจัดขึ้นเป็นเวลา 3 วันไปจนถึงช่วงเย็นของวันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคม 2024
สำหรับบุคคลที่ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในการเลือกตั้งครั้งนี้ทั้งหมด 4 ราย คนแรกคือประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียคนปัจจุบันวัย 71 ปี ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีรัสเซียมาแล้ว 4 สมัย และลงสมัครรับเลือกตั้งในนามผู้สมัครอิสระ คนที่สองคือนิโคไล คาริตอนอฟ สมาชิกรัฐสภารัสเซียสังกัดพรรคคอมมิวนิสต์วัย 75 ปี คนที่สามคือ เลโอนิด สลูตสกี สมาชิกรัฐสภารัสเซียสังกัดพรรค Liberal Democratic Party พรรคชาตินิยมฝ่ายขวา ส่วนอีกรายคือ วลาดิสลาฟ ดาวานคอฟ สมาชิกรัฐสภารัสเซียสังกัดพรรค New People Party ซึ่งเป็นพรรคสายเสรีนิยม
อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายประเมินว่านี่เป็นการเลือกตั้งที่แทบจะไม่มีการแข่งขัน โดยคาดว่าผู้ที่จะได้รับชัยชนะไปคือ ประธานาธิบดีปูติน ซึ่งจะเป็นการเปิดทางให้เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อเป็นสมัยที่ 5 ต่อไปอีก 6 ปี นั่นคือจนถึงปี 2030 ถือเป็นการกระชับอำนาจครั้งสำคัญในวันที่รัสเซียทำสงครามรุกรานยูเครนมาเป็นเวลา 2 ปีเต็ม
คำถามคือ ทำไมหลายฝ่ายจึงประเมินเช่นนี้ สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้สมัครอีกสามรายที่ลงท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในการเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่ใช่ผู้สมัครที่ได้รับความนิยมมากนัก และที่สำคัญคือไม่ได้มีแนวทางที่ท้าทายนโยบายของผู้นำรัสเซีย โดยเฉพาะในสงครามยูเครน
โดยทั้งสามราย ซึ่งเป็นสมาชิกรัฐสภารัสเซียต่างลงคะแนนอนุมัติในกฎหมายที่เปิดทางให้รัฐบาลเปิดฉากทำสงครามในยูเครนอย่างเต็มรูปแบบ หรือที่ฝ่ายรัสเซียเรียกว่า ‘ปฏิบัติการพิเศษทางการทหาร’
ขณะที่ผู้สมัครที่มีแนวทางต่อต้านการส่งทหารเข้าไปทำสงครามในยูเครนอย่างตรงไปตรงมาและชูนโยบายว่าจะหยุดสงครามในยูเครนหากได้เป็นประธานาธิบดีกลับถูกคณะกรรมการการเลือกตั้งกลางรัสเซียหรือ CEC ปฏิเสธไม่ให้ลงรับสมัครเลือกตั้ง
ผู้สมัครรายหนึ่งที่หลายฝ่ายจับตามองอย่างมากก่อนที่จะถูกปฏิเสธคือ บอริส นาเดียชดิน อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของรัสเซียวัย 60 ปี โดยเขาได้ส่งลายเซ็นของผู้สนับสนุนจำนวน 105,000 รายชื่อไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้งกลางเพื่อขอสมัครลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีรัสเซีย แต่ถูกปฏิเสธเนื่องจากคณะกรรมการเลือกตั้งกลางระบุว่า มีเพียง 95,587 รายชื่อเท่านั้นที่มีสิทธิสนับสนุนการยื่นเสนอ
