สำนักงานนายกรัฐมนตรีอิสราเอล ออกแถลงการณ์ ปฏิเสธข้อครหาในคดีที่แอฟริกาใต้ยื่นฟ้องอิสราเอลเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า ปฏิบัติการของอิสราเอลถือเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในดินแดนปาเลสไตน์
โดยแถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า ข้อครหาดังกล่าวไม่เป็นความจริง และอิสราเอลปฏิบัติการโจมตีทางทหารของอิสราเอลในฉนวนกาซาดำเนินการบนพื้นฐานของสิทธิในการปกป้องดินแดนของตนเอง และสอดคล้องกับค่านิยมทางศีลธรรม และเป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ
นอกจากนี้แถลงการณ์ของอิสราเอลยังระบุด้วยว่า ปฏิบัติการในราฟาห์จะไม่กระทำในลักษณะที่อาจสร้างความหายนะต่อพลเรือนปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา แต่ก็ให้ให้คำมั่นสัญญาว่าอิสราเอลจะทำสงครามในฉนวนกาซาต่อไป รวมถึงการบุกปฏิบัติการในเมืองราฟาห์ และจะต่อสู้เพื่อปล่อยตัวประกัน และเอาชนะกลุ่มติดอาวุธฮามาสให้ได้
ทั้งนี้ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้น หลังจากเมื่อวานนี้ ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ศาลสูงสุดของสหประชาชาติ หรือศาลโลก 15 คน ลงมติเห็นชอบ 13 ต่อ 2 เสียง รับรองคำตัดสินให้อิสราเอล ยุติปฏิบัติการโจมตีทางทหารในเมืองราฟาห์โดยทันที หลังจากที่แอฟริกาใต้ยื่นฟ้องอิสราเอลต่อประเด็นดังกล่าว
ขณะที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ องค์การนิรโทษกรรมสากล เปิดเผยว่าคำสั่งของศาลโลก ถือว่าเป็นคำสั่งที่ชัดเจน โดย Heba Morayef ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ ของแอมเนสตี้ แถลงการณ์เรียกร้องให้ทางการอิสราเอลต้องยุติปฏิบัติการทางทหารในเมืองดังกล่าว เนื่องจากปฏิบัติการทางทหารใดๆ ก็ตามที่กำลังดำเนินอยู่อาจเข้าข่ายเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
แถลงการณ์ของผู้อำนวยการประจำภูมิภาคตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ ของแอมเนสตี้ยังระบุด้วยว่า จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเห็นได้ชัดว่า การบุกรุกในภาคพื้นดิน และการบังคับย้ายถิ่นฐานจำนวนมาก ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ไม่สามารถแก้ไขได้ภายใต้สิทธิของชาวปาเลสไตน์ที่ได้รับการคุ้มครองภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันและลงโทษความผิดอาญาฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
ส่วนความเห็นของนักวิเคราะห์ต่อประเด็นคำตัดสินของโลก ระบุว่า นี่ถือเป็นก้าวสำคัญ และตั้งอยู่บนพื้นฐานทางกฎหมายที่มั่นคง แต่ก็มองว่าคำตัดสินของศาลโลกในเชิงปฏิบัติจะบังคับใช้ได้ยาก
อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์มองว่า ไม่ว่าคำตัดสินดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้หรือไม่ แต่ก็มีหลักฐานแสดงให้เห็นเด่นชัดว่าอิสราเอลก็ได้ก่ออาชญากรรมสงครามในฉนวนกาซาแล้ว