วันที่ 8 ก.ค. ประเทศญี่ปุ่นเผชิญอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่อยู่ในญี่ปุ่นตะวันตกและตะวันออก โดยหลายพื้นที่ประสบกับสภาพอากาศร้อนจัด บางพื้นที่มีอุณหภูมิสูงขั้นอันตรายถึงเกือบ 40 องศาเซลเซียส จนทางการต้องออกประกาศเตือนเฝ้าระวังฮีทสโตรกในมากกว่า 20 จังหวัดทั่วประเทศ
สำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น (JMA) ระบุว่า ความกดอากาศสูงยังคงปกคลุมญี่ปุ่นฝั่งตะวันตกและตะวันออกในวันที่ 8 ก.ค. ส่งผลให้ท้องฟ้าแจ่มใสและมีอุณหภูมิสูงขึ้น
โดยอุณหภูมิสูงสุด ณ เวลา 16.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น (14.00 น. ตามเวลาประเทศไทย) อุณหภูมิอยู่ที่ 39.6 องศาเซลเซียสในเมืองชินกุ จังหวัดวากายามะ และ 39.2 องศาเซลเซียส ในเมืองฟุชู โตเกียว เข้าใกล้ระดับ 40 องศาเซลเซียส
นอกจากนี้ยังมีหลายพื้นที่ที่อุณหภูมิร้อนจนเป็นอันตราย เช่น 38.9 องศาเซลเซียสที่เมืองคุวานะ จังหวัดมิเอะ, 38.6 องศาเซลเซียสที่ไซตามะ, 37.4 องศาเซลเซียสที่ชิซูโอกะ, 36.7 องศาเซลเซียสในเกียวโต, 36.6 องศาเซลเซียสในโออิตะ และ 36 องศาเซลเซียสที่ใจกลางกรุงโตเกียว
สำนักงานอุตุนิยมวิทยาของญี่ปุ่นและกระทรวงสิ่งแวดล้อมได้ประกาศแจ้งเตือนโรคลมแดดสำหรับโตเกียว ไซตามะ ชิบะ คานางาวะ อิบารากิ โทชิงิ กุนมะ ชิซูโอกะ ไอจิ มิเอะ ชิงะ เฮียวโงะ วาคายามะ ฮิโรชิมา ชิมาเนะ โทคุชิมะ เอฮิเมะ ฟุกุโอกะ โออิตะ นางาซากิ คุมาโมโตะ มิยาซากิ คาโกชิมะ และโอกินาวา
ประกาศเตือนดังกล่าวแนะนำให้ประชาชนตรวจสอบดัชนีความร้อนบนเว็บไซต์กระทรวงสิ่งแวดล้อม และหลีกเลี่ยงการออกไปข้างนอกในพื้นที่ที่มีดัชนีความร้อน 31 ขึ้นไป ใช้เครื่องปรับอากาศในอาคารอย่างเหมาะสม และดื่มน้ำบ่อย ๆ แม้ว่าจะไม่กระหายน้ำก็ตาม นอกจากนี้ เนื่องจากผู้สูงอายุและทารกมีความเสี่ยงต่อโรคลมแดดได้ง่ายกว่า จึงขอให้สมาชิกในครอบครัวและคนรอบข้างช่วยกันระมัดระวัง
โดยในช่วงไม่กี่วันมานี้ญี่ปุ่นมีผู้ป่วยจากฮีทสโตรกหลายร้อยราย เสียชีวิตไปแล้ว 4 ราย ได้แก่ ชายวัย 70 ปีที่ถูกพบว่าเสียชีวิตที่บ้านหลังจากตัดหญ้า, ชายวัย 80 ปีที่ทำงานในฟาร์ม, หญิงวัย 90 ปีคนหนึ่งเสียชีวิตหลังจากหมดสติที่บ้าน และหญิงวัย 83 ปีเสียชีวิตหลังจากทำงานนอกบ้าน
ฤดูร้อนที่ร้อนชื้นเป็นเรื่องปกติในญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากฤดูฝนสิ้นสุดในช่วงกลางถึงปลายเดือนกรกฎาคม แต่อุณหภูมิกลับสูงขึ้นเป็นพิเศษในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อันเป็นผลมาจากความร้อนทั่วโลกและปัจจัยทางภูมิอากาศอื่น ๆ
ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมิถุนายนผู้ป่วยทั้งหมด 2,276 รายถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลเนื่องจากฮีทสโตรก โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งมีอายุมากกว่า 65 ปี
เมื่อวันที่ 7 ก.ค. ในกรุงโตเกียว มีผู้ถูกนำส่งโรงพยาบาล 198 รายเนื่องจากต้องสงสัยว่าเป็นฮีทสโตรก ส่วนวันที่ 8 ก.ค. ณ เวลา 16.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น มีผู้ป่วยฮีทสโตรกในโตเกียวถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลแล้ว 86 ราย ส่วนที่ไซตามะมี 113 ราย
สถิติจากกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นที่รายงานโดย Japan Times แสดงให้เห็นว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจากฮีทสโตรกเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้ โดยระหว่างปี 1995-1999 มีผู้เสียชีวิตเฉลี่ย 201 คนต่อปี แต่เพิ่มมาเป็นเฉลี่ย 1,295 คนต่อปีในช่วงปี 2018-2022 โดย 80-90% ของผู้เสียชีวิตมีอายุมากกว่า 65 ปี
เรียบเรียงจาก NHK / The Guardian
ค้านเพิกถอนอุทยานฯทับลานเป็นที่ดินการเกษตร หวั่น กระทบต่อระบบนิเวศ
สรุป 4 ทีมสุดท้าย ยูโร 2024 โปรแกรมรอบรองฯ เวลาแข่งขัน EURO 2024
เปิดใจคู่รัก LGBTQ+ จักรภพ เพ็ญแข - ป๊อป สุไพรพล หลังซ่อนสัมพันธ์ 23 ปี