ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ และหลายชาติตะวันตก เคยส่งเรือรบข้ามช่องแคบไต้หวันมาแล้ว โดยอ้างเรื่องเสรีภาพในการเดินเรือผ่านน่านน้ำสากล ซึ่งเรื่องนี้สร้างความไม่พอใจอย่างมากให้กับรัฐบาลปักกิ่ง ล่าสุดเยอรมนีเป็นอีกหนึ่งประเทศที่จะเดินเรือผ่านช่องแคบดังกล่าว ท่ามกลางบรรยากาศที่ตึงเครียดขึ้นในภูมิภาค
นิตยสาร แดร์ ชปีเกล (Spiegel) ของเยอรมนี รายงานว่า เรือรบ 2 ลำจะแล่นข้ามช่องแคบไต้หวัน ในช่วงกลางเดือนนี้ ซึ่งนี่จะเป็นครั้งแรกในรอบ 22 ปี ที่เยอรมนีส่งเรือรบเข้าสู่น่านน้ำดังกล่าว ที่มีความอ่อนไหวสูงทางการเมือง
อุตุฯ เตือนช่วง 13-19 ก.ย. นี้ เฝ้าระวัง “ฝนตกหนัก”
เช็กสถิติ 10 นัดหลัง บอลไทย พบ เวียดนาม ก่อนศึก LP BANK CUP 2024
รวบ “อิงฟ้า-อารยา” นางแบบสาวชื่อดัง แปะลิงก์ชวนเล่นพนัน!
ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนที่แล้ว สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า เรือรบเยอรมัน 2 ลำ ที่ถูกส่งเข้ามาประจำการในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก กำลังรอคำสั่งจากรัฐบาลเบอร์ลินว่าจะให้ใช้เส้นทางผ่านช่องแคบไต้หวันหรือไม่ ซึ่งเรียกเสียงประณามอย่างหนักจากกระทรวงต่างประเทศจีน ที่ย้ำว่าไต้หวันเป็นกิจการภายในของจีน
รายงานของแดร์ ชปีเกล ซึ่งอ้างอิงแหล่งข่าวที่ไม่ระบุตัวตน ชี้ว่า เยอรมนีจะไม่ทำหนังสือแจ้งรัฐบาลปักกิ่ง เรื่องเส้นทางเดินเรือของเรือรบทั้ง 2 ลำ เพื่อเน้นย้ำในหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่ว่า การแล่นเรือโดยสุจริตผ่านน่านน้ำสากลเป็นเรื่องปกติ ไม่จำเป็นต้องประกาศหรือแจ้งให้ประเทศใดทราบล่วงหน้า
พลเรือตรี แอกเซล ชูลซ์ ผบ.กองเรือ ยืนยันว่า การล่องเรือผ่านช่องแคบไต้หวันเป็นเรื่องปกติพอๆ กับการล่องเรือผ่านช่องแคบอังกฤษ และการตัดสินใจเดินเรือในเส้นทางดังกล่าว สะท้อนว่าเยอรมนียึดมั่นในกฎกติกาสากล และมุ่งคลี่คลายข้อพิพาทเรื่องดินแดนด้วยสันติวิธี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ต้องพิจารณาเรื่องสภาพอากาศในเวลานั้นร่วมด้วย
ความเคลื่อนไหวล่าสุดของกองทัพเรือเยอรมนี เป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการฝึกซ้อมในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรก เมื่อปี 2011 แต่ในครั้งนั้น ไม่ได้มีการแล่นเรือข้ามช่องแคบไต้หวันด้วย
ปฏิบัติการภายใต้ชื่อรหัส "Indo-Pacific Deployment" กินเวลาทั้งสิ้น 6 เดือน ระหว่างเดือน พ.ค. - ธ.ค. ซึ่งปีนี้ เรือรบ 2 ลำ ที่เข้าร่วมในภารกิจ คือ เรือฟริเกต บาเดน-เวิร์ทเทมแบร์ก (Baden-Württemberg) เรือรบที่ล้ำสมัยที่สุดของกองทัพเรือเยอรมนี และเรือส่งกำลังบำรุง แฟรงก์เฟิร์ต อัม ไมน์ (Frankfurt am Main) โดยเรือทั้ง 2 ลำจะแล่นไปแวะพักตามท่าเรือประเทศต่างๆ ที่เป็นพันธมิตรสำคัญ
แต่จุดหมายปลายทางที่เป็นไฮไลต์จริงๆ เพิ่งจะเริ่มขึ้นช่วงปลายเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา โดยหลังจากแวะพักที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลา 5 วัน เพื่อเข้าร่วมภารกิจซ้อมรบทางทหารกับญี่ปุ่น สหรัฐฯ ฝรั่งเศส และอิตาลี เรือรบทั้ง 2 ลำ ก็ออกเดินทางมุ่งหน้าสู่เมืองอินชอน ของเกาหลีใต้ และมีกำหนดจะเดินทางต่อไปยังกรุงมะนิลา ของฟิลิปปินส์ ซึ่งระหว่างเส้นทางนี้เอง ที่เรือรบทั้ง 2 ลำ จะแล่นผ่านช่องแคบไต้หวัน จากนั้นจะเดินทางไปสิงคโปร์ อินเดีย แล้วเดินทางกลับประเทศ
ทั้งนี้สำหรับช่องแคบไต้หวัน ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ เพราะมีเส้นแบ่งที่ละเอียดอ่อนระหว่างมณฑลฝูเจี้ยนของจีน กับเกาะไต้หวัน และยังเชื่อมทะเลจีนตะวันออกกับทะเลจีนใต้ โดยมีความกว้างมากถึง 180 กิโลเมตร ส่วนบริเวณที่แคบที่สุด มีความกว้างอยู่ที่ 130 กิโลเมตร
ช่องแคบไต้หวันถือเป็นหนึ่งในเส้นทางเดินเรือที่สำคัญของโลก เพราะเรือสินค้าลำใหญ่ๆ ต้องใช้เป็นทางผ่านจากเอเชียตะวันออกไปสู่ท่าเรือต่างๆ ทั่วโลก
ฝั่งจีนแผ่นดินใหญ่ อ้างอธิปไตยและสิทธิในการบริหารจัดการช่องแคบไต้หวัน ขณะที่ไต้หวันและบรรดาชาติตะวันตก แย้งว่า น่านน้ำดังกล่าวเป็นน่านน้ำสากล
โดยเยอรมนีไม่ใช่ประเทศแรก ที่พยายามพิสูจน์เรื่องเสรีภาพในการเดินเรือผ่านน่านน้ำสากล ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ แคนาดา และอีกหลายประเทศ เคยส่งเรือรบผ่านช่องแคบดังกล่าวมาแล้วหลายครั้ง
หลายปีมานี้ สหรัฐฯ และพันธมิตรตะวันตกได้ยกระดับปฏิบัติการที่เรียกว่า "เสรีภาพแห่งการเดินเรือ" ด้วยการส่งเรือล่องผ่านน่านน้ำที่เป็นพื้นที่พิพาท ทั้งช่องแคบไต้หวันและทะเลจีนใต้ โดยเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา กองทัพเรือสหรัฐฯ เพิ่งส่ง เรือพิฆาต ยูเอสเอส จอห์น ฟินน์ แล่นผ่านช่องแคบไต้หวัน เพื่อแสดงว่ายังยึดมั่นในเสรีภาพการเดินเรือของทุกประเทศ ซึ่งการเดินเรือครั้งนั้น เกิดขึ้นไม่นานหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวัน
ซึ่งฝั่งจีน ประณามว่านี่เป็นพฤติกรรมยั่วยุเพื่อบ่อนทำลายสันติภาพในภูมิภาค แต่เหตุการณ์ก็ผ่านพ้นไป โดยไม่มีความผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้น และก่อนหน้านั้น ในปี 2023 สหรัฐฯ และแคนาดา ก็เคยส่งเรือรบผ่านช่องแคบไต้หวันหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายที่เรือรบเยอรมนีข้ามช่องแคบไต้หวัน คือ เมื่อปี 2002 ซึ่งสถานการณ์ในเวลานั้น ยังไม่ตึงเครียดเท่านี้
แม้จีนจะยืนยันมาตลอดว่า ไต้หวันเป็นเพียงมณฑลหนึ่งที่แยกตัวออกไป และจะต้องกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของจีนในวันใดวันหนึ่ง แต่ท่าทีของจีนต่อไต้หวันไม่เคยแข็งกร้าวเท่ากับที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ในยุคของ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ซึ่งมีการยกระดับกดดันทั้งทางทหารและการเมือง ท่ามกลางความสัมพันธ์ที่ดำดิ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ปัจจุบัน ไต้หวันคือคนทรยศ ในสายตาของรัฐบาลปักกิ่ง เราจึงได้เห็นความพยายามที่จะป้องปราม โดยเฉพาะการเพิ่มกิจกรรมทางทหารรอบ ๆ เกาะไต้หวันตลอดช่วง 4 ปีที่ผ่านมา
ส่วนไต้หวัน ซึ่งปกครองตนเองด้วยระบอบประชาธิปไตย และได้ก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าแห่งอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ หรือ ชิป ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเทคโนโลยีที่เราใช้กันทุกวันนี้ ก็ส่งสัญญาณชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ว่าต้องการความเปลี่ยนแปลง และรัฐบาลไต้หวันชุดหลังๆ ก็มีท่าทีแข็งกร้าวมากขึ้น จนจีนต้องส่งคำขู่ว่า การเป็นเอกราช เท่ากับประกาศสงคราม
"จุดประสงค์ของเราคือ หวังให้เกิดการพัฒนาอย่างสันติตลอดช่องแคบไต้หวัน ไต้หวันเป็นประเทศที่รักความสงบ คนไต้หวันใจดี เราไม่ได้พยายามจะยึดแผ่นดินใหญ่กลับมา แต่เราก็ไม่ต้องการจะถูกปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์เช่นกัน เราต้องการจะอยู่อย่างมีประชาธิปไตย อิสรภาพ สิทธิมนุษยชน และหลักนิติธรรมต่อไป ใช่ไหม"
ดังนั้น การที่เยอรมนีตัดสินใจแล่นเรือข้ามช่องแคบไต้หวันในช่วงเวลานี้ จึงถูกจับตามองเป็นพิเศษ เนื่องจากทั้งจีนและไต้หวัน ต่างก็เป็นคู่ค้าสำคัญของเยอรมนี ซึ่งหากพิจารณาจากนโยบายต่างประเทศของเยอรมนีแล้ว จะทราบว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลเบอร์ลินพยายามรักษาสมดุลทางการเมืองกับทุกฝ่าย
นั่นคือ เยอรมนียอมรับหลักการจีนเดียว และรักษาความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัฐบาลปักกิ่งไว้ แต่ก็ปฏิเสธการบังคับจัดการไต้หวันของจีน ซึ่งคล้ายคลึงกับการวางตัวของสหรัฐฯ และชาติตะวันตกอื่นๆ
"เรากำลังติดตามความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นในช่องแคบไต้หวันด้วยความกังวล นั่นคือเหตุผลว่าทำไมมันถึงสำคัญกับฉันในระหว่างการหารือนี้ ด้วยความเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงความอ่อนไหวของคำถามที่เกี่ยวกับไต้หวัน เรายึดมั่นในนโยบายจีนเดียว และความขัดแย้งนี้จะต้องได้รับการแก้ไขด้วยสันติวิธีเท่านั้น การเปลี่ยนแปลงสถานะที่เป็นอยู่อย่างรุนแรงเพียงฝ่ายเดียวจะไม่เป็นที่ยอมรับของพวกเราชาวยุโรป"
ขณะเดียวกัน เยอรมนียังเพิ่มกิจกรรมทางทหารในภูมิภาค เพื่อเน้นย้ำเรื่องเสรีภาพในการเดินเรือระหว่างประเทศ ภายใต้หลักกฎหมาย คริสเตียน คัก (Christian Kaack) ผู้บัญชาการกองทัพเรือเยอรมนี ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว เจแปน ไทม์ส ของญี่ปุ่นว่า จีนต้องการควบคุมเส้นทางเรือที่สำคัญ ซึ่งเยอรมนีไม่อาจวางเฉยในเรื่องนี้ได้
โทบีอาส ลินด์เนอร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศของเยอรมนี ชี้ว่า ปฏิบัติการฝึกซ้อมในอินโด-แปซิฟิกของเยอรมนีครั้งนี้ ไม่เจอกระแสต้านจากผู้เชี่ยวชาญชาวเยอรมัน มากเท่ากับเมื่อปี 2021 ซึ่งปัจจัยสำคัญ น่าจะมาจากสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ใช่แค่ภัยคุกคามจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนเท่านั้น แต่เพราะเยอรมนีเข้าใจแล้วว่าเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศล้วนขึ้นอยู่กับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกด้วย ยกตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมเดินเรือและธุรกิจขนส่งสินค้า รวมถึงอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ที่มีความสำคัญในยุคสมัยแห่ง AI