เรื่องของ “การเกณฑ์ทหาร” เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างมากในสังคมไทยปัจจุบัน ด้วยข่าวในด้านลบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานทหารเกณฑ์ราวกับทาส การฝึกที่บางครั้งพิสดาร หรือการกดขี่ที่ทำให้ทหารเกณฑ์เกิดความเครียดและปัญหาสุขภาพจิตจนต่อเหตุความรุนแรง
นั่นทำให้เสียงเรียกร้องการปฏิรูปกองทัพเริ่มหนาหูขึ้นเรื่อย ๆ และมีการตั้งคำถามว่า ในยุคปัจจุบันนี้ การเกณฑ์ทหารยังจำเป็นหรือไม่ และทำไมเราถึงไม่ปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบสมัครใจกันเสียที
อย่างไรก็ดี บนโลกนี้ไม่ได้มีประเทศไทยเพียงประเทศเดียวที่มีระบบการเกณฑ์ทหาร แต่จากการตรวจสอบ 175 ประเทศ/ดินแดน พบว่ามีถึง 76 แห่ง (43.4%) ที่ยังคงมีระบบการเกณฑ์ทหารอยู่ โดยมีรูปแบบและหลักเกณฑ์ที่แตกต่างกันออกไป
สำหรับประเทศไทย ชายไทยอายุ 21 ปีต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารด้วยวิธีจับสลาก โดยรับราชการนาน 24 เดือน แต่มีข้อยกเว้นและข้อผ่อนผันสำหรับผู้ที่เรียนวิชารักษาดินแดน (ร.ด.) หรือผู้ที่สำเร็จการศึกษาในระดับต่าง ๆ
ส่วนในประเทศอื่น ๆ นั้น จะขอจำแนกตามความน่าสนใจ ดังนี้
เกณฑ์หมดทั้งชายและหญิง
เบนิน – มีการรับราชการภาคบังคับสำหรับชายและหญิงอายุ 18-35 ปี
เมียนมา – พลเรือนชายอายุ 18-35 ปี และพลเรือนหญิงอายุ 18-27 ปี ต้องเกณฑ์ทหาร 24 เดือน ผู้ที่ประกอบวิชาชีพ เช่น แพทย์ วิศวกร และช่างเครื่อง ชายอายุ 18-45 ปี และผู้หญิงอายุ 18-35 ปี ต้องเกณฑ์ทหารนานถึง 36 เดือน และทั้งหมดอาจถูกขยายเป็น 60 เดือนตามกฎหมายใหม่ที่บังคับใช้ในปี 2024 โดยรัฐบาลทหาร
กาบูเวร์ดี – ชายและหญิงอายุ 18-35 ปี ต้องรับราชการทหารภาคบังคับ 24 เดือน
ชาด – ชายอายุ 20 ปีขึ้นไปต้องเกณฑ์ทหาร 18-36 เดือน ผู้หญิงอายุ 21 ปีขึ้นไปต้องเกณฑ์ทหารเป็นเวลา 12 เดือน ทหารที่ปลดประจำการอยู่ในกองหนุนจนถึงอายุ 50 ปี
จีน – ผู้ชายอายุ 18-22 ปีต้องรับราชการทหารภาคบังคับแบบเลือกสรร 2 ปี ผู้หญิงอายุ 18-19 ปีที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและมีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดสำหรับงานทหารเฉพาะด้าน จะต้องถูกเกณฑ์ทหาร
กินี-บิสเซา – ชายและหญิงอายุ 18-25 ปีต้องรับราชการทหารภาคบังคับ
อิสราเอล – ทั้งชายและหญิงอายุ 18 ปีขึ้นไปต้องรับราชการทหารภาคบังคับ ผู้ชายนาน 32 เดือน ผู้หญิง 24 เดือน หลังจากนั้นต้องประจำการในกองหนุน ผู้ชายถึงอายุ 41-51 ปี ส่วนผู้หญิงถึงอายุ 24 ปี
เกาหลีเหนือ – ชายและหญิงที่มีอายุ 17 ปีขึ้นไปต้องรับราชการทหารภาคบังคับ 5-13 ปี ขึ้นอยู่กับหน่วยที่ประจำการ แต่โดยเฉลี่ยผู้ชายจะรับใช้ชาติ 8 ปี ส่วนผู้หญิงรับราชการทหาร 5 ปี
มาลี – ผู้ชายและผู้หญิงอายุ 18 ปีบริบูรณ์ต้องรับราชการทหารภาคบังคับ 24 เดือน
โมร็อกโก – ผู้ชายและผู้หญิงอายุ 19-25 ปีต้องรับราชการทหารภาคบังคับ 12 เดือน
โมซัมบิก – ผู้ชายและผู้หญิงอายุ 18-35 ปีต้องรับราชการทหารภาคบังคับ 24 เดือน
นอร์เวย์ – ชายและหญิงอายุ 19-35 ปีต้องรับราชการทหารภาคบังคับ นาน 12-19 เดือน โดยทหารเกณฑ์รับราชการครั้งแรก 12 เดือนระหว่าง 19-8 ปี จากนั้นต้องเข้ารับการฝึกทบทวนอีก 4-5 ครั้ง จนถึงอายุ 35, 44, 55 หรือ 60 ปี ขึ้นอยู่กับตำแหน่งและหน้าที่
ซูดาน – ผู้ชายและผู้หญิงอายุ 18-33 ปีต้องรับราชการทหารภาคบังคับ 12-24 เดือน
สวีเดน – ผู้ชายและผู้หญิงอายุ 18-47 ปีต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหาร 6-15 เดือน แต่เลือกแค่บางคนเท่านั้น
เวียดนาม – ชายและหญิงอายุ 18-27 ปีต้องรับราชการทหารภาคบังคับ แต่ในทางปฏิบัติมีเพียงผู้ชายเท่านั้นที่ถูกเกณฑ์ทหาร ระยะเวลานาน 24 เดือนสำหรับกองทัพบกและหน่วยป้องกันภัยทางอากาศ หรือ 36 เดือนสำหรับกองทัพเรือและกองทัพอากาศ
มีทางเลือกมากกว่าหนึ่ง
เบลารุส – พลเรือนอายุ 18-27 ปี ต้องรับราชการทหารภาคบังคับ 12-18 เดือน ขึ้นอยู่กับวุฒิการศึกษา หรือรับราชการทางเลือกในกระทรวงต่าง ๆ 24-36 เดือน ขึ้นอยู่กับวุฒิการศึกษา
โบลิเวีย – พลเรือนชายอายุ 18-22 ปีต้องรับราชการในกองทัพ 12 เดือน หรือรับราชการในหน่วยค้นหาและกู้ภัย 24 เดือน
เอสโตเนีย – ผู้ชายอายุ 18-27 ปี ต้องรับราชการทหารหรือราชการภาคบังคับ 8-11 เดือน ขึ้นอยู่กับระดับการศึกษา
เกาหลีใต้ – ผู้ชายอายุ 18-28 ปีทุกคนต้องเกณฑ์ทหารภาคบังคับสำหรับผู้ชายทุกคน ระยะเวลาแตกต่างกันออกไปตามหน่วยที่ประจำการ คือ 18 เดือนสำหรับกองทัพบก นาวิกโยธิน ตำรวจกองหนุน, 20 เดือนสำหรับกองทัพเรือ นักดับเพลิง, 21 เดือนกำลังกองทัพอากาศ บริการสังคม และ 36 เดือนสำหรับหน่วยทางเลือก
ปารากวัย – ชายอายุ 18 ปีต้องรับราชการทหารภาคบังคับ 12 เดือนสำหรับกองทัพบก และ 24 เดือนสำหรับกองทัพเรือ
กาตาร์ – ผู้ชายอายุ 18-35 ปีต้องรับราชการทหารภาคบังคับ 4-12 เดือน ขึ้นอยู่กับระกับการศึกษาและอาชีพ
ไต้หวัน – ผู้ชายอายุ 18-36 ปีต้องผ่านการเกณฑ์ทหารเป็นเวลา 12 เดือน การรับราชการในหน่วยงานพลเรือนสามารถทดแทนการรับราชการทหารได้ในบางกรณี
เติร์กเมนิสถาน – ผู้ชายอายุ 18-27 ปีต้องรับราชการทหารภาคบังคับ 24 เดือน หรือ 30 เดือนสำหรับกองทัพเรือ
ใช้เงินแก้ปัญหาได้
มองโกเลีย – ผู้ชายอายุ 18-25 ปีต้องรับราชการทหารภาคบังคับ 12 เดือนสำหรับกองทัพบก กองทัพอากาศ หรือตำรวจ หรือ 24 เดือนสำหรับหน่วยงานพลเรือน หรือจ่ายเงินให้รัฐบาลมองโกเลียตามอัตราที่กำหนด
อุซเบกิสถาน – ผู้ชายอายุ 18-27 ต้องรับราชการทหารภาคบังคับ 12 เดือน โดยสามารถจ่ายเงินเพื่อรับราชการสั้นลง 1 เดือน และต้องอยู่ในกองหนุนจนถึงอายุ 27 ปี
เงื่อนไขเกณฑ์ทหารแบบนี้ก็มีด้วย
ไนเจอร์ – ผู้ชายและผู้หญิงอายุ 18 ปีขึ้นไปที่ยังไม่แต่งงาน ต้องเข้ารับราชการทหารภาคบังคับ 24 เดือน
ตูนิเซีย – ผู้ชายอายุ 20-23 ปีต้องรับราชการภาคบังคับ 12 เดือน ยกเว้นผู้ชายที่เป็นแหล่งรายได้เดียวของครอบครัว
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ – ผู้ชายอายุ 18-30 ปีต้องรับราชการทหารภาคบังคับ 36 เดือนสำหรับผู้ที่ไม่ได้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยม และ 11 เดือนสำหรับผู้สำเร็จการศึกษาสูงกว่าระดับมัธยม
มีกฎหมายแต่ไม่ได้เกณฑ์จริง
เบลีซ – กฎหมายอนุญาตให้มีการเกณฑ์ทหารได้เฉพาะในกรณีที่อาสาสมัครมีไม่เพียงพอ แต่ไม่เคยมีการเกณฑ์ทหารมาก่อน
ชิลี – มีการรับราชการทหารภาคบังคับ แต่ผู้รับราชการโดยสมัครใจมักเพียงพอ ทำให้ไม่ต้องเกณฑ์ทหาร
โกตดิวัวร์ – ชายและหญิงอายุ 18-26 ปีรับราชการทหารภาคบังคับ แต่มีรายงานว่าไม่มีการบังคับใช้การเกณฑ์ทหาร
อิเควทอเรียลกินี – อายุ 18 ต้องรับราชการทหารภาคบังคับ 24 เดือน แต่ไม่ค่อยมีการบังคับใช้จริง
กัวเตมาลา – เกณฑ์ทหารผู้ชายอายุ 17-21 ปีเป็นเวลา 12-24 เดือน แต่ไม่ค่อยมีการบังคับใช้
อินโดนีเซีย – มีกฎหมายเกณฑ์ทหารพลเรือนชายอายุ 18 ปีขึ้นไป แต่ไม่ได้ใช้จริง
มอริเตเนีย – มีกฎหมายเกณฑ์ทหาร แต่ไม่เคยใช้จริง
โปแลนด์ – มีกฎหมายเกณฑ์ทหาร แต่ไม่ได้ใช้มาตั้งแต่ปี 2009
เซาตูเมและปรินซิปี – มีกฎหมายเกณฑ์ทหาร แต่ไม่ได้ใช้จริง
โซมาเลีย – มีกฎหมายเกณฑ์ทหาร แต่ไม่ใช้จริง
ติมอร์-เลสเต – มีกฎหมายเกณฑ์ทหารชายและหญิงอายุ 18-30 ปีเป็นเวลา 18 เดือน แต่การบังคับใช้ไม่ชัดเจน
ส่วนประเทศที่มีระบบเกณฑ์ทหารที่เหลือคือ แอลจีเรีย / แองโกลา / อาร์เมเนีย ออสเตรีย / อาร์เซอร์ไบจาน / บราซิล / กัมพูชา / โคลอมเบีย / สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก / คิวบา / ไซปรัส / เดนมาร์ก / อียิปต์ / เอลซัลวาดอร์ / เอริเทรีย / ฟินแลนด์ / จอร์เจีย / กรีซ / กินี / อิหร่าน / คาซัคสถาน / คอซอวอ / คูเวต / คีร์กีซสถาน / ลาว / ลิทัวเนีย / เม็กซิโก / มอลโดวา / รัสเซีย / สิงคโปร์ / ซูดานใต้ / สวิตเซอร์แลนด์ / ซีเรีย / ทาจิกิสถาน / ตุรกี / ยูเครน
ขณะเดียวกัน ประเทศที่ไม่มีการเกณฑ์ทหารนั้น จาก 175 แห่งที่สำรวจมี 99 แห่ง (56.6%) ซึ่งบางแห่งก็เปิดช่องว่างหรือเงื่อนไขที่ทำให้จะสามารถเกณฑ์ทหารในกรณีจำเป็นได้ เช่น
อาร์เจนตินา – มีการเกณฑ์ทหารในสถานการณ์ฉุกเฉิน
ภูฏาน – ไม่มีเกณฑ์ทหาร แต่พลเรือนชายอายุ 20-25 ปีต้องเข้ารับการฝึกของกองกำลังอาสา 3 ปี
สาธารณรัฐแอฟริกากลาง – รัฐธรรมนูญกำหนดให้สามารถเกณฑ์ทหารในกรณีที่เกิดภัยคุกคามต่อประเทศได้
เอธิโอเปีย – กองทัพสามารถเรียกตัวได้ในกรณีฉุกเฉิน
จอร์แดน – ไม่มีเกณฑ์ทหาร แต่ชายและหญิงที่มีอายุ 18-25 ปี ซึ่งว่างงานมาอย่างน้อย 6 เดือน ต้องรับราชการทหารภาคบังคับ 4 เดือน และผู้ชายอายุ 25-29 ปีที่ว่างงาน ต้องรับราชการทหารภาคบังคับ 12 เดือน
โปรตุเกส – ยกเลิกเกณฑ์ทหารตั้งแต่ปี 2004 แต่อาจมีการเกณฑ์ทหารหากคนที่รับราชการโดยสมัครใจไม่เพียงพอ
สเปน – ยกเลิกเกณฑ์ทหารตั้งแต่ปี 2001 แต่อนุญาตให้เกณฑ์ชายวัย 19-25 ปีได้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน
แทนซาเนีย – ไม่มีการเกณฑ์ทหาร แต่มีการอนุญาตให้สามารถเกณฑ์ทหารนาน 24 เมืองได้ในบางกรณี ซึ่งไม่ชัดเจน
อุรุกวัย – ทางการสามารถเกณฑ์ทหารได้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน
สหรัฐอเมริกา – เป็นระบบสมัครใจมาตั้งแต่ปี 1973 แต่มีกฎหมายให้เกณฑ์ทหารได้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน
ประเทศที่ไม่มีเกณฑ์ทหารที่เหลือ ได้แก่
อัฟกานิสถาน / อัลแบเนีย / แอนติกัวและบาร์บูดา / อาร์เจนตินา / ออสเตรเลีย / บาฮามาส / บาห์เรน / บังกลาเทศ / บาร์เบโดส / เบลเยียม / เบอร์มิวดา / บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา / บอตสวานา / บรูไน / บัลแกเรีย / บูร์กินาฟาโซ / บุรุนดี / แคเมอรูน / แคนาดา / โคโมรอส / สาธารณรัฐคองโก / โครเอเชีย / เช็กเกีย / จิบูตี / สาธารณรัฐโดมินิกัน / เอกวาดอร์ / เอสวาตินี / ฟิจิ / ฝรั่งเศส / กาบอน / แกมเบีย / เยอรมนี / กานา / กายอานา / วาติกัน / ฮอนดูรัส / ฮังการี / อินเดีย / อิรัก / ไอร์แลนด์ / อิตาลี / จาเมกา / ญี่ปุ่น / เคนยา / ลัตเวีย / เลบานอน / เลโซโท / ลิเบอเรีย / ลักเซมเบิร์ก / มาดากัสการ์ / มาลาวี / มาเลเซีย / มัลดีฟส์ / มอลตา / มอนเตเนโกร / นามิเบีย / เนปาล / เนเธอร์แลนด์ / นิวซีแลนด์ / นิการากัว / ไนจีเรีย / มาซิโดเนียเหนือ / โอมาน / ปากีสถาน / ปาปัวนิวกินี / เปรู / ฟิลิปปินส์ / โรมาเนีย / รวันดา / เซนต์คิตส์และเนวิส / ซานมาริโน / ซาอุดิอาระเบีย / เซเนกัล / เซอร์เบีย / เซเชลส์ / เซียร์ราลีโอน / สโลวาเกีย / สโลวีเนีย / แอฟริกาใต้ / ศรีลังกา / ซูรินามี / โทโก / ตองกา / ตรินิแดดและโทเบโก / ยูกันดา / สหราชอาณาจักร / เวเนซุเอลา / เยเมน / แซมเบีย / ซิมบับเว
เรียบเรียงจาก CIA / World Population Review
ระทึก! เรือไฟลุกกลางทะเลเกาะเต่า นักท่องเที่ยวลอยคอกลางทะเล
ผู้เชี่ยวชาญเตือน ไต้หวันอาจเผชิญแผ่นดินไหวระดับ 8 ในอนาคต
"เศรษฐา" ไม่ติดใจ "แกงไตปลา" ติดอาหารยอดแย่อันดับ 1 ของโลก ลั่น! ส่วนตัวชอบมาก