คลิปวิดีโอที่บันทึกได้ที่เมืองชิปปิส ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันศุกร์และเสาร์ที่ผ่านมา จากภาพจะเห็นได้ว่า น้ำในแม่น้ำกำลังไหลเชี่ยวรุนแรง หลังพื้นที่ดังกล่าวเผชิญกับฝนตกหนัก
ส่วนที่เมืองเซอร์แมตต์ ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมของสวิตเซอร์แลนด์ ที่นี่เองก็มีน้ำไหลเชี่ยวรุนแรง หลังจากระดับน้ำในแม่น้ำแมทเทอร์วิสปา (Mattervispa) เพิ่มสูงขึ้น และบางช่วงก็เอ่อล้นตลิ่งสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้น ส่งผลทำให้ถนนและเส้นทางรถไฟในเมืองแห่งนี้ถูกตัดขาดตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมา
แต่ล่าสุดเมื่อวานนี้ 23 มิ.ย. การให้บริการรถไฟกลับมาดำเนินการตามปกติอีกครั้ง ด้านกรมอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติของสวิตเซอร์แลนด์รายงานว่า นับตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมา พื้นที่บริเวณหุบเขาเมโซลซินา (Mesolcina) ในรัฐเกราบึนเดิน (Graubünden) เผชิญกับปริมาณน้ำฝน 124 มิลลิเมตร ก่อนที่ในช่วงหนึ่งชั่วโมงต่อมาปริมาณน้ำฝนจะลดลงเหลือ 66 มิลลิเมตร ทั้งนี้ฝนที่ตกหนักอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าเป็นเพียงระยะสั้นๆ และเกิดขึ้นเพียง 1 ครั้งในรอบ 30 ปี แต่ก็ได้สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่ดังกล่าวเป็นอย่างมาก สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ฝนที่ตกหนัก ส่งผลให้แม่น้ำหลายสายในพื้นที่เออล้นตลิ่ง และเข้าท่วมถนน ทุ่งนา ขณะที่หมู่บ้านต่างๆ ในแทบนั้นเต็มไปด้วยเศษหิน ดิน และไม้ที่ถูกน้ำพัดพามา
ขณะที่ทางการรัฐวาเล (Valais) ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ ได้สั่งการให้ผู้คนประมาณ 230 คนอพยพออกจากบ้านเรือนของตัวเองตั้งแต่ช่วงกลางดึกของวันศุกร์โดยภัยพิบัติที่เกิดขึ้นส่งผลทำให้บ้าน 3 หลัง และรถยนต์ 3 คันได้รับความเสียหาย ขณะที่ล่าสุดพบผู้เสียชีวิตแล้ว 1 ราย และสูญหายอีก 2 ราย
ด้านทีมกู้ภัย 200 คน พร้อมด้วยรถขุด เฮลิคอปเตอร์ โดรน และสุนัขกู้ภัยได้เร่งค้นหาผู้สูญหายตั้งแต่วันเสาร์ แต่จนถึงตอนนี้ความหวังในการพบผู้รอดชีวิตเริ่มริบหรี่ และภารกิจค้นหาต้องหยุดชะงักฃในช่วงกลางดึกเพราะมีฝนที่ตกหนักเพิ่มเติม
ส่วนถนนมอเตอร์เวย์สาย A13 ที่มุ่งหน้าจากสวิตเซอร์แลนด์สู่อิตาลี ก็ได้รับความเสียหายรุนแรง และจมอยู่ใต้บาดาล เบื้องต้นคาดการณ์ว่าเส้นทางคมนาคมสายหลักสายนี้จะยังคงปิดต่อไปอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากยังไม่ชัดเจนว่าถนนสายดังกล่าวจะซ่อมแซมเสร็จเมื่อใด ดังนั้นจึงหมายความว่าการสัญจรของผู้คนในช่วงฤดูร้อนจะได้รับผลกระทบตามไปด้วย
ส่วนที่สหรัฐฯ ก็เผชิญกับพายุรุนแรงจนทำให้เกิดน้ำท่วมเช่นเดียวกัน โดยคลิปวิดีโอที่บันทึกได้เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา จากภาพจะเห็นว่าเมฆพายุขนาดมหึมาก่อตัวเหนือเมืองเมดิสัน ในรัฐวิสคอนซิน ก่อนที่จะเคลื่อนตัวไปยังพื้นที่ตอนใต้ของรัฐ และทำให้เกิดน้ำท่วมถนนทางหลวง อาคารและบ้านเรือนของประชาชน
นอกจากรัฐวิสคอนซินแล้ว ที่รัฐไอโอวาซึ่งอยู่ติดกันก็เผชิญกับฝนตกหนักจนทำให้เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ โดยคลิปวิดีโอที่เผยให้เห็นภัยพิบัติน้ำท่วมรุนแรงในเมืองร็อกแวลลีย์ (Rock Valley) จากภาพจะเห็นว่าระดับน้ำท่วมสูงจนเกือบมิดหลังคาบ้านเรือนของประชาชน ส่วนถนนหนทางต้องจมอยู่ใต้บาดาล คิม เรย์โนลด์ส (Kim Reynolds)
