ที่ผ่านมาพรรครีพับลิกันพยายามโจมตีพรรคเดโมแครตว่าไม่มีความสามารถในการสกัดผู้ลี้ภัยแต่ล่าสุดประธานาธิบดีไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ ได้ใช้คำสั่งพิเศษเพื่อจำกัดผู้ลี้ภัยแล้ว หลายฝ่ายมองว่านี่เป็นหนึ่งในการสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนอเมริกัน ก่อนการเลือกตั้งที่จะมาถึงในอีก 5 เดือนข้างหน้า
ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ แถลงข่าวโดยระบุว่า ตัวเขาได้ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหาร หรือ executive order เพื่อจำกัดจำนวนของการรับผู้อพยพที่จะเข้ามาในสหรัฐฯ แบบไม่ชอบด้วยกฎหมาย
คำสั่งฝ่ายบริหารนี้จะให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ ในการระงับสิทธิของผู้อพยพบริเวณชายแดนเม็กซิโก ที่ต้องการขอเข้ามายังสหรัฐฯ ในกรณีที่มีจำนวนผู้ขอเข้าเมืองเกินกว่า 2,500 คนต่อวัน และชายแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโกจะกลับมาเปิดอีกครั้ง เมื่อจำนวนค่าเฉลี่ยของผู้อพยพลดลงเหลือต่ำกว่า 1,500 คนต่อวัน ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 3 สัปดาห์
ทางการสหรัฐฯ ระบุว่า คำสั่งฝ่ายบริหารนี้ จะมีผลบังคับใช้ในวันอังคารที่ 4 มิถุนายนตามเวลาท้องถิ่นนอกจากนี้ คำสั่งฝ่ายบริหารยังมีมาตรการที่เข้มงวดกับกลุ่มผู้อพยพที่ถูกจับได้ว่าข้ามแดนแบบผิดกฎหมายด้วย
หากผู้อพยพคนใดถูกจับได้ว่าลักลอบข้ามแดนแบบผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่จะเนรเทศบุคคลดังกล่าวออกนอกสหรัฐฯ ทันที หรืออาจส่งกลับไปยังประเทศต้นทาง ตลอดจนอาจถูกปฏิเสธสถานะผู้ลี้ภัยในอนาคต
แม้ข้อจำกัดจะมากขึ้น แต่กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสหรัฐฯ ระบุว่า คำสั่งพิเศษนี้มีข้อยกเว้นสำหรับเด็กที่เดินทางโดยลำพัง ผู้ที่ต้องเผชิญอันตรายทางการแพทย์หรือความปลอดภัยขั้นร้ายแรง ตลอดจนผู้ที่เป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์
ความเคลื่อนไหวของประธานาธิบดีไบเดนในรอบนี้ กลายเป็นที่จับตาและเป็นที่ถกเถียง เนื่องจากเกิดขึ้นในช่วงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดี และก่อนที่โจ ไบเดนจะต้องดีเบตกับโดนัลด์ ทรัมป์ครั้งแรกในช่วงปลายเดือนนี้
โดยจุดอ่อนที่ผู้นำสหรัฐฯ จะถูกโจมตีจากพรรครีพับลิกัน อาจหนีไม่พ้นเรื่องการปิดชายแดนเพื่อป้องกันคลื่นผู้อพยพ อย่างไรก็ดี ในระหว่างการแถลงข่าว ผู้นำสหรัฐฯ ก็ได้พูดถึงที่มาที่ไปและสาเหตุของการต้องออกคำสั่งฝ่ายบริหารเช่นนี้ไว้
ประธานาธิบดีไบเดนระบุว่า การที่วุฒิสมาชิกของรีพับลิกัน ขัดขวางร่างกฎหมายชายแดนที่สองพรรคในสภาล่างตกลงร่วมกันไว้ก่อนหน้านี้ ทำให้ฝ่ายบริหารไม่มีตัวเลือกอื่น นอกจากการประกาศใช้คำสั่งฝ่ายบริหารที่มีผลบังคับใช้ทันที
