ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ แสดงความกังวลอย่างมาก เกี่ยวกับฐานทัพเรือ “เรียม” (Ream) ของกัมพูชา โดยเฉพาะเมื่อมีภาพถ่ายดาวเทียมแสดงให้เห็นเรือรบ 2 ลำที่แลดูคล้ายรบคอร์เวต A56 ของ “กองทัพเรือจีน”
นั่นทำให้เกิดความกลัวว่า จีนกำลังขยายฐานทัพของตนนอกเหนือจากเกาะ 3 แห่งที่เป็นข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ เพราะท่าเรือเรียมนี้จีนเป็นคนสร้างให้ โดยมีขนาดใหญ่พอที่จะรองรับเรือขนาดใหญ่ได้ และบนบกยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ที่จีนเป็นคนสร้างเช่นกัน ซึ่งสันนิษฐานว่ามีไว้สำหรับกองทัพเรือจีน
ทั้งนี้ รัฐบาลกัมพูชาปฏิเสธความเป็นไปได้ดังกล่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยอ้างถึงรัฐธรรมนูญของกัมพูชาที่ห้ามไม่ให้มีกองกำลังทหารต่างชาติประจำการอย่างถาวร และระบุว่าฐานทัพเรียมเปิดให้กองทัพเรือฝ่ายพันธมิตรทุกแห่งใช้
Seun Sam นักวิเคราะห์นโยบายจากราชบัณฑิตยสถานแห่งกัมพูชา กล่าวว่า“โปรดเข้าใจว่า นี่คือฐานทัพของกัมพูชา ไม่ใช่ของจีน กัมพูชามีขนาดเล็กมาก และศักยภาพทางการทหารของเรามีจำกัด เราจึงต้องการการฝึกอบรมเพิ่มเติมจากเพื่อนนอกประเทศ โดยเฉพาะจากจีน”
อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายไม่เชื่อถือในคำอธิบายดังกล่าวนัก
พระราชทานเพลิงศพ ครู-นักเรียน 23 ร่างเหยื่อรถบัสไฟไหม้ ประชาชนแห่อาลัยแน่นโรงเรียน
รวบ “เชฟอ้อย” คดียักยอกเพชรแฟนคลับสูญเงิน 2 ล้าน!
นักฟิสิกส์ควอนตัมพบเรื่องประหลาด ปรากฏการณ์ “เวลาติดลบ”
ประเทศจีนมีจำนวนเรือรบในกองทัพเรือมากกว่าสหรัฐฯ แต่ปัจจุบันจีนมีฐานทัพทหารในต่างแดนเพียงแห่งเดียว คือที่จิบูตีในแอฟริกา ซึ่งสร้างขึ้นในปี 2016 ในทางตรงกันข้าม สหรัฐฯ มีฐานทัพประมาณ 750 แห่ง ซึ่งหนึ่งในนั้นอยู่ในจิบูตีเช่นกัน และอีกหลายแห่งอยู่ในประเทศใกล้กับจีน เช่น ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้
อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ เชื่อว่า ความไม่สมดุลกำลังเปลี่ยนไป เนื่องจากความทะเยอทะยานที่จีนประกาศไว้ว่าจะเป็นมหาอำนาจทางการทหารระดับโลก นอกจากนั้น ยังมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในต่างประเทศผ่านโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ซึ่งตามกฎหมายของจีนจะต้องสร้างขึ้นตามมาตรฐานทางการทหาร
บางคนในสหรัฐฯ คาดการณ์ว่า ในที่สุดจีนจะมีเครือข่ายฐานทัพทั่วโลก หรือท่าเรือพลเรือนที่สามารถใช้เป็นฐานทัพได้ และหนึ่งในฐานทัพแรก ๆ เหล่านี้คือฐานทัพเรือเรียม ซึ่งตั้งอยู่บริเวณปลายสุดด้านใต้ของกัมพูชา
ความจริงแล้ว กัมพูชาเคยได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ มากกว่าในช่วงก่อนปี 2017 แต่ได้ลดความช่วยเหลือลงหลังจากนั้น เมื่อพรรคฝ่ายค้านหลักของกัมพูชาถูกสั่งห้าม และผู้นำของพรรคถูกเนรเทศหรือจำคุก
รัฐบาลกัมพูชาซึ่งพึ่งพาความช่วยเหลือและการลงทุนจากจีนมากขึ้นเรื่อย ๆ อยู่แล้ว ได้เปลี่ยนพันธมิตรอย่างกะทันหัน โดยยกเลิกการซ้อมรบร่วมกับสหรัฐฯ ที่เคยจัดเป็นประจำ และเปลี่ยนไปใช้การซ้อมรบที่เรียกว่าโกลเดนดรากอน (Golden Dragon) ซึ่งจัดร่วมกับจีนในปัจจุบันแทน
ในปี 2020 อาคาร 2 หลังที่ได้รับทุนจากสหรัฐฯ ในเมืองเรียมถูกทำลายลง และจีนได้เริ่มขยายสิ่งอำนวยความสะดวกในพื้นที่ดังกล่าวอย่างกว้างขวางแทน
