เมื่อวานนี้ (7 มิ.ย. 2024) หลังงานรำลึกวันดี-เดย์ หรือ วันยกพลขึ้นบนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่จัดขึ้นประเทศฝรั่งเศสเสร็จสิ้น มีรายงานการพบกันระหว่าง ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ กับประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ของยูเครน
โดย ประธานาธิบดีไบเดน ได้ยืนยันต่อประธานาธิบดีเซเลนสกีว่า สหรัฐฯ จะยืนหยัดเคียงข้างยูเครน และรู้สึกเสียใจถึงความล่าช้าในการส่งความช่วยเหลือทางทหารชุดใหม่ที่ผ่านสภาคองเกรสของสหรัฐฯ
ทั้งนี้ประธานาธิบดีไบเดน ได้ชื่นชมประธานาธิบดีเซเลนสกีที่ยังคงเดินหน้าต่อสู้กับรัสเซียในแบบที่น่าทึ่งมากๆ และย้ำว่าสหรัฐฯจะสนับสนุนยูเครนต่อไปอย่างไม่เปลี่ยนแปลง
นอกจากนี้ในแถลงการณ์ที่แยกออกมา กระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ได้เปิดเผยถึงการมอบแพ็คเกจความช่วยเหลือทางทหารชุดใหม่ให้กับยูเครนมูลค่า 225 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของยูเครนในสนามรบอย่างเร่งด่วนที่สุด
โดยความช่วยเหลือทางทหารชุดใหม่นี้ประกอบด้วย ขีปนาวุธต่อต้านอากาศยาน กระสุนสำหรับไฮมาร์ส กระสุนสำหรับระบบ (HIMARS) หรือ ระบบยิงจรวดด้วยปืนใหญ่เคลื่อนที่มีความคล่องตัวสูง และกระสุนปืนใหญ่ 155 มม. และ 105 มม.
ในวันเดียวกัน ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครงของฝรั่งเศส ได้ให้คำมั่นสัญญาต่อประธานาธิบดีเซเลนสกีเช่นเดียวกันว่าจะสนับสนุนยูเครนในการต่อสู้กับรัสเซียในระยะยาว
อย่างไรก็ตามประธานาธิบดียูเครนได้แสดงความหวังว่า จะได้เห็นเครื่องบินรบที่ฝรั่งเศสจัดหาให้บินเหนือน่านฟ้ายูเครนโดยเร็วที่สุด หลังจากเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาประธานาธิบดีมาครงได้ประกาศว่า ฝรั่งเศสจะส่ง “Mirage 2000-5” (มิราจ ทูเธาเซินด์-ไฟว์) เครื่องบินรบขับไล่สัญชาติฝรั่งเศสให้กับยูเครน
ส่วนประเด็นที่กำลังถกเถียงกันเรื่องของยูเครนว่าสามารถใช้อาวุธยุโธปรณ์ของชาติตะวันตกโจมตีเข้าไปยังดินแดนของรัสเซียได้หรือไม่ หลายชาติออกมาไฟเขียว และบางชาติก็อนุญาตภายใต้ข้อจำกัด อย่างเช่นสหรัฐฯ ระบุถึงเงื่อนไขว่า ยูเครนใช้อาวุธเหล่านั้นโจมตีเป้าหมายทางการทหารของรัสเซียในพื้นที่ใกล้ชายแดนในแคว้นเบลโกรอดได้ แต่ไม่อนุญาตใช้โจมตีลึกเข้าไปในแผ่นดินรัสเซียไกลถึง 300 กิโลเมตร และไม่อนุญาตให้ยูเครนโจมตีวังเครมลิน ซึ่งเป็นที่ทำการของรัฐบาลรัสเซีย หรือพื้นที่ในกรุงมอสโก เมืองหลวงของรัสเซีย
เช่นเดียวกับเยนส์ สโตลเตนเบิร์กเลขาธิการองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต ให้ความเห็นว่า ยูเครนมีสิทธิตามกฎหมายระหว่างประเทศในการโจมตีเป้าหมายทางทหารในรัสเซียเพื่อปกป้องตัวเอง
การประกาศยินยอมให้ยูเครนใช้อาวุธสัญชาติตะวันตกโจมตีเข้าไปยังเป้าหมายทางการทหารบนแผ่นดินรัสเซีย ได้สร้างความไม่พอใจให้กับรัสเซียอย่างมาก โดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายคนของรัสเซียได้ออกมาเตือนชาติยุโรป ให้ระวังผลจากการตัดสินใจว่าจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่รุนแรง รวมถึงประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินได้ออกมาพูดถึงเรื่องนี้ด้วยตนเอง โดยระบุว่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ในกรณีที่ดินแดนรัสเซียถูกคุกคาม
ท่ามกลางความผวาดผวาถึงการใช้อาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซีย เมื่อวานนี้ (7 มิ.ย. 2024) ประธานาธิบดีปูตินได้ย้ำว่า รัสเซียไม่จำเป็นต้องใช้อาวุธดังกล่าวเพื่อกำชัยชนะจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และขอให้ผู้คนหยุดพูดเกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์ใด ๆ ก็ตาม
นี่ถือเป็นการส่งสัญญาณที่แข็งแกร่งของผู้นำรัสเซียว่า จะไม่มีการโจมตีด้วยอาวุธประเภทดังกล่าว