วันที่ 7 เดือน 7 ของตามปฏิทินจันทรคติของทุกปี ถือเป็นวันเทศกาล “ชีซี” (Qixi) หรือวันแห่งความรักของชาวจีน มักจะอยู่ในเดือนกรกฎาคมหรือสิงหาคม ซึ่งปี 2024 นี้ตรงกับวันที่ 10 ส.ค. ที่ผ่านมา
ตามปกติ ในช่วงเทศกาลแห่งความรักของจีน มักพบเห็นภาพคู่รักหนุ่มสาวถือช่อกุหลาบช่อใหญ่ หรือภาพอวดแฟน อวดไอโฟนรุ่นใหม่และกระเป๋าแบรนด์เนมที่แฟนให้เป็นของขวัญ รวมถึงรูปภาพอาหารค่ำในร้านอาหารหรู
นั่นทำให้เทศกาลแห่งความรักนี้เป็นหนึ่งในช่วงเวลาสำคัญทางเศรษฐกิจของจีนพอ ๆ กับช่วงวันคนโสด (11 พ.ย. ของทุกปี)
แต่สถานการณ์ในปีนี้แตกต่างไปจากเดิมอย่างมาก ผู้คนต่างบ่นเกี่ยวกับบรรยากาศที่ปราศจากการให้ของขวัญ โดยคู่รักหลายคู่ต่างอ้างถึงเศรษฐกิจที่ซบเซาและตลาดงานที่ยากลำบาก
“เศรษฐา” ไม่รอด ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยขาดคุณสมบัติพ้นนายกฯ - ครม.หลุดทั้งคณะ
ไทม์ไลน์คดีถอดถอน “เศรษฐา” ก่อนศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่ง!
ผัก-ผลไม้จีน ทะลักตลาดสดโคราช ถูกกว่าไทยเท่าตัว-เกษตรกรไทยกระทบเต็มๆ
ในวันที่ 10 ส.ค. บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเวยปั๋ว (Weibo) แฮชแท็ก “การบริโภคลดลงในวันวาเลนไทน์จีน คนหนุ่มสาวไม่เต็มใจจ่ายภาษีความรักหรือ” กลายเป็นหัวข้อที่ได้รับความนิยมสูงสุด มีผู้เข้าชมมากถึง 200 ล้านครั้ง
ผู้ใช้รายหนึ่งเขียนว่า “เทศกาลชีซีไม่ได้คึกคักเหมือนปีที่ผ่าน ๆ มา ให้ความรู้สึกราวกับว่าถูกทิ้งร้าง”
เจ้าของร้านดอกไม้บางแห่งยังโพสต์ภาพดอกกุหลาบที่ขายไม่ออกเรียงรายอยู่ตามร้าน
อัลเฟรด วู ผู้ช่วยศาสตราจารย์จาก วิทยาลัยนโยบายสาธารณะ ลี กวนยู แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ กล่าวว่า คนหนุ่มสาวที่เคยใช้จ่ายฟุ่มเฟือยในช่วงเทศกาลชีซีกำลังดิ้นรนหางานทำ
“ผมคิดว่าทัศนคติโดยรวมแย่มากและผู้บริโภคค่อนข้างอนุรักษ์นิยม” เขากล่าว พร้อมเสริมว่า ทัศนคติเชิงลบต่อเศรษฐกิจได้กลายเป็น “แพตเทิร์นที่เกิดขึ้นโดยรวม” ไม่ใช่แค่เรื่องที่เกิดขึ้นในเทศกาลเดียวเท่านั้น
พฤติกรรมของคู่รักชาวจีนเป็นปัญหาต่อทั้งภาคธุรกิจและรัฐบาลจีน ซึ่งที่ผ่านมาพยายามส่งเสริมการแต่งงานเพื่อแก้ปัญหาอัตราการเกิดที่ลดลง เพราะประชากรที่หดตัวลงมีแนวโน้มที่จะฉุดการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
ตามข้อมูลของกระทรวงกิจการพลเรือน ในช่วงครึ่งแรกของปี 2024 มีคู่รักที่แต่งงานกันเพียง 3.43 ล้านคู่ ซึ่งน้อยกว่าช่วงเวลาเดียวกันเมื่อ 10 ปีก่อนถึงเกือบครึ่ง
ผู้คนบ่นในโซเชียลมีเดียว่า พวกเขาไม่สามารถสร้างครอบครัวได้ เพราะเป็นหนี้หรือบางส่วนต้องทำงานล่วงเวลาจนไม่มีเวลา
ผู้ใช้เวยปั๋วรายหนึ่งตั้งคำถามว่า “เมื่อคนที่เกิดหลังปี 1990 มีหนี้สินหลายหมื่นหยวน และเมื่อวัฒนธรรม '996007' กลายเป็นเรื่องปกติ คนเราจะมีอารมณ์ที่ไหนไปออกเดท”
“996” และ “007” หมายถึงชั่วโมงการทำงานประหนึ่งโรงงานนรกของกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ในจีน โดย “996” หมายถึงคนที่ทำงานหนักตั้งแต่ 9.00 น. ถึง 21.00 น. สัปดาห์ละ 6 วัน ส่วน “007” หมายถึงการทำงานทุกวันตั้งแต่เที่ยงคืนยันเที่ยงคืนของอีกวัน
ปัญหาเรื่องการสร้างครอบครัวต่อภาคธุรกิจสะท้อนชัดผ่านการนำเข้าเพชรสำหรับทำเครื่องประดับ ซึ่งในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ลดลงไปถึง 28% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2023
บริษัท De Beers ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์เพชรกล่าวในรายงานกึ่งรายปีประจำปี 2024 ว่า “ความท้าทายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในจีน” ได้ทำให้การฟื้นตัวที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต้องล่าช้าออกไป
เรียบเรียงจาก CNN