เมื่อปลายปี 2023 ท่าเทียบเรือแห่งใหม่ก็ถูกสร้างขึ้น ท่าเทียบเรือนี้มีความยาวเกือบ 363 เมตร ซึ่งแทบจะเหมือนกับท่าเทียบเรือที่ฐานทัพในจิบูตีทุกประการ และยาวพอที่จะรองรับเรือบรรทุกเครื่องบินที่ใหญ่ที่สุดของจีนได้ โดยมีเรือคอร์เวต A56 จำนวน 2 ลำจอดอยู่ และจอดอยู่เกือบทั้งปีที่ผ่านมา
กัมพูชาอ้างว่า เรือเหล่านี้จอดอยู่เพื่อการฝึกและเตรียมพร้อมสำหรับการฝึกซ้อมโกลเดนดรากอนในปีนี้ นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า จีนกำลังสร้างเรือรบ A56 ลำใหม่2 ลำสำหรับกองทัพเรือของตนเอง และยืนกรานว่าการประจำการของจีนในเรียมนั้นไม่ถาวร จึงไม่ถือเป็นฐานทัพ
อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ไม่ได้หยุดยั้งเจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ จากการแสดงความกังวลต่อการขยายฐานทัพ ซึ่งภาพถ่ายดาวเทียมแสดงให้เห็นว่า นอกจากท่าเทียบเรือใหม่แล้ว ยังมีอู่แห่งใหม่ โกดังสินค้าใหม่ และสิ่งที่ดูเหมือนสำนักงานบริหารและที่พักอาศัยพร้อมสนามบาสเกตบอล 4 สนาม
ในปี 2019 Wall Street Journal รายงานเกี่ยวกับข้อตกลงระหว่างกัมพูชาและจีนในการเช่าพื้นที่ 77 เฮกตาร์ของฐานทัพเป็นเวลา 30 ปี ซึ่งรวมถึงการประจำการของบุคลากรทางทหารและอาวุธด้วย
รัฐบาลกัมพูชาปฏิเสธรายงานดังกล่าวว่าเป็นข่าวปลอม แต่ที่น่าสังเกตก็คือ จนถึงขณะนี้ มีเพียงเรือรบจีนเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้จอดที่ท่าเทียบเรือแห่งใหม่นี้ เรือพิฆาตญี่ปุ่น 2 ลำที่มาเยือนเมื่อเดือน ก.พ. ได้รับคำสั่งให้จอดที่เมืองสีหนุวิลล์ที่อยู่ใกล้เคียงแทน
แต่ฐานทัพของจีนในเรียมที่ปากอ่าวไทยนั้นสร้างความกังวลให้กับเพื่อนบ้านของกัมพูชาอย่างไทยและเวียดนาม เพราะเมื่อรวมกับฐานทัพอื่น ๆ ในทะเลจีนใต้ ทำให้อาจถูกมองได้ว่า จีนกำลังพยายามที่จะปิดล้อมชายฝั่งของเวียดนาม
เช่นเดียวกับฟิลิปปินส์ เวียดนามโต้แย้งการอ้างสิทธิ์ของจีนในเกือบทุกเกาะในทะเลจีนใต้ และกองกำลังของเวียดนามก็เคยปะทะกับจีนมาแล้วในอดีต
ขณะที่เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงแห่งชาติของไทยเองก็แสดงความกังวลเป็นการส่วนตัวต่อความคิดที่จะสร้างฐานทัพของจีนไว้ทางใต้ของท่าเรือหลักของกองทัพเรือไทยในสัตหีบ นอกจากนี้ ไทยและกัมพูชายังคงมีข้อพิพาทเรื่องดินแดนที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอื่นอยู่อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม เวียดนามและไทยไม่น่าจะแสดงข้อร้องเรียนเหล่านี้ต่อสาธารณะ เพราะไทยต้องการหลีกเลี่ยงการสร้างคลื่นลูกใหญ่ในความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญกับจีน ในขณะที่เวียดนามต้องการหลีกเลี่ยงการปลุกปั่นความรู้สึกต่อต้านเวียดนามในกัมพูชา และหลีกเลี่ยงการแสดงความไม่พอใจต่อจีน
ในขณะเดียวกัน นักยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ และอินเดียกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในอนาคตของฐานทัพจีนในมหาสมุทรอินเดีย เช่น ท่าเรือฮัมบันโตตาในศรีลังกา ซึ่งบริษัทของรัฐจีนได้เช่าเป็นเวลา 99 ปีในปี 2017 หรือท่าเรือกวาดาร์ในปากีสถาน ซึ่งได้รับการพัฒนาใหม่ด้วยเงินทุนจากจีนเช่นกัน
เรียบเรียงจาก BBC