การพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์เป็นภารกิจหรือเป้าหมายที่ยากมากอยู่แล้ว แต่ดูเหมือนว่าภารกิจนี้จะยากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะนักวิจัยพบว่า ยอดเขาเอเวอเรสต์กำลัง “สูงขึ้น” อย่างต่อเนื่อง
เทือกเขาหิมาลัยก่อตัวขึ้นเมื่อประมาณ 50 ล้านปีก่อน เมื่ออนุทวีปอินเดียชนเข้ากับแผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ยอดเขาเอเวอเรสต์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ระดับความสูง 8,849 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล กำลังมีความสูงที่เพิ่มขึ้นอีกเนื่องมาจากการกัดเซาะของ “แม่น้ำ” ที่อยู่ใกล้เคียง
ทีมวิจัยซึ่งเผยแพร่งานวิจัยในวารสาร Nature Geoscience กล่าวว่า กระบวนการดังกล่าวทำให้เอเวอเรสต์สูงขึ้น 15-50 เมตรในช่วง 89,000 ปีที่ผ่านมา และยังคงดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ศ.ไต้ จินเกิน จากมหาวิทยาลัยธรณีวิทยาจีน หนึ่งในทีมวิจัย กล่าวว่า “การศึกษาของเราแสดงให้เห็นว่า แม้แต่ยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกก็ยังมีกระบวนการทางธรณีวิทยาที่ดำเนินต่อไป ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อความสูงของยอดเขาได้อย่างชัดเจนในช่วงเวลาทางธรณีวิทยาที่ค่อนข้างสั้น”
ด่วน! ไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษา มีรายงานผู้เสียชีวิตหลายราย
ตรวจผลรางวัลสลากออมสินพิเศษ 2 ปี งวด 221,224-256 วันที่ 1 ตุลาคม 2567
ตรวจหวยงวดนี้ - ผลสลากกินแบ่งรัฐบาล งวดวันที่ 1 ตุลาคม 2567 ลอตเตอรี่ 1/10/67
ไต้ตั้งข้อสังเกตว่า เอเวอเรสต์เป็นยอดเขาที่มีความผิดปกติ เนื่องจากยอดเขาสูงกว่าภูเขาที่สูงที่สุดอื่น ๆ ในเทือกเขาหิมาลัยประมาณ 250 เมตร นอกจากนี้ ข้อมูลยังชี้ให้เห็นถึงความไม่สอดคล้องกันระหว่างอัตราการยกตัวของเอเวอเรสต์ในระยะยาวและระยะสั้น
“สิ่งนี้ทำให้เกิดคำถามว่า มีกลไกพื้นฐานใดที่ทำให้ระดับความสูงที่ผิดปกติของเอเวอเรสต์สูงขึ้นอีกหรือไม่” ไต้กล่าว เพื่อหาคำตอบ เขาและทีมวิจัยจึงสร้างแบบจำลองคอมพิวเตอร์ เพื่อสำรวจวิวัฒนาการของเครือข่ายแม่น้ำในเทือกเขาหิมาลัย
ผลการศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่า เมื่อประมาณ 89,000 ปีก่อน บริเวณตอนบนของแม่น้ำอรุณที่ตั้งอยู่ทางเหนือของเอเวอเรสต์ ซึ่งน่าจะไหลไปทางทิศตะวันออกบนที่ราบสูงทิเบต ได้รวมเข้ากับบริเวณตอนล่าง ผลลัพธ์ก็คือแม่น้ำอรุณทั้งหมดกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบแม่น้ำโคสี
ทีมวิจัยเสนอว่า การเปลี่ยนเส้นทางที่เกิดขึ้นส่งผลให้แม่น้ำถูกกัดเซาะมากขึ้นใกล้เอเวอเรสต์ และเกิดหุบเขาแม่น้ำอรุณ
แม่น้ำสายนี้เป็นแหล่งตะกอนที่มีปริมาณมาก เนื่องมาจากความลาดชันของภูเขาที่ ทำให้แม่น้ำไหลแรงและสามารถกัดเซาะหินและดินได้มากระหว่างทาง
ดร.แมทธิว ฟ็อกซ์ จากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน หนึ่งในทีมวิจัย กล่าวว่า “ในเวลานั้น น้ำจำนวนมหาศาลจะไหลผ่านแม่น้ำอรุณ ซึ่งจะทำให้ตะกอนถูกพัดพาและกัดเซาะชั้นหินแข็งได้มากขึ้น และกัดเซาะพื้นหุบเขาลงไปถึงก้นหุบเขา”
ขณะที่แม่น้ำอรุณไหลผ่านเทือกเขาหิมาลัย แม่น้ำอรุณจะกัดเซาะวัสดุต่าง ๆ ซึ่งในกรณีนี้คือพื้นแม่น้ำ ออกจากเปลือกโลก แรงที่เกิดขึ้นกับชั้นแมนเทิล ซึ่งเป็นชั้นถัดไปที่อยู่ใต้เปลือกโลก จะลดน้อยลง ทำให้เปลือกโลกที่บางลงโค้งงอและลอยขึ้น
นักวิจัยกล่าวว่า น้ำหนักที่ลดลงของเปลือกโลกเมื่อชั้นหินถูกกำจัดออกไป ทำให้แผ่นดินโดยรอบยกตัวขึ้น ซึ่งเป็นกระบวนการที่เรียกว่า “ไอโซสแตติกรีบาวด์” (Isostatic Rebound)
ทีมวิจัยประเมินว่า กระบวนการนี้ทำให้เอเวอเรสต์สูงขึ้นประมาณ 0.16 ถึง 0.53 มิลลิเมตรต่อปี ส่วนยอดเขาโลตเซ (Lhotse) และมาคาลู (Makalu) ที่อยู่ใกล้เคียงกัน ซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงเป็นอันดับ 4 และ 5 ของโลกตามลำดับ ก็พบกับกระบวนการยกตัวที่คล้ายคลึงกัน
ไต้บอกว่า “สิ่งนี้จะไม่ดำเนินต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด กระบวนการนี้จะดำเนินต่อไปจนกว่าระบบแม่น้ำจะเข้าสู่สถานะสมดุลใหม่”
อดัม สมิธ อีกหนึ่งในทีมวิจัย กล่าวว่า “มันก็เหมือนกับการโยนสินค้าลงจากเรือ เรือจะเบาลงและลอยสูงขึ้นเล็กน้อย ในทำนองเดียวกัน เมื่อเปลือกโลกมีน้ำหนักเบาลง ... มันก็จะลอยสูงขึ้นเล็กน้อยได้”
ด้าน ดร.ซู่ ฮั่น จากมหาวิทยาลัยธรณีวิทยาจีน หนึ่งในทีมวิจัย บอกว่า “การเปลี่ยนแปลงความสูงของยอดเขาเอเวอเรสต์ช่วยเน้นย้ำถึงลักษณะพลวัตของพื้นผิวโลกได้เป็นอย่างดี ... ปฏิสัมพันธ์ระหว่างการกัดเซาะของแม่น้ำอรุณและแรงดันของเปลือกโลกที่พุ่งขึ้นทำให้ยอดเขาเอเวอเรสต์มีแรงผลักดันและดันให้สูงขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น”
อ่านงานวิจัยฉบับเต็ม ที่นี่
เรียบเรียงจาก BBC / The Guardian