ผู้ว่าการรัฐไอโอวา ยอมรับว่า ระดับน้ำในแม่น้ำได้เพิ่มสูงขึ้นมากเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่ปี 1993 อย่างไรก็ตาม ทางการท้องถิ่นกำลังเร่งจัดการภัยพิบัติโดยทุ่มทรัพยากรที่มีทั้งหมดของรัฐ และประสานงานกับรัฐบาลกลางเพื่อช่วยฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ตลอดจนประกาศเตือนภัยประชาชนให้รับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมด้วย
ส่วนที่แอฟริกาตะวันออก กรุงโมกาดิชู เมืองหลวงของโซมาเลีย ก็เผชิญกับน้ำท่วมฉับพลันครั้งใหญ่ โดยชาวบ้านในพื้นที่เปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์สว่า ในบางพื้นที่มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจนถึงหัวเข่า ขณะที่ระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นได้สร้างความเสียหายต่อชีวิต และทรัพย์สิน รวมถึงโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งนี่ทำให้เกิดความกังวลด้านความปลอดภัย
ทั้งนี้ในกรุงโมกาดิชู เจอน้ำท่วมถี่ขึ้น และรุนแรงขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศดังกล่าว ยังคงเป็นปัญหาสำคัญระดับโลก และเป็นต้นเหตุทำให้แอฟริกาตะวันออกและจะงอยแอฟริกา (Horn of Africa) รวมถึงโซมาเลีย เผชิญกับรูปแบบสภาพอากาศที่ไม่สามารถคาดเดาได้บ่อยขึ้น
ข้อมูลของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ( IPCC) ชี้ว่า ความถี่ของเหตุการณ์ด้านสภาพอากาศแบบสุดขั้ว เช่นภัยแล้ง และน้ำท่วมหนักในภูมิภาคแอฟริกาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากภาวะโลกร้อน
ขณะที่ความท้าทายที่มีอยู่เดิมในประเทศแถบนี้ เช่นความไร้เสถียรภาพด้านการเมือง และความยากจน ก็เป็นปัจจัยเร่งที่ทำให้ผลกระทบจากภัยพิบัติดังกล่าวขยายขอบเขตความเสียหายมากขึ้น
ทวีปแอฟริกา เป็นทวีปที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากทวีปเอเชีย ทั้งในแง่ของขนาดพื้นที่และจำนวนประชากร ด้วยพื้นที่ประมาณ 30.3 ล้านตารางกิโลเมตร
แต่ที่นั่นมีหนึ่งปัญหาที่สำคัญคือการเมืองที่ไร้เสถียรภาพ โดยทวีปแอฟริกา เป็นทวีปที่เกิดการรัฐประหารมากที่สุดในโลก
นับตั้งแต่ปี 2020 ประเทศต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในทวีปแห่งนี้เจอกับการรัฐประหารมากถึง 8 ครั้ง ซึ่งการรัฐประหารถือเป็นสิ่งที่บ่งบอกได้ถึงความล้มเหลว ทั้งในด้านความมั่นคง และความมีเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศต่างๆขณะการเมืองถือเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต และปากท้องของประชาชน เมื่อการเมืองไร้เสถียรภาพ ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนก็ยากลำบาก
ซึ่งนี่ถือเป็นปัจจัยที่ทำให้แอฟริกากลายเป็นทวีปที่ยากจนที่สุดในโลก และเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติธรรมชาติมากที่สุดที่หนึ่ง เนื่องจากไม่มีรัฐบาลที่มุ่งจัดการหรือวางแผนรับมือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศที่ดีพอ
ส่วนจีน ซึ่งเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ที่สุดของโลกกำลังเผชิญกับน้ำท่วมครั้งใหญ่ในหลายพื้นที่ ล่าสุดพบผู้เสียชีวิตกว่า 40 ราย ขณะที่ทางการระดมกำลังเพื่อรับมือกับน้ำท่วม ท่ามกลางฝนที่ยังคงตกหนัก
