ช่วงนี้ ในโซเชียลมีเดียมีมูฟเมนต์ที่ชื่อว่า "Block Out 2024" ซึ่งเป็นกระแสต่อต้านเซเลบคนดัง ที่ไม่ยอมออกมาแสดงจุดยืนคัดค้านการสังหารพลเรือนผู้บริสุทธิ์ในฉนวนกาซา
โดยเทรนด์ "Block Out 2024" หรือที่หลายคนเปรียบเทียบว่าเป็น “ดิจิทัล กิโยติน” คือ การที่บรรดาแฟนๆ ผู้โกรธแค้นต่อความนิ่งเฉยของเหล่าคนดังในเรื่องสงครามกาซา พากันบล็อกช่องทางโซเชียลมีเดีย เลิกเสพผลงาน บ้างก็เข้าไปคอมเมนต์กดดันให้ศิลปินดาราเหล่านี้ช่วยเป็นกระบอกเสียง เรียกร้องให้มีการหยุดยิงในฉนวนกาซา
ซึ่งกระแสนี้เกิดขึ้นครั้งแรกใน TikTok หลังจากที่ อินฟลูเอนเซอร์สาว เฮลีย์ คาลิล (Hailey Kalil) โพสต์คลิปลิปซิงค์วลีดัง “Let them eat cake” ที่เชื่อกันว่าเป็นคำพูดของพระนางมารี อองตัวเน็ตต์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าชนชั้นสูงในฝรั่งเศสช่วงศตวรรษที่ 18 ไม่สนใจปัญหาของคนจน จนเป็นชนวนให้เกิดการปฏิวัติใหญ่
จากนั้น ผู้ใช้งานบัญชี ladyfromtheoutside (เลดี้ ฟรอม ดิ เอาต์ไซด์) ซึ่งเป็นหนึ่งในอินฟลูฯ ที่ริเริ่มมูฟเมนต์ Block Out 2024 ก็เข้ามาคอมเมนต์ เรียกร้องให้ชาวเน็ตเลิกกดไลก์ เลิกเสียเงินสนับสนุนคนดังที่เมินเฉยเรื่องความเป็นความตายของชาวปาเลสไตน์
กระแส Block Out 2024 ยิ่งได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะหลังงานแฟชั่นการกุศล Met Gala ที่เหล่าคนดังจากทั่วทั้งวงการประโคมแต่งตัวมาอวดโฉมกันบนพรมแดง
เดรสโค้ดของปีนี้ คือ The Garden of time ซึ่งเต็มไปด้วยความสวยงามหรูหรา แตกต่างกับสถานการณ์โลกในปัจจุบัน ที่มีทั้งบรรยากาศของสงครามและปัญหาความอดอยากหิวโหยที่ผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซากำลังเผชิญอยู่ บรรดานักวิเคราะห์ด้านโซเชียลมีเดีย ต่างมองเห็นสัญญาณของผลกระทบที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถฟันธงได้อย่างแน่ชัดว่าปรากฏการณ์ที่เซเลบคนดังหลายคนเจออยู่ เป็นผลจากการกระแสนี้ล้วนๆ หรือมีกระแสอื่นๆ ร่วมด้วย
ตัวอย่างคนดังระดับแถวหน้าที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ เจ้าแม่เรียลิตี้ คิม คาร์เดเชียน ที่ไปเดินพรมแดง Met Gala ในนิวยอร์ก จากนั้น ยอดติดตามในอินสตาแกรมของเธอก็หายไปหลายแสนคนในระยะไม่กี่วัน
แม้แต่ซูเปอร์สตาร์ระดับโลกอย่าง “เทย์เลอร์ สวิฟต์” ที่ปีนี้ ไม่ได้ไปร่วมงาน เพราะอยู่ระหว่างทัวร์คอนเสิร์ต the Eras Tour (ดิ เอราส์ ทัวร์) ก็มียอดผู้ติดตามลดลงมากกว่า 2 แสนคน
ผู้ใช้งาน TikTok รายหนึ่ง ซึ่งเรียกตัวเองว่า “สวิฟตี้ชาวปาเลสไตน์” อธิบายว่า ถึงเวลาที่ต้องเลิกติดตาม บล็อก หรือเลิกปั่นวิวให้ศิลปินในดวงใจ เพราะนี่เป็นเรื่องของชีวิตคน และความยุติธรรม ถ้าเทย์เลอร์เคยออกตัวเชียร์เดโมแครต และช่วยรณรงค์ให้คนออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้แล้ว เธอเองก็ต้องมีพาวเวอร์ในการต่อสู้เพื่อความอยุติธรรมด้วย
ศาสตราจารย์ นาตาชา ลินด์สแตต จากมหาวิทยาลัยเอสเซกซ์ ซึ่งศึกษาเรื่องความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับคนดัง มองว่าผลกระทบครั้งนี้น่าจะกินเวลาแค่สั้นๆ เท่านั้น เพราะบางครั้งผู้คนก็ตัดสินใจทำอะไรชั่ววูบ โดยอิงจากความรู้สึกของตนเองต่อปัญหานั้น ๆ เมื่อมาเห็นว่าดาราที่ชื่นชอบไม่ได้คิดหรืออยู่ข้างเดียวกับตน ย่อมเกิดความรู้สึกว่าไม่อยากจะติดตามคนเหล่านี้อีกต่อไป
ปรากฏการณ์นี้ มีชื่อเรียกว่า slacktivism (สแลกทิวิสซึม) หรือการที่ชาวเน็ตเลือกที่จะเคลื่อนไหวและแสดงจุดยืนผ่านโลกออนไลน์ ด้วยความรู้สึกว่าตนเองได้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเปลี่ยนแปลงแล้ว แทนที่จะต้องออกไปเสี่ยงลงถนนประท้วง
เรื่องนี้เหล่าเซเลบคนดัง รู้วิธีรับมือที่เหมาะสมอยู่แล้ว โดยส่วนใหญ่ก็เลือกที่จะเงียบและรอให้กระแสจางหายไปเอง โดยเฉพาะเมื่อเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวสูงอย่างสงครามกาซา แต่ก็มีตัวอย่างของคนดังที่เลือกรับมือต่างออกไป จนทำให้เกิดผลตามมา อาทิ นักแสดงหญิงดีกรีรางวัลออสการ์ ซูซาน ซาแรนดอน ที่ถูกเอเจนซีดาราฮอลลีวูดชื่อดังอย่าง “UTA” ประกาศฉีกสัญญา หลังไปขึ้นเวทีชุมนุมสนับสนุนปาเลสไตน์ เมื่อเดือน พ.ย.ปีที่แล้ว
และเมื่อไม่นานก็มีกรณีของดาราตลกชาวยิว เจอร์รี ไซน์เฟลด์ ซึ่งเคยวางตัวเป็นกลางทางการเมืองมาโดยตลอด ก่อนจะเผชิญกระแสวิพากษ์วิจารณ์เพราะเริ่มแสดงตัวว่าอยู่ข้างอิสราเอล และยิ่งเมื่อภรรยาของเขา บริจาคเงินให้กับกลุ่มผู้ประท้วงหนุนอิสราเอลที่ไปก่อเหตุทะเลาะวิวาทกับม็อบนักศึกษาหนุนปาเลสไตน์ ในมหาวิทยาลัยยูซีแอลเอล (UCLA) ก็ทำให้เขาถูกโจมตีหนักขึ้น
เดวิด แจ็กสัน ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยวิจัย โบว์ลิง กรีน สเตต ในสหรัฐฯ ที่ศึกษาเรื่องผลกระทบของจุดยืนทาง การเมืองต่อความนิยมของเหล่าคนดัง เปิดเผยกับสำนักข่าว AFP ว่า เรื่องเซเลบคนดังในสหรัฐฯ ที่ได้รับผลกระทบจากการเข้าไปมีส่วนทางการเมือง มีประวัติให้ย้อนกลับไปทำการศึกษาได้นานนับร้อยปี
แต่ในยุคปัจจุบัน ที่ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์แบบมีส่วนร่วมกับคนดังผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย จนบางครั้งเกิดการทึกทักเอาเองว่าตัวเองมีความผูกพันส่วนตัวหรือสนิทสนมกับบุคคลที่มีชื่อเสียง การที่ศิลปินดาราเหล่านั้นมีจุดยืนไม่ตรงกับตนเอง หรือไม่แสดงจุดยืนใด ๆ จึงทำให้รู้สึกเหมือนถูกทรยศ ผลกระทบจึงเห็นได้ชัดเจนขึ้น