พลาสติก เป็นวัสดุแข็งแรงและราคาถูก ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้ทดแทนวัสดุจากธรรมชาติ และปัจจุบัน ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของคนยุคนี้
เมื่อพลาสติกปนเปื้อนแทรกซึมไปทั่วห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ ก็ทำให้เราได้รับชิ้นส่วนพลาสติกขนาดเล็ก เข้าสู่ร่างกายทุกวันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
"ปัญหาของไมโครพลาสติกคือมันไม่ย่อยสลาย หรือใช้เวลานานมากกว่าจะย่อยสลายในธรรมชาติ มันจึงอยู่ในสภาพแวดล้อม ในแหล่งน้ำ หรือไม่ก็ไหลลงมหาสมุทรและถูกปลากิน
และเมื่อเรากินปลาพวกนี้ เราก็กินไมโครพลาสติกพวกนี้ไปด้วย สิ่งมีชีวิตอื่นๆ ก็รับไมโครพลาสติกเข้าร่างกาย ซึ่งอาจกระทบกับระบบร่างกายของพวกมัน โดยสามารถขัดขวางการดูดซึมสารอาหารที่สำคัญได้"
"ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ไมโครพลาสติกถูกพบในน้ำที่เราดื่ม และน้ำจืด รวมถึงแหล่งน้ำที่ใช้ดื่มกินอย่างน้ำบาดาล ผลการศึกษาในปัจจุบัน หลายชิ้นถึงกับอธิบายลักษณะของอนุภาคเหล่านี้ และยืนยันว่ามันคือไมโครพลาสติก ฉะนั้น เรากำลังกินมันเข้าไป"
ข้อมูลจากสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ ชี้ว่าไมโครพลาสติกและนาโนพลาสติก เป็นชิ้นส่วนพลาสติกขนาดเล็กมากที่อาจมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เกิดจากการย่อยสลายหรือแตกหักของขยะพลาสติก
ไมโครพลาสติก จะมีขนาดตั้งแต่ 1 นาโนเมตรขึ้นไป แต่ไม่เกิน 5 มิลลิเมตร ในขณะที่เส้นผม 1 เส้นของมนุษย์ มีความกว้างอยู่ที่ 80,000 นาโนเมตร
ส่วนพลาสติกที่ขนาดเล็กยิ่งไปกว่านั้น คือ นาโนพลาสติก ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมองว่ายิ่งสร้างความกังวลต่อสุขภาพได้มากกว่าไมโครพลาสติก เนื่องจากอนุภาคเล็กๆ ของมัน สามารถแทรกซึมเข้าไปติดอยู่กับเซลล์ได้
งานวิจัยหลายชิ้นที่ทำในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ตรวจพบไมโครพลาสติกและนาโนพลาสติกสะสมอยู่ตามอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย ทั้งสมอง หลอดเลือด ปอด หัวใจ หรือแม้แต่ในรก และน้ำนมแม่
ข้อมูลล่าสุดจากงานวิจัยฉบับก่อนตีพิมพ์ ซึ่งถูกนำมาเผยแพร่ในโลกออนไลน์ เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา เผยให้เห็นว่า ตัวอย่างเนื้อเยื่อสมองมนุษย์ที่เก็บได้จากขั้นตอนการชันสูตรศพ เมื่อช่วงต้นปี 2024 มีเศษชิ้นส่วนพลาสติกเล็ก ๆ ปนเปื้อนอยู่มากกว่าตัวอย่างสมองที่เคยเก็บไว้เมื่อ 8 ปีก่อน
โดยทีมวิจัยทำการศึกษาและวิเคราะห์ตัวอย่างเนื้อเยื่อสมอง ไต และตับจากศพ 92 ศพ ที่ผ่านกระบวนการชันสูตร ระหว่างปี 2016-2024 เพื่อยืนยันสาเหตุการเสียชีวิต
ตัวอย่างเนื้อเยื่อสมองที่ทำการศึกษา เก็บมาจากเยื่อหุ้มสมองส่วนหน้า ซึ่งเป็นส่วนที่เชื่อมโยงกับการคิดและใช้เหตุผล และสมองส่วนนี้มักได้รับความเสียหาย หากคนๆนั้น มีภาวะสมองเสื่อมส่วนหน้า หรือเป็นอัลไซเมอร์ระยะรุนแรง
แมทธิว แคมเปน ศาสตราจารย์ด้านเภสัชศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนิวเม็กซิโก ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมวิจัยในครั้งนี้ ระบุว่า ความเข้มข้นของพลาสติกที่พบในเนื้อเยื่อสมองของคนเหล่านี้ ที่มีอายุราว 45-50 ปี อยู่ที่ 4,800 ไมโครกรัมต่อเนื้อเยื่อ 1 กรัม หรือคิดเป็น 0.5% ของน้ำหนักสมอง
เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับตัวอย่างของเนื้อเยื่อสมองที่เก็บได้เมื่อช่วงปี 2016 จะพบว่าตัวอย่างล่าสุดนี้ มีความเข้มข้นของพลาสติกสูงกว่าถึง 50% ซึ่งนั่นหมายความว่า สมองเราทุกวันนี้ ประกอบด้วยเนื้อเยื่อสมอง 99.5% ส่วนที่เหลือเป็นพลาสติก
ประกาศแล้ว! เพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว ข้าราชการ-ลูกจ้างประจำ
JIB แถลงขอโทษเหตุข้อมูลลูกค้ารั่วไหล ชี้สาเหตุโดนแฮ็กข้อมูลบริษัท
กางไทม์ไลน์ จัดตั้ง ครม.แพทองธาร ไม่เกินกลางเดือน ก.ย.
ศาสตราจารย์แคมเปน ระบุว่า นาโนพลาสติกพวกนี้ทะลุทะลวงเข้าไปในร่างกาย เข้าไปถึงสมอง โดยสามารถผ่านแนวกั้นระหว่างเลือดกับสมอง (Blood-brain barrier) หรือ BBB เข้าไปได้
หนึ่งในทฤษฎีที่อธิบายว่า ทำไมนาโนพลาสติกจึงแทรกซึมผ่านปราการด่านสำคัญ อย่าง BBB เข้าไปได้ คือ พลาสติกชอบไขมัน หรือลิพิด และมันน่าจะแฝงตัวไปกับไขมันที่เรากินเข้าไป โดยไขมันเหล่านี้ จะถูกส่งไปบำรุงอวัยวะส่วนต่างๆ รวมถึงสมอง ที่มีส่วนประกอบเป็นไขมันถึง 60%
โดยกรดไขมันที่จำเป็น อาทิ โอเมก้า 3 เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของเซลล์สมอง และเนื่องจากสารอาหารนี้ ร่างกายไม่สามารถผลิตได้เอง จึงต้องอาศัยรับจากอาหารและอาหารเสริมเท่านั้น
ทฤษฎีดังกล่าว ทำให้ "อาหาร" กลายเป็นผู้ร้ายเบอร์ 1 แต่จริงๆ แล้ว พลาสติกจิ๋วเหล่านี้ ยังสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ ผ่านทางการหายใจด้วย
ไมโครพลาสติกบางส่วนแพร่กระจายอยู่ในอากาศ ยกตัวอย่างเช่น เวลาที่เราขับรถไปบนถนน ช่วงที่ยางรถยนต์เสียดสีไปกับพื้นถนน ก็จะทำให้อนุภาคพลาสติกจำนวนหนึ่งฟุ้งกระจายในอากาศ
และหากคุณอาศัยอยู่ใกล้ชายฝั่ง อนุภาคพลาสติกบางส่วนที่อยู่ในทะเล ก็สามารถลอยขึ้นมาในอากาศได้ ผ่านการเคลื่อนที่ของคลื่นที่ซัดกระทบชายฝั่ง ฉะนั้น การรับประทานอาหารอาจเป็นช่องทางหลักในการรับพลาสติกเข้าสู่ร่างกายก็จริง แต่การหายใจเข้าไป ก็เป็นอีกช่องทางสำคัญที่มองข้ามไม่ได้
ฟีบี สเตเพิลตัน รองศาสตราจารย์ด้านเภสัชวิทยาและพิษวิทยาจากมหาวิทยาลัยรัตเกอร์ส ในรัฐนิวเจอร์ซีย์ ซึ่งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำวิจัยครั้งนี้ แสดงความเห็นว่า ยังไม่มีข้อมูลว่าชิ้นส่วนพลาสติกที่พบในสมอง อยู่ในรูปของของเหลวที่เข้าและออกจากสมองได้ หรือมันสะสมอยู่ในเนื้อเยื่อสมองและทำให้เกิดโรค ดังนั้น ทีมวิจัยจำเป็นจะต้องทำการศึกษาเพิ่มเติม เพื่อทำความเข้าใจว่าเศษพลาสติกเหล่านี้ทำปฏิกิริยาอย่างไรกับเซลล์ร่างกาย และเป็นพิษหรือไม่
ดร.ฟิลิป แลนดริแกน ศาตราจารย์ด้านกุมารแพทย์และชีววิทยา ผู้อำนวยการโครงการเพื่อการสาธารณสุขโลก จากวิทยาลัยบอสตัน ซึ่งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานวิจัยดังกล่าวเช่นกัน ระบุว่า เป็นเรื่องสำคัญที่จะไม่ทำให้ผู้คนตื่นตระหนกจนเกินไป เพราะความรู้ในด้านนี้ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม และการใช้ชีวิตแบบปลอดพลาสติกก็ยังทำไม่ได้จริงในยุคสมัยนี้
สภาเคมีอเมริกัน ซึ่งเป็นสมาคมอุตสาหกรรม ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นว่า งานวิจัยเรื่องไมโครพลาสติกมักได้รับความสนใจ แต่เมื่อเดือนที่แล้ว อย.สหรัฐฯ เพิ่งยืนยันว่า หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน ยังไม่สะท้อนว่าไมโครหรือนาโนพลาสติกที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหารจะมีความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์
คิมเบอร์ลี ไวส์ ไวต์ รองประธานกิจการด้านกฎระเบียบและวิทยาศาตร์ ของสภาเคมีอเมริกัน ยอมรับว่า งานวิจัยเป็นสิ่งสำคัญ เพราะช่วยให้เห็นว่าเรายังขาดความรู้แค่ไหนเกี่ยวกับผลกระทบของไมโครพลาสติก แม้ว่าวิธีการที่นักวิจัยใช้มักจะไม่ผ่านการตรวจสอบ ซึ่งอาจนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ไม่น่าเชื่อถือหรือทำให้เข้าใจผิดได้ ประกอบกับไมโครพลาสติกมีธรรมชาติที่ซับซ้อน และยังมีตัวแปรอีกมากมายที่อาจส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์ด้วย
แม้ผู้เชี่ยวชาญจะพยายามลดความตื่นตระหนกของผู้บริโภค แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า สารเคมีที่อยู่ในพลาสติก ถูกนำมาเชื่อมโยงกับความเสี่ยงในการก่อมะเร็งมาโดยตลอด
"โพลีเอทิลีน" ที่ใช้ในถุงพลาสติก และขวดเครื่องดื่ม ซึ่งไม่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ เป็นชนิดพลาสติกที่พบได้มากที่สุดในตัวอย่างเนื้อเยื่อมนุษย์ โดยพบที่สมอง มากกว่าที่ตับและไต
ข้อมูลจากกลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อม "Defend our Health" ชี้ว่า กระบวนการผลิต "โพลีเอทิลีน" เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดสารเคมีอันตรายอย่าง 1,4-dioxane (วัน-โฟร์ ไดออกเซน) ซึ่งสารดังกล่าวนี้เองที่สถาบันพิษวิทยาแห่งชาติสหรัฐฯ และองค์กรนานาชาติในการวิจัยสารก่อมะเร็ง (IARC) มองว่าอาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งในมนุษย์ได้
ดร.แลนดริแกน อธิบายว่า นาโนพลาสติกที่เข้าไปในเซลล์และเนื้อเยื่อของอวัยวะสำคัญ สามารถไปรบกวนการทำงานของเซลล์ และทำให้เกิดการสะสมของสารเคมีที่รบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อ ซึ่งงานวิจัยชี้ว่า สารเหล่านี้นำไปสู่ภาวะความผิดปกติของอวัยวะสืบพันธุ์ รวมถึงภาวะมีบุตรยากในผู้หญิง และความผิดปกติของจำนวนอสุจิในผู้ชายได้
แม้เราจะยังไม่รู้ข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับภัยของนาโนพลาสติก แต่เท่านี้ ก็ถือว่ามากพอจะกระตุ้นให้เราเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยง ซึ่งสิ่งที่ทำได้ง่ายที่สุด ก็คือ การลดใช้พลาสติกโดยไม่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นถุง แก้ว หรือขวดน้ำพลาสติกก็ตาม