ส่วนอีกรายหนึ่งคือ เยคาเตอรินา ดุนสโตวา อดีตนักข่าวหญิงวัย 40 ปี ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งกลางรัสเซียปัดตกใบสมัครของเธอ โดยให้เหตุผลว่า เอกสารยื่นขอสมัครลงเลือกตั้งมีรายละเอียดที่ละเมิดกฎหลายจุด
นอกจากนี้ นักการเมืองฝ่ายต่อต้านที่เคยท้าทายอำนาจของประธานาธิบดีปูตินได้อย่างแข็งแกร่งและมีอิทธิพลต่อความคิดของชาวรัสเซียขณะนี้ก็ลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศ ถูกจำคุก หรือไม่ก็เสียชีวิตแล้ว คนหนึ่งที่เพิ่งเสียชีวิตไปไม่นานก่อนที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีขึ้นคือ อเลกเซ นาวาลนี อดีตผู้นำฝ่ายค้านที่เคลื่อนไหวรณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชัน เปิดโปง และวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลประธานาธิบดีปูตินอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งเสียชีวิตลงอย่างปริศนาขณะที่ต้องโทษจำคุกเป็นเวลา 30 ปีในเรือนจำที่ขั้วโลกเหนือ
นอกเหนือจากการกำจัดฝ่ายค้านแล้ว หลายฝ่ายยังวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการเลือกตั้งของรัสเซียว่า ปราศจากความโปร่งใสและดำเนินไปท่ามกลางการควมคุมสื่อจากรัฐบาล เหล่านี้จึงทำให้หลายฝ่ายมองว่า ค่อนข้างแน่นอนที่ชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นของประธานาธิบดีปูติน
และแม้ว่าขณะนี้คะแนนนิยมของผู้นำรัสเซียจะสูงถึงร้อยละ 80 ตามที่ผลสำรวจของ Levada Center องค์กรวิจัยอิสระในรัสเซียระบุก็ตาม อย่างไรก็ดี ประชาชนชาวรัสเซียในกรุงมอสโกส่วนหนึ่งที่เดินทางมาใช้สิทธิลงคะแนนระบุว่า เขาได้ลงคะแนนเลือกผู้สมัครรายอื่นอย่าง วลาดิสลาฟ ดาวานคอฟ จากพรรค New People Party เนื่องจากต้องการแนวทางการเมืองใหม่ๆขณะที่อีกรายระบุว่าเกี่ยวกับการเลือกตั้งไปในเชิงลบว่า เขาไม่ได้คาดหวังว่าการเลือกตั้งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงใดๆ
หลายฝ่ายมองว่า ชัยชนะของประธานาธิบดีปูตินในการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นเครื่องยืนยันทางการเมืองว่า การทำสงครามในยูเครนยังคงได้รับการสนับสนุนจากประชาชน ก่อนหน้าที่การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นไม่กี่วัน ประธานาธิบดีรัสเซียได้ออกมาให้สัมภาษณ์ต่อสื่อเกี่ยวกับสงครามและความขัดแย้งกับโลกตะวันตก ซึ่งสร้างความตระหนกให้แก่หลายฝ่ายอย่างมาก นั่นก็คือการขู่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ ล่าสุดทางการรัสเซียได้ออกมาปฏิเสธแล้ว
รัสเซียระบุ ปธน.ปูตินไม่ได้ขู่จะใช้นิวเคลียร์
เมื่อวานนี้ ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกรัฐบาลรัสเซีย ได้ออกมาตอบคำถามสื่อมวลชนเกี่ยวกับการให้สัมภาษณ์ของประธานาธิบดีปูตินต่อสื่อเมื่อวันพุธที่ผ่านมา โดยในการสัมภาษณ์ ประธานาธิบดีปูตินระบุว่ารัสเซียมีความพร้อมทางการทหารที่จะทำสงครามนิวเคลียร์ และหากสหรัฐฯ ตัดสินใจส่งทหารเข้าไปสู้รบในยูเครน รัสเซียจะถือว่าเป็นการแทรกแซงและยกระดับความตึงเครียดในสงครามยูเครน นี่จึงทำให้หลายฝ่ายกังวลว่า มีความเป็นไปได้ที่รัสเซียจะหยิบยกอาวุธนิวเคลียร์เข้ามาใช้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
อย่างไรก็ดี โฆษกรัฐบาลรัสเซียได้ออกมาปฏิเสธแล้ว โดยระบุว่าการกล่าวถึงอาวุธนิวเคลียร์ของผู้นำรัสเซียเป็นเพียงการตอบคำถามของผู้สัมภาษณ์เท่านั้น และเป็นการสมมติในเชิงหลักการว่า ในกรณีแบบใดบ้างที่รัสเซียจะตัดสินใจใช้อาวุธนิวเคลียร์
การออกมากล่าวถึงอาวุธนิวเคลียร์ของประธานาธิบดีรัสเซียซึ่งถี่ขึ้นเรื่อยๆ เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับที่ชาติพันธมิตรตะวันตกของยูเครนกำลังพยายามหาแนวทางช่วยเหลือยูเครนที่ขณะนี้กำลังเป็นฝ่ายเสียเปรียบในสมรภูมิรบจากการขาดแคลนกระสุนและกำลังพลที่เหนื่อยล้า
สิ่งหนึ่งที่สหรัฐฯ และชาติยุโรปส่วนมากตัดความเป็นไปได้ทิ้งแล้วคือ การส่งทหารเข้าไปช่วยสู้รบบนแผ่นดินยูเครน และยืนยันว่า ทางเลือกเดียวที่มีคือการส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ แม้ว่าจะยังไม่สามารถยกระดับให้เพียงพอต่อความต้องการของยูเครนได้ก็ตาม
มาครงชี้ ยุโรปควรเตรียมพร้อมรับมือกับสงคราม
อย่างไรก็ดี เมื่อวานนี้ในระหว่างการให้สัมภาษณ์ผ่านสถานีโทรทัศน์ TF1 เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสได้ออกมาระบุว่า ชาติพันธมิตรไม่ควรขีดเส้นแดงเกี่ยวกับแนวทางที่จะใช้ในการช่วยเหลือยูเครนเพื่อให้ยูเครนได้รับชัยชนะไปในสงครามและยุโรปควรเตรียมพร้อมรับมือกับสงครามหากต้องการเห็นสันติภาพในยูเครน
เส้นแดงดังกล่าวก็คือการส่งทหารเข้าไปช่วยสู้รบในยูเครน โดยในช่วงเดือนที่ผ่านมา ประธานาธิบดีฝรั่งเศสออกมายืนยันหลายครั้งว่า จะไม่ตัดความเป็นไปได้ในการส่งทหารเพื่อช่วยเหลือยูเครน แต่ข้อเสนอของประธานาธิบดีฝรั่งเศสนำไปสู่การคัดค้านอย่างท่วมท้นจากชาติพันธมิตรตะวันตก เนื่องจากเกรงว่าจะนำไปสู่การเผชิญหน้าโดยตรงกับรัสเซีย
อย่างไรก็ดี ประธานาธิบดีมาครงระบุเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวว่า นี่ไม่ใช่การยกระดับความตึงเครียดและฝรั่งเศสจะไม่เป็นผู้ริเริ่มเปิดปฏิบัติการ แต่การไม่จำกัดความเป็นไปได้ในการช่วยเหลือยูเครนนั้นเป็นสิ่งจำเป็น เพราะยุโรปไม่ควรปล่อยให้รัสเซียได้รับชัยชนะเหนือยูเครนไปได้
เปิดใจ “ทักษิณ” ให้สัมภาษณ์สื่อครั้งแรก ยันไม่บังคับลูกในสนามการเมือง!
สรุป 8 ทีมสุดท้าย ยูโรป้า ลีก ฤดูกาล 2023-2024
“บิ๊กเต่า” ไม่กังวลโดน “บิ๊กโจ๊ก” ฟ้องหมิ่น ลั่น เรื่องนี้อีกยาว