สภาพความเสียหายที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของจีน รวมถึงมณฑลหูหนาน มณฑลกุ้ยโจว มณฑลเจ้อเจียง มณฑลหูเป่ย และมณฑลกวางตุ้ง ระหว่างวันที่ 21-23 มิถุนายนที่ผ่านมารายงานข่าวระบุว่า มณฑลหูหนาน ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนกลางของจีน เผชิญกับฝนตกหนักในหลายพื้นที่ตั้งแต่ช่วงเช้าวันศุกร์จนถึงเมื่อวานนี้
ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นส่งผลทำให้พื้นที่การเกษตรและถนนหลายสาย ได้รับความเสียหาย นอกจากนี้ ในช่วงเช้าตรู่วานนี้ หมู่บ้านแห่งหนึ่งเผชิญกับดินถล่ม จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 8 ราย และบ้านเรือนพังเสียหายอีก 4 หลัง
ขณะที่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบได้อพยพไปยังสถานกที่ปลอดภัยแล้ว
ส่วนเมืองอันซุ่นในมณฑลกุ้ยโจว ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เผชิญกับพายุฝนครั้งใหญ่ที่สุดของปี โดยอำเภอผู่ติ้ง เป็นหนึ่งในจุดที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด เพราะถนนหนทางได้รับความเสียหาย หลังน้ำท่วม ด้านเขตว่านโจว นครฉงชิ่ง ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน โดยทางการท้องถิ่นได้ติดตั้งเครื่องจักรขนาดใหญ่เพื่อซ่อมแซมถนนที่ได้รับความเสียหายให้กลับมาเปิดใช้งานได้อีกครั้งเมื่อช่วงบ่ายวันอาทิตย์
ส่วนมณฑลกวางตุ้ง ทางตอนใต้ของประเทศ เผชิญกับน้ำท่วมและดินถล่มครั้งใหญ่ ล่าสุดพบผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 47 คน
เบื้องต้นคาดการณ์ว่าในพื้นที่ดังกล่าวมีประชาชนกว่า 55,000 คนที่ได้รับผลกระทบ และจากการประเมินความเสียหายพบว่า มีบ้านเรือนพังมลายกว่า 2,200 หลัง และอีกกว่า 3,200 หลังได้รับความเสียหายรุนแรง ด้านถนนหนทางก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน มีรายงานว่า สถานการณ์น้ำท่วมทำให้ทางการต้องสั่งปิดการจราจร 82 เส้นทาง และพื้นที่การเกษตร การเลี้ยงปศุสัตว์ รวมถึงโรงไฟฟ้า และท่อส่งน้ำก็ได้รับความเสียหายตามไปด้วย
ส่วนมณฑลเฮยหลงเจียง พื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากประตูระบายน้ำแห่งหนึ่งได้รับความเสียหาย หลังพื้นที่ดังกล่าวเผชิญกับปริมาณฝนตกหนักทั้งเดือนอยู่ที่ 240 มิลลิเมตร ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตถึง 2.4 เท่า
ส่วนปริมาณน้ำฝนในวันศุกร์ และวันเสาร์ที่ผ่านมาสูงถึง 54.5 มิลลิเมตร ส่งผลทำให้ระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำเอ่อล้นออกมา
ระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นในหลายพื้นที่ รวมถึงตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ส่งผลทำให้เจ้าหน้าที่กู้ภัยเร่งช่วยเหลือ และอพยพประชาชนไปยังพื้นที่ปลอดภัย เนื่องจากฝนยังคงตกหนัก และยังทำให้เกิดน้ำท่วม และดินถล่มรุนแรง ส่วนเมื่อวานนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติของจีน ได้ประกาศเตือนภัยประชาชนเพื่อตอบสนองเหตุฉุกเฉินภัยพิบัติน้ำท่วมในหลายมณฑล ตั้งแต่ทางตอนกลางอย่าง มณฑลเหอหนาน อานฮุย และหูเป่ย รวมถึงมณฑลเจียงซู ทางชายฝั่งตะวันออก และมณฑลกุ้ยโจว ทางตอนใต้ของจีน ตลอดจนคาดการณ์ว่าพื้นที่เหล่านี้จะเกิดพายุลูกเห็บ และพายุฝนฟ้าคะนองรุนแรง
ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในจีนครั้งนี้ถือเป็นภัยพิบัติครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่มีการบันทึกสถิติมา โดยเบื้องต้นทางการจีนได้ประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่าประมาณ 5,850 ล้านหยวน หรือเกือบ 30,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ จีนถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่บ่อยและรุนแรงมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยก๊าซเรือนกระจก เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และจีนเองก็เป็นประเทศผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ที่สุดของโลก
ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับรายงานจากเอ็มเบอร์ (Ember) ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยด้านพลังงานที่เผยแพร่ออกมาเมื่อต้นปีที่ผ่านมา
รายงานฉบับดังกล่าวระบุว่า ในช่วงเดือนที่ร้อนที่สุดคือ เดือนมิถุนายน กรกฎาคม และสิงหาคม ของปีที่แล้ว หรือปี 2023 จีนปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลสำหรับการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในภาคพลังงานสูงถึงระดับ 1.575 พันล้านตัน หรือมากถึงร้อยละ 50 นับตั้งแต่ปี 2015
ส่วนประเทศเพื่อนบ้านอย่างบังกลาเทศ เผชิญน้ำท่วมครั้งใหญ่ในพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ หลังฝนตกหนักต่อเนื่องมานานหลายสัปดาห์ โดยจุดที่รับผลกระทบหนักที่สุดคือเมืองซิลเฮติ ซึ่งระดับน้ำท่วมสูงถึงหน้าอก
ล่าสุดประชาชนที่นั่นประมาณ 1.8 ล้านคน กำลังเผชิญกับหายนะจากน้ำท่วม โดยในจำนวนนี้อยู่ในเมืองซิลเฮติกว่า 964,000 คน และมีเด็กอีกกว่า 772,000 คนทั่วประเทศที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ ในบังกลาเทศระบุว่า เวลานี้ เด็กๆ ถือเป็นกลุ่มเปราะบางที่สุด และเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจเผชิญกับการจมน้ำ ภาวะทุพโภชนาการ โรคติดต่อทางน้ำ การบาดเจ็บจากการพลัดถิ่น และเสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในศูนย์พักพิงที่แออัดไปด้วยผู้พลัดถิ่น
ด้านกรมอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติของบังกลาเทศ คาดการณ์ว่า บริเวณดังกล่าวจะเผชิญกับฝนตกหนักเพิ่มขึ้นอีกในอีกไม่กี่วันข้างหน้า และนี่อาจทำให้สถานการณ์น้ำท่วมรุนแรงขึ้น และทำให้เกิดดินถล่มบริเวณพื้นที่เนินเขามากขึ้นด้วย
ทั้งนี้บังกลาเทศ เป็นประเทศที่มีประชากรหนาแน่น และตั้งอยู่บนพื้นที่ราบต่ำ ทำให้ที่นั่นเมื่อเกิดฝนตก และพายุไซโคลนพัดถล่มจะทำให้เกิดน้ำท่วมได้ง่าย ขณะเดียวกัน บังกลาเทศ ก็ตั้งอยู่ใกล้อ่าวเบงกอล ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากพายุบ่อยครั้ง นี่จึงทำให้บังกลาเทศเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุดในโลก และสภาพอากาศสุดขั้วที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงมากขึ้น และวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ก็ส่งผลกระทบด้านมนุษยธรรมและเศรษฐกิจของประเทศแห่งนี้ด้วย
ข้อมูลล่าสุดของธนาคารโลกชี้ว่า ภายในปี 2050 ผู้คน 13 ล้านคนที่อาศัยอยู่ที่บังกลาเทศอาจกลายเป็นผู้อพยพจากสภาพภูมิอากาศและน้ำท่วมรุนแรง ซึ่งนี่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงมีการคาดการณ์ว่า GDP หรือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศอาจร่วงลงมามากถึงร้อยละ 9 เมื่อเทียบกับค่า GDP ในปัจจุบันที่อยู่ที่ 460,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 17 ล้านล้านบาท
โปรแกรมฟุตบอลยูโร 2024 วันจันทร์ที่ 24 มิ.ย. 67 พีพีทีวียิงสด! จับตา โครเอเชีย พบ อิตาลี
“บิ๊กโจ๊ก” เดินหน้าฟ้อง บิ๊กต่อ-ต่าย-เต่า-นายกฯ หากไม่ได้กลับ สตช.
กรมอุตุฯ เตือนฉบับ 4 ฝนตกหนักถึงหนักมากกระทบ 48 จังหวัดทั่วไทย