หินอุกกาบาต “แบล็กบิวตี้” (Black Beauty) ถูกพบในทะเลทรายซาฮาราในปี 2011 เชื่อว่าหลุดมาจากพื้นผิวดาวอังคารหลังชนกับเทหวัตถุเมื่อหลายล้านปีก่อน ถือเป็นตัวอย่างสำคัญชิ้นหนึ่งที่นักวิทยาศาสตร์ใช้ศึกษาเกี่ยวกับดาวอังคารยุคโบราณตลอดหลายปีที่ผ่านมา
ล่าสุดงานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสาร Science Advances ไม่นานมานี้ ซึ่งให้ความสนใจกับผลึกแร่เพทายที่อยู่ภายในอุกกาบาต ได้พบหลักฐานใหม่ที่อาจเปลี่ยนความคิดที่เรามีเกี่ยวกับดาวอังคาร
รู้จักโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” พัก-ยกเว้น ดอกเบี้ย 3 ปี ครอบคลุมลูกหนี้ 1.9 ล้านราย
ภรรยา “สจ.โต้ง” รับศพสามี เผยไม่รู้ปมขัดแย้ง-วันเกิดเหตุรู้แค่ไปธุระ!
ปธน.เกาหลีใต้แถลงยืนยัน กฎอัยการศึกเป็นการปกป้องประเทศและประชาธิปไตย
แอรอน คาโวซี และทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคอร์ทิน ในออสเตรเลีย พบว่า อุกกาบาตก้อนนี้กลายเป็นผลึกในหินหนืดที่อยู่ลึกจากพื้นผิวดาวอังคารลงไปมาก และมีร่องรอยของเหล็ก อลูมิเนียม และโซเดียม เรียงกันเป็นชั้นบาง ๆ ในรูปแบบเดียวกัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเคยมีน้ำร้อนบนดาวอังคาร ก่อนที่จะกลายเป็นดาวที่เวิ้งว้างและมีชั้นบรรยากาศเบาบางมาก
คาโวซีระบุว่า เพทายลักษณะนี้จะเกิดขึ้นในกระบวนการไฮโดรเทอร์มอลหรือระบบน้ำพุร้อนระหว่างการเกิดหินหนืดเท่านั้น
การวิเคราะห์ของทีมนักวิจัยยังแสดงให้เห็นว่าดาวอังคารมีน้ำหลังจากก่อกำเนิดได้เพียง 100 ล้านปี ซึ่งชี้ว่า ดาวอังคารอาจมีสภาพแวดล้อมที่รองรับสิ่งมีชีวิตได้ ณ จุดหนึ่งในประวัติศาสตร์ของดาว
ด้าน เอวา สเคลเลอร์ นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในