โดรนใต้น้ำ “โกสต์ชาร์ก-แมนตาเรย์” อนาคตของสงครามทางทะเลในอนาคต

โดย PPTV Online

เผยแพร่

ออสเตรเลีย-สหรัฐฯ เปิดตัว “โดรนใต้น้ำ” ที่อาจเป็นยุทโธปกรณ์สำหรับสงครามทางทะเลในอนาคต ชื่อว่าโปรเจกต์ “โกสต์ชาร์ก” และ “แมนตาเรย์”

การทำสงครามยุคใหม่ ยุทโธปกรณ์ประเภทหนึ่งที่เราพบเห็นมากขึ้นจนกลายเป็นเรื่องปกติ คือ “โดรน” หรืออากาศยานไร้คนขับ (UAV) มีหลากรูปร่างลักษณะ แต่วัตถุประสงค์เหมือนกัน คือใช้สอดแนม หรือติดอาวุธไว้แล้วส่งเข้าไปโจมตีข้าศึกคล้ายเครื่องบินรบขนาดย่อม หรือใช้เป็นเครื่องบินพลีชีพพุ่งชนศัตรูโดยตรง โดยมีข้อดีสำคัญที่สุดคือ ไม่ต้องนำชีวิตของทหารไปเสี่ยง

การใช้โดรนในสงครามทางอากาศกลายเป็นเรื่องปกติ เช่น สหรัฐฯ ใช้โดรนเหล่านี้อย่างกว้างขวางในช่วงความขัดแย้งในอิรักและอัฟกานิสถานตั้งแต่ทศวรรษ 1990

คอนเทนต์แนะนำ
จีนเปิดทางตำรวจตรวจสอบมือถือทุกคนในประเทศได้ รวมถึงนักท่องเที่ยว
“ไบเดน” เผยหยุดยิงจะเกิดขึ้นทันที หากฮามาสปล่อยตัวประกัน!

โดรนใต้น้ำโกสต์ชาร์ก อนาคตของการป้องกันทางทะเล Rodney Braithwaite/Australian Government Defence
โดรนใต้น้ำ Ghost Shark ของออสเตรเลีย

ขณะที่โดรนรุ่นใหม่ราคาถูกได้กลายมาเป็นยุทโธปกรณ์ทางทหารสำคัญสำหรับทั้งสองฝ่ายในสงครามรัสเซีย-ยูเครน นอกจากนี้ ยูเครนยังได้สร้างโดรนพื้นผิวน้ำซึ่งสร้างความสูญเสียอย่างหนักให้กับเรือรบในกองเรือทะเลดำของรัสเซีย

แต่นอกจากโดรนที่เป็นอากาศยานและโดรนผิวน้ำแล้ว ปัจจุบัน “โดรนใต้น้ำ” หรือ “ยานใต้น้ำไร้คนขับ” (UUV) เองก็เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้น ในฐานะอนาคตของการป้องกันทางทะเลและสงครามทางน้ำ

“โกสต์ชาร์ก” (Ghost Shark) ของออสเตรเลีย และ “แมนตาเรย์” (Manta Ray) คือชื่อของโดรนใต้น้ำที่กำลังถูกจับตามองมากที่สุดในขณะนี้ โดยเพิ่งเปิดตัวไปเมื่อไม่นานมานี้เอง

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า โดรนใต้น้ำเหล่านี้อาจเป็นตัวแทนของอนาคตของสงครามใต้ทะเล โดยแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการแสดงแสนยานุภาพพร้อมกับลดอันตรายต่อชีวิตมนุษย์ให้เหลือน้อยที่สุด

ทั้งนี้ โดรนทางอากาศและโดรนพื้นผิวน้ำสามารถควบคุมได้โดยใช้ดาวเทียม แสง และคลื่นวิทยุ แต่ถ้าเป็นโดรนใต้น้ำ การควบคุมจะไม่ได้ทำงานในลักษณะเดียวกัน

การศึกษาในปี 2023 ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Sensors ของสวิส ชี้ให้เห็นว่า การสื่อสารใต้น้ำต้องใช้พลังงานมากขึ้น และอาจเกิดการสูญเสียข้อมูลที่สำคัญเนื่องจากอุณหภูมิน้ำ ความเค็ม และความลึก

ผู้ผลิต UUV ทางทหารรุ่นใหม่ไม่ได้บอกว่าพวกเขาจะเอาชนะปัญหาการสื่อสารได้อย่างไร แต่เมื่อออสเตรเลียเปิดตัวโกสต์ชาร์กในเดือนที่แล้ว พวกเขาเรียกโดรนต้นแบบเหล่านี้ว่า “ยานอัตโนมัติใต้ทะเลที่ทันสมัยที่สุดในโลก”

กระทรวงกลาโหมออสเตรเลียระบุว่า “โกสต์ชาร์กจะทำให้กองทัพเรือมีขีดความสามารถในการทำสงครามใต้ทะเลระยะไกลแบบล่องหนและควบคุมได้ ซึ่งสามารถปฏิบัติการด้านข่าวกรอง การเฝ้าระวัง การลาดตระเวน และการโจมตีอย่างต่อเนื่องได้” และเสริมว่า คาดว่าจะมีการส่งมอบโดรนลำแรกภายในสิ้นปี 2025

เจ้าหน้าที่ออสเตรเลียและ Anduril Australia บริษัทผู้ผลิต กล่าวว่า พวกเขาไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลจำเพาะใด ๆ ของโกสต์ชาร์กได้ เนื่องจากยังคงเป็นความลับอยู่ แต่บอกว่า โน้มน้าวถึงความเร็วที่เรือดำน้ำเปลี่ยนจากแนวคิดไปสู่การทดสอบ โดยโครงการนี้เพิ่งเริ่มต้นเมื่อสองปีที่แล้ว

“การเร็วกว่ากำหนดตามงบประมาณ จึงไม่เคยได้ยินมาก่อน” Shane Arnott รองประธานอาวุโสฝ่ายวิศวกรรมของ Anduril กล่าวกับผู้สื่อข่าว

“การส่งมอบต้นแบบ Ghost Shark ลำแรกก่อนกำหนดจะเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่สำหรับการพัฒนาขีดความสามารถอย่างรวดเร็วตามความต้องการ” ทันย่า มอนโร หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ด้านกลาโหมของออสเตรเลียกล่าวในแถลงการณ์

เอ็มมา ซอลส์บรี จากสภาคลังสมองแห่งอังกฤษด้านยุทธศาสตร์ภูมิศาสตร์ กล่าวว่า โกสต์ชาร์กดูเหมือนเหมือน UUV ขนาดใหญ่พิเศษออร์กา (Orca) ที่ได้รับการพัฒนาในสหรัฐฯ ค่อนข้างมาก

“ฉันคิดว่าพวกมันทั้งหมดมีจุดประสงค์เพื่อชุดภารกิจที่คล้ายกัน ได้แก่ ความสามารถในการข่าวกรอง การเฝ้าระวัง การลาดตระเวน และการโจมตี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขอบเขตการต่อต้านเรือดำน้ำ” ซอลส์บรีกล่าว

Anduril Australia กล่าวว่า โกสต์ชาร์กที่พัฒนาภายในประเทศออสเตรเลียทั้งหมดจะสามารถส่งออกได้หลังจากที่เข้าประจำการกองเรือออสเตรเลียแล้ว

ในขณะเดียวกัน ออร์กาไม่ใช่ UUV เพียงตัวเดียวที่ได้รับการพัฒนาในสหรัฐฯ เพราะยังมี แมนตาเรย์ ของ Northrop Grumman ซึ่งเป็นต้นแบบที่ได้รับการทดสอบนอกแคลิฟอร์เนียตอนใต้ในเดือน ก.พ.-มี.ค. ที่ผ่านมา

โดรนใต้น้ำแมนตาเรย์ อนาคตของการป้องกันทางทะเล Northrop Grumman/Defense Advanced Research Projects Agency
โดรนใต้น้ำ Manta Ray ของสหรัฐฯ

สำนักงานผลิตภัณฑ์การวิจัยขั้นสูงด้านกลาโหม (DARPA) ซึ่งเป็นหน่วยงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) ที่รับผิดชอบการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ กล่าวว่า จุดแข็งของแมนตาเรย์อยู่ที่โมดูลาร์ คือความสามารถในการเปลี่ยนอุปกรณ์ออกขึ้นอยู่กับภารกิจ

มันยังสามารถแยกชิ้นส่วนและบรรจุลงในตู้คอนเทนเนอร์มาตรฐาน 5 ตู้เพื่อเคลื่อนย้ายไปยังจุดที่จะใช้งาน และประกอบเมื่อจะใช้งานในภาคสนาม

ไคล์ เวอร์เนอร์ หัวหน้าโครงการแมนตาเรย์ที่ DARPA กล่าวว่า “การผสมผสานระหว่างการขนส่งแบบโมดูลาร์ การประกอบภาคสนาม และการใช้งานในภาคสนาม แสดงให้เห็นถึงความสามารถที่ไม่เคยมีมาก่อนสำหรับ UUV ขนาดใหญ่พิเศษ”

นอกจากนี้เขายังตั้งข้อสังเกตอีกว่า วิธีการขนส่งแบบแยกชิ้นส่วนไปประกอบหน้างาน หมายความว่า สามารถประหยัดพลังงานสำหรับภารกิจของมัน แทนที่จะใช้มันเดินทางไปยังพื้นที่เป้าหมายแต่แรก

ในขณะเดียวกัน ซอลส์บรีกล่าวว่า จีนเองกำลังสร้างความก้าวหน้าในด้าน UUV เช่นกัน “แม้ว่ารายละเอียดจะหายาก เช่นเดียวกับขีดความสามารถส่วนใหญ่ของจีน พวกเขาพัฒนามันมาเป็นเวลาอย่างน้อย 15 ปีแล้ว และตอนนี้น่าจะมีบางอย่างที่คล้ายกับออร์กา”

ผู้เชี่ยวชาญด้านเรือดำน้ำ เอช ไอ ซัตตัน กล่าวบนเว็บไซต์ Covert Shores ของเขาว่า จากการวิเคราะห์ข่าวกรองโอเพนซอร์ส เชื่อกันว่าจีนมี UUV ขนาดใหญ่พิเศษอย่างน้อย 6 ลำที่อยู่ระหว่างการพัฒนา

นอกจากออสเตรเลีย สหรัฐฯ และจีนแล้ว ประเทศอื่น ๆ ที่กำลังพัฒนา UUV ได้แก่ แคนาดา ฝรั่งเศส อินเดีย อิหร่าน อิสราเอล เกาหลีเหนือ นอร์เวย์ รัสเซีย เกาหลีใต้ ยูเครน และสหราชอาณาจักร

 

เรียบเรียงจาก CNN

เปิดโปรแกรมวอลเลย์บอลหญิงเนชั่นส์ ลีก 2024 รอบแรก ครบทุกนัด

สัญญาณเตือน “ไขมันพอกตับ” จุดเริ่มต้นสารพัด ตับแข็ง-มะเร็งตับ

พยากรณ์อากาศล่วงหน้า 17 พ.ค.นี้เริ่มต้นฤดูฝน เตรียมรับมือพายุถล่ม

Bottom-PL-HLW Bottom-PL-HLW

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