หลายฝ่ายมองว่า การปัดตกร่างมาตรการเกี่ยวกับชายแดนของวุฒิสมาชิกรีพับริกัน เป็นหนึ่งในเกมการเมืองก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดี ที่จะเปิดฉากในช่วงปลายปีนี้ เนื่องจากถ้ารัฐบาลของประธานาธิบดีไบเดนจากพรรคเดโมแครต สามารถผ่านกฎหมายเพื่อสกัดผู้อพยพได้จริง ความดีความชอบและคะแนนเสียงก็จะถูกเทไปยังฝั่งประธานาธิบดีไบเดนและพรรคเดโมแครต แทนที่จะเป็นโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน ที่ชูนโยบายต่อต้านผู้อพยพบริเวณชายแดนนี้อย่างชัดเจนมาตลอด
สอดคล้องกับผลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์เมื่อช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาที่ชี้ว่า คะแนนความนิยมของทรัมป์มีมากกว่าประธานาธิบดีไบเดนถึงร้อยละ 17 เมื่อพูดถึงนโยบายการย้ายถิ่นฐานและผู้อพยพ
ดังนั้น การประกาศใช้คำสั่งฝ่ายบริหารของไบเดน จึงถือเป็นการใช้ช่องของระบบบริหารในการควบคุมจำนวนผู้อพยพบริเวณชายแดน เพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากประชาชน ตลอดจนอาจเป็นการปิดช่องว่างเพื่อไม่ให้พรรครีพับริกันโจมตีในระหว่างการหาเสียงและการดีเบตตามเวทีต่างๆ ที่จะมีขึ้นหลังจากนี้
ขณะเดียวกัน หลายฝ่ายมองว่า คำสั่งฝ่ายบริหารของไบเดนคล้ายคลึงกับนโยบายของทรัมป์ในสมัยที่เป็นประธานาธิบดี และคล้ายคลึงกับตัวบทกฎหมาย 212(f) ที่ทรัมป์ใช้เพื่อสกัดผู้คนจากประเทศมุสลิม ไม่ให้เข้ามาลี้ภัยยังแผ่นดินสหรัฐฯ
อย่างไรก็ดี การประกาศใช้คำสั่งฝ่ายบริหารเพื่อจำกัดจำนวนผู้อพยพ ก็ได้สร้างความผิดหวังให้กับภาคประชาสังคมที่สนับสนุนประธานาธิบดีไบเดน รวมถึงสส.ในพรรคเดโมแครตเองด้วย
ลี เกเลิร์นต์ ทนายความของสหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกัน ซึ่งเป็นองค์กรที่ฟ้องร้องทรัมป์สำเร็จมาแล้วครั้งหนึ่ง หลังทรัมป์พยายามออกคำสั่งบริหารในลักษณะนี้เพื่อควบคุมการเข้าประเทศของผู้ลี้ภัยมุสลิม ได้ระบุว่า ทางหน่วยงานจะฟ้องร้องรัฐบาลสหรัฐฯ เนื่องจากคำสั่งฝ่ายบริหารขัดต่อพันธกรณีของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มีต่อพระราชบัญญัติผู้ลี้ภัยปี 1980 ซึ่งบัญญัติให้สหรัฐฯ ตรวจสอบผู้ลี้ภัยตามกระบวนการโดยไม่เลือกปฏิบัติ
นอกจากภาคประชาสังคมแล้ว ทางฝั่งสส.ของพรรคเดโมแครตหลายคน ก็ได้ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับคำสั่งฝ่ายบริหารของผู้นำสหรัฐฯ อิลฮาน โอมาร์ สส.สังกัดพรรคเดโมแครตจากรัฐมินนิโซตา ระบุว่า สิ่งที่ผู้นำสหรัฐฯ กำลังทำ เป็นการทรยศต่อหลักการและเป็นการทำลายมรดกของสหรัฐฯ ซึ่งเคยเป็นสถานที่ที่ให้ผู้ถูกกดขี่ได้พึ่งพิง
นอกจากประเด็นการทางกฎหมายระหว่างคำสั่งฝ่ายบริหารกับพันธกรณีของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มีต่อพระราชบัญญัติผู้ลี้ภัยปี 1980 และค่านิยมในการโอบรับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ อีกประเด็นหนึ่งที่หลายฝ่ายกังวลคือ อันตรายที่จะเกิดกับกลุ่มผู้ลี้ภัย หากพวกเขาไม่สามารถเข้าไปในสหรัฐฯ ได้ เอ็นริเก ลูเซโร ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการผู้อพยพในเมืองติฮัวนา ประเทศเม็กซิโก เตือนว่า มาตรการใหม่ของสหรัฐฯ อาจส่งผลกระทบต่อที่พักพิงของผู้อพยพ เนื่องจากผู้คนจำนวนมากจะติดอยู่ที่ชายแดนในระหว่างที่ต้องรอการพิจารณาเข้าแดนหรือรอเพื่อถูกส่งกลับประเทศ
ขณะเดียวกัน ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการผู้อพยพของเม็กซิโกยังเชื่อว่า ความสิ้นหวังอันเกิดจากการถูกจำกัดไม่ให้ข้ามแดน จะทำให้ผู้อพยพหาทางข้ามแดนแบบผิดกฎหมาย เช่น การลักลอบเข้าตามช่องทางธรรมชาติ หรือ การหลบซ่อนในรถบรรทุก
แต่สิ่งที่น่ากังวลที่สุดคือ หลายคนอาจไม่มีที่ไปจนต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน อาศัยอยู่ตามชายแดนและตกเป็นเหยื่อของการฆาตรกรรม หรือตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ เพราะผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่ยอมสละทุกอย่างที่มี เพื่อหวังจะได้เข้าไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในสหรัฐฯ
นอกจากนี้ หลายฝ่ายยังได้ตั้งคำถามว่าจะสามารถควบคุมจำนวนผู้อพยพและผู้ลักลอบเข้าเมืองได้มากน้อยเพียงใด เพราะในคำสั่งฝ่ายบริหารได้ระบุไว้ว่าชายแดนสหรัฐฯ - เม็กซิโกจะกลับมาเปิดอีกครั้ง เมื่อจำนวนค่าเฉลี่ยของผู้อพยพที่ถูกจับกุมลดลงเหลือต่ำกว่า 1,500 คนต่อวัน แต่หากดูจากสถิติที่ผ่านมา อัตราการผ่านเข้าแดนสหรัฐฯ ตามชายแดนยังคงพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ
ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา การข้ามแดนเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 4,300 คน ซึ่งถือเป็นจำนวนที่สูงมาก และการจะลดจำนวนผู้อพยพให้ลดลงเหลือต่ำกว่า 1,500 คนต่อวันเป็นเวลา 3 สัปดาห์ติดต่อกันเป็นเรื่องที่ยากมาก
โดยครั้งสุดท้ายที่อัตราการข้ามแดนลดลงไปถึงระดับดังกล่าวคือ ช่วงเดือนกรกฎาคม ปี 2020 ซึ่งเป็นเดือนแรกของการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ในสหรัฐฯ และเป็นช่วงที่คนทุกพื้นที่ทั่วโลกถูกจำกัดการเดินทางเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด
นอกจากนี้ คำถามสำคัญในการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการดำเนินการตามมาตรการของคำสั่งฝ่ายบริหารยังคงคลุมเครือ รวมถึงวิธีที่ฝ่ายบริหารจะส่งผู้อพยพไปยังประเทศที่อยู่ห่างไกล และไม่ให้ความร่วมมืออย่างรวดเร็วจะเป็นไปได้อย่างไร
ตลอดจนเม็กซิโกจะยอมรับผู้อพยพที่ไม่ใช่ชาวเม็กซิกันได้ในจำนวนเท่าใดหลังจากที่สหรัฐฯ ประกาศจำกัดจำนวนผู้อพยพ
โปรแกรมบอลยูโร 2024 ทุกคู่ เวลาแข่งขัน EURO 2024
ไทยจ่อเข้าสู่สภาวะ “ลานีญา” มิ.ย.-ส.ค.นี้ หลายปัจจัยทำฝนตกเพิ่มขึ้น