วันที่ 27 มี.ค. 2024 ถือเป็นวันสำคัญของประวัติศาสตร์ชาติไทย เมื่อสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในที่สุด หลังมีการเรียกร้องและต่อสู้มานานหลายสิบปี
ความเคลื่อนไหวที่จะยกระดับสิทธิมนุษยชนในบ้านเรานี้ ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นชาติแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เป็นแห่งที่ 3 ของทวีปเอเชีย และแห่งที่ 38 ของโลก ที่จะมีกฎหมายสมรสเท่าเทียม
ส่วนประเทศที่ผ่านร่างและบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวไปแล้วมีที่ไหนบ้างนั้น วันนี้ นิวมีเดีย พีพีทีวี รวบรวมมาให้แล้ว
1. เนเธอร์แลนด์
ประเทศแรกในโลกที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม โดยรัฐสภาผ่านร่างกฎหมายตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2000 หรือมากกว่า 20 ปีก่อน และมีผลบังคับใช้ในเดือน เม.ย. ปีถัดมา ถือเป็นผู้บุกเบิกการตั้งกฎหมายสมรสเท่าเทียมขึ้นมา
2. เบลเยียม
เพื่อนบ้านของเนเธอร์แลนด์ตามมาติด ๆ ในปี 2003 หลังมติในรัฐสภาได้รับคะแนนโหวตท่วมท้นเห็นชอบผ่านร่างกฎหมาย และบังคับใช้ในปีเดียวกันนั้น โดยให้สิทธิเทียบเท่าคู๋รักเพศตรงข้ามทุกประการ
3. สเปน
การผลักดันให้มีกฎหมายสมรสเท่าเทียมเริ่มขึ้นในปี 2004 จนปีถัดมารัฐสภาของได้ผ่านร่างกฎหมายในปลายเดือน มิ.ย. 2005 แลมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในต้นเดือน ก.ค.
4. แคนาดา
ความจริงบางพื้นที่และบางรัฐของแคนาดาผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมมาตั้งแต่ปี 2023 แล้วในลักษณะของการยื่นเรื่องต่อศาลให้ตัดสินอนุมัติการสมรสของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ และได้รับการรับรองเป็นกฎหมายระดับชาติที่มีผลบังคับใช้ในปี 2005
5. แอฟริกาใต้
รัฐสภาแอฟริกาใต้รับรองกฎหมายสมรสเท่าเทียมเมื่อปลายเดือน พ.ย. 2006 โดยความเคลื่อนไหวนี้เกิดจากการที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่า กฎหมายการแต่งงานก่อนหน้านี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทำให้กลายเป็นประเทศแรกและประเทศเดียวในทวีปแอฟริกาที่มีกฎหมายนี้
6. นอร์เวย์
สมรสเท่าเทียมกลายเป็นเรื่องถูกกฎหมายในนอร์เวย์เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2009 หลังจากถูกเสนอโดยฝ่ายนิติบัญญัติในเดือน มิ.ย. ปีก่อนหน้า
7. สวีเดน
ประเทศนี้เปิดกว้างให้คู่รักเพศเดียวกันอยู่กินกันได้อย่างเปิดเผยตั้งแต่ปี 1995 แล้ว แต่เพิ่งมีการเสนอร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในเดือน เม.ย. 2009 และบังคับใช้ในวันที่ 1 พ.ค. ปีเดียวกันนั้น
8. โปรตุเกส
รัฐสภาโปรตุเกสผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในเดือน ม.ค. 2010 จากนั้นผ่านการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญและสำนักประธานาธิบดีในช่วงกลางปี ก่อนจะมีผลบังคับใช้ในเดือน มิ.ย. ปีเดียวกันในที่สุด
9. ไอซ์แลนด์
รัฐสภาไอซ์แลนด์มีมติเป็นเอกฉันท์ เห็นชอบกฎหมายสมรสเท่าเทียมในเดือน มิ.ย. 2010 ภายใต้รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี โจฮันนา ซิกูร์ดาร์ด็อตติช ซึ่งเป็นนายกฯ หญิงรักหญิงคนแรกของประเทศ
10. อาร์เจนตินา
บังคับใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมเมื่อ ก.ค. 2010 เป้นปรระเทศแรกในอเมริกาใต้
11. เดนมาร์ก
เป็นประเทศแรกในโลกที่ยอมรับการอยู่กินกันของคนเพศเดียวกันตั้งแต่ปี 1989 ต่อมาในปี 2012 รัฐสภาผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม และได้รับการรับรองจากสมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกเรเธอที่ 2
12. อุรุกวัย
ประเทศที่สองในอเมริกาใต้ที่ผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ก่อนหน้านี้ยอมรับการอยู่กินกันของคู่รักเพศเดียวกัน
13. นิวซีแลนด์
รัฐสภานิวซีแลนด์ผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมและบังคับใช้ในปี 2013 เป็นประเทศแรกในโซนแปซิฟิก
14. ฝรั่งเศส
แม้จะถูกต่อต้านอย่างหนักจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมในประเทศ แต่ในปี 2013 ฝรั่งเศสก็สามารถผ่านร่างและบังคับใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมได้ในที่สุด
15. บราซิล
สภายุติธรรมแห่งชาติมีมติยอมรับให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถแต่งงานโดยจดทะเบียนสมรสได้
16. สหราชอาณาจักร
กฎหมายสมรสเท่าเทียมมีผลบังคับใช้ในอังกฤษ เวลส์ และสกอตแลนด์ ตั้งปต่ปี 2014 ส่วนไอร์แลนด์เหนือเพิ่งมีผลบังคับใช้ในปี 2020
17. ลักเซมเบิร์ก
สมรสเท่าเทียมผลทางกฎหมายตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2015 ภายใต้การสนับสนุนของ ซาเวียร์ เบ็ตเทล นายกรัฐมนตรีของประเทศที่เปิดตัวว่าเป็นเกย์
18. สหรัฐฯ
มีหลายรัฐที่อนุมัติการสมรสเท่าเทียมมาตั้งแต่ปี 2003 แต่เพิ่งมีผลบังคับใช้ทั่วประเทศในเดือน มิ.ย. 2015 หลังศาลสูงสุดของประเทศตัดสินว่า ตามรัฐธรรมนูญ คู่รักเพศเดียวกันควรได้รับสิทธิในการแต่งงาน และทุกรัฐต้องยอมรับการแต่งงานทั้งหมด
19. ไอร์แลนด์
มีการลงประชามติเห็นชอบออกกฎหมายสมรสเท่าเทียมในปลายเดือน พ.ค. 2015 และมีผลบังคับใช้ในอีก 2 เดือนต่อมา เป็นประเทศแรกที่ได้กฎหมายนี้จากการลงคะแนนเสียงของประชาชนโดยตรง
20. โคลอมเบีย
ศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินว่า การแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกันเป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญ และได้รับการรับรองเป็นกฎหมายในเดือน เม.ย. 2016
21. ฟินแลนด์
รัฐสภาฟินแลนด์ผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมตั้งแต่ พ.ย. 2014 ปีต่อมาประธานาธิบดี เซาลี นีนิสโต ลงนามรับร่าง แต่มีผลบังคับใช้จริง มี.ค. 2017
22. มอลตา
รัฐสภามีมติเกือบเป็นเอกฉันท์ผ่านร่างและบังคับใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมเมื่อปี 2017
23. เยอรมนี
รัฐสภาโหวตผ่านร่างกฎหมายในเดือน มิ.ย. 2017 และได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากสังคม มีผลบังคับใช้ ต.ค. ปีเดียวกันเป็นต้นมา
24. ออสเตรเลีย
มีการสำรวจทางไปรษณีย์พบว่า พลเมืองออสเตรเลียส่วนใหญ่สนับสนุนกฎหมมายนี้ รัฐสภาจึงลงมติให้การแต่งงานของคนเพศเดียวกันถูกกฎหมาย มีผลบังคับใช้ 9 ธ.ค. 2017
25. ไต้หวัน
ปี 2017 ศาลรัฐธรรมนูญของไต้หวันระบุว่า กฎหมายการแต่งงานที่ยอมรับแต่ชายและหญิงเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ สมาชิกสภานิติบัญญัติไต้หวันจึงอนุมัติร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในปี 2019 ถือเป็นดินแดนแห่งแรกในเอเชียที่มีกฎหมายนี้
26. ออสเตรีย
ศาลสูงของออสเตรียตัดสินในปี 2017 ว่า การห้ามคู่รักแต่งงานกันด้วยเหตุผลเรื่องรสนิยมทางเพศถือเป็นการเลือกปฏิบัติ กฎหมายสมรสมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2019
27. เอกวาดอร์
มีคู่รักเกย์ฟ้องร้องหน่วยงานภาครัฐที่ห้ามไม่ให้พวกเขาจดทะเบียน นำไปสู่การตัดสินของศาลสูงสุดที่เห็นชอบให้การสมรสเท่าเทียมเป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมาย มีผลตั้งแต่ ก.ค. 2019
28. คอสตาริกา
หลังจากการผลักดันของศาลสิทธิมนุษยชนในปี 2018 ศาลฎีกาของคอสตาริกาก็ได้ตัดสินว่า การห้ามการแต่งงานของคนเพศเดียวกันนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ และวันที่ 26 พ.ค. 2020 การแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกันได้กลายเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายในคอสตาริกา เป็นประเทศแรกในอเมริกากลาง
29. สวิตเซอร์แลนด์
เปิดให้ประชาชนลงมติในปี 2021 ว่าเห็นชอบกฎหมายสมรสเท่าเทียมและการรับเลี้ยงบุตรหรือไม่ ประชาชน 64.1% เห็นชอบ ทำให้มีการออกกฎหมายนี้และมีผลบังคับใช้ 1 ก.ค. 2022
30. ชิลี
ประธานาธิบดีชิลีลงนามในร่างกฎหมายรับรองการแต่งงานของคนเพศเดียวกันในปี 2021 มีผลบังคับใช้ในเดือน มี.ค. 2022
31. สโลวีเนีย
9 ก.ค. 2022 ศาลรัฐธรรมนูญสโลวีเนียมีมติ 6 ต่อ 3 ว่า การห้ามการแต่งงานของคนเพศเดียวกันและการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ รัฐสภาของประเทศผ่านการแก้ไขประมวลกฎหมายสมรสเท่าเทียมในเดือน ต.ค.
32. เม็กซิโก
การแต่งงานเพศเดียวกันในเม็กซิโกเริ่มถูกกฎหมายที่แรกในกรุงเม็กซิโกซิตี ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศ ตั้งแต่ปี 2009 ต่อมาศาลฎีกาตัดสินว่า การห้ามการแต่งงานของคนเพศเดียวกันนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญในปี 2015 จากนั้นแต่ละรัฐของเม็กซิโกก็ทยอยรับรองสมรสเท่าเทียม จน ต.ค. 2022 ทุกรัฐของเม็กซิโกมีการบังคับใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียม
33. คิวบา
กฎหมายสมรสเท่าเทียมได้รับการรับรองหลังจากการลงประชามติระดับชาติในคิวบาเมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2022 ชาวคิวบาส่วนใหญ่โหวตให้คู่รักเพศเดียวกันแต่งงานและรับเลี้ยงบุตรได้
34. อันดอร์รา
รัฐสภาอันดอร์ราลงมติเมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2022 ให้ขยายขอบเขตกฎหมายการแต่งงานของพลเมืองให้ครอบคลุมคู่รักเพศเดียวกัน มีผลบังคับใช้ต้นปี 2023
35. เอสโตเนีย
รัฐสภาเอสโตเนียอนุมัติการแต่งงานของคนเพศเดียวกันเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2023 เป็นชาติอดีตสหภาพโซเวียตประเทศแรกและประเทศบอลติกประเทศแรกที่มีกฎหมายนี้ มีผลบังคับใช้ 1 ม.ค. 2024
36. กรีซ
เมื่อเดือน ก.พ. 2024 รัฐสภากรีซได้อนุมัติกฎหมายสมรสเท่าเทียม และอนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันรับบุตรบุญธรรมได้ เริ่มมีผลบังคับใช้ 16 ก.พ. 2024
37. เนปาล
กรณีของประเทศ “เนปาล” ที่ก่อนหน้านี้มีรายงานว่า มีคู่รักเพศเดียวกันกันคู่แรกจดทะเบียนสมรสกันได้แล้วนั้น เกิดจากศาลสูงสุดเนปาลออก “คำสั่งคุ้มครองชั่วคราว” ให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนสมรสได้ แต่ยังไม่ได้มีการรับรองกฎหมายสมรสเท่าเทียมอย่างเป็นทางการ
ล่าสุด ผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมแล้ว มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 เม.ย. 2024 เป็นต้นมา
38. ไทย
รัฐสภาได้ลงมติ เห็นด้วย 400 เสียง ไม่เห็นด้วย 10 เสียง งดออกเสียง 2 ไม่ลงคะแนน 3 เสียง ทำให้กฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านร่าง และเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา (สว.)
ล่าสุดวันที่ 18 มิ.ย. 2024 ที่ประชุมสว. ลงมติผ่านผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมแล้ว ด้วยคะแนนเห็นด้วย 130 เสียง ไม่เห็นด้วย 4 เสียง งดออกเสียง 18 เสียง บังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาใน 120 วัน
การจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมจะมีขึ้นวันแรกในวันที่ 22 ม.ค. 2025 ซึ่งตรงกับวันแรกที่มีผลบังคับใช้
นี่ทำให้ประเทศไทยเป็นชาติแรกของภูมิภาคอาเซียนที่มีร่างกฎหมายนี้ รวมถึงเป็นแห่งที่ 3 ของเอเชียต่อจากไต้หวันและเนปาล
39. อารูบา
อารูบายังรับรองการจดทะเบียนคู่ชีวิตที่ให้สิทธิและผลประโยชน์เกือบทั้งหมดของการแต่งงานตั้งแต่เดือน ก.ย. 2021
ต่อมา ในเดือน ธ.ค. 2022 ศาลยุติธรรมร่วมของอารูบา คูราเซา ซินต์มาร์เทิน และโบแนร์ ซินต์เอิสตาซีอุส และซาบา ตัดสินในชั้นอุทธรณ์ว่า การห้ามการแต่งงานของเพศเดียวกันของอารูบาและคูราเซาขัดต่อรัฐธรรมนูญ คำสั่งของศาลกำหนดให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 7 มีนาคม 2023 หากไม่อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลของทั้งคูราเซาและอารูบาได้ยื่นอุทธรณ์ในภายหลัง จนเมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2024 ศาลฎีกาได้ยืนยันคำตัดสินของศาลชั้นต้น ทำให้การแต่งงานของเพศเดียวกันถูกกฎหมายในอารูบาและคูราเซาโดยมีผลทันที
40. คูราเซา
ในเดือน ก.ย. 2021 ศาลชั้นต้นคูเราเซาตัดสินว่า การห้ามคู่รักเพศเดียวกันแต่งงานกันถือเป็นการละเมิดบทบัญญัติความเท่าเทียมกันของรัฐธรรมนูญ แต่ปล่อยให้รัฐสภาเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะทำให้การแต่งงานของเพศเดียวกันถูกกฎหมายหรือไม่
ในเดือน ธ.ค. 2022 ศาลยุติธรรมร่วมของอารูบา คูราเซา ซินต์มาร์เทิน และโบแนร์ ซินต์เอิสตาซีอุส และซาบา ตัดสินในชั้นอุทธรณ์ว่า การห้ามการแต่งงานของเพศเดียวกันของอารูบาและคูราเซาขัดต่อรัฐธรรมนูญ คำสั่งของศาลกำหนดให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 7 มีนาคม 2023 หากไม่อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลของทั้งคูราเซาและอารูบาได้ยื่นอุทธรณ์ในภายหลัง จนเมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2024 ศาลฎีกาได้ยืนยันคำตัดสินของศาลชั้นต้น ทำให้การแต่งงานของเพศเดียวกันถูกกฎหมายในอารูบาและคูราเซาโดยมีผลทันที
41. ลิกเตนสไตน์
ลีกเตนสไตน์รับรองการจดทะเบียนคู่ชีวิตตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2011 ถือเป็นประเทศที่ 2 ในโลกที่ผ่านกฎหมายคู่ชีวิตโดยการลงประชามติ ต่อจากสวิตเซอร์แลนด์ในปี 2005
แต่ในส่วนกฎหมายสมรสเท่าเทียมนั้น ในเดือน พ.ย. 2022 รัฐสภาลิกเตนสไตน์ผ่านญัตติเรียกร้องให้รัฐบาลเสนอร่างกฎหมายที่ทำให้การแต่งงานของเพศเดียวกันถูกกฎหมาย โดยได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากทุกฝ่ายการเมือง
ร่างกฎหมายที่ทำให้การแต่งงานของเพศเดียวกันถูกกฎหมายได้รับการเสนอในเดือน ก.พ. 2024 และผ่านการเห็นชอบขั้นสุดท้ายในรัฐสภาเมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2024 ด้วยคะแนนเสียง 24 ต่อ 1 เสียง
ร่างกฎหมายนี้ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากเจ้าชายอาลัวส์เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2024 และมีกำหนดจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2025
เรียบเรียงจาก Human Rights Campaign / Pew Research Center / US News
Motor Show 2024 ค่ายน้องใหม่ Zeekr โชว์ Zeekr X-Zeekr 009 รถไฟฟ้า 100% รุ่นล่าสุด
ส่องความงาม Motor Show 2024 ที่แต่ละค่ายขนมาประชันกันแบบจัดเต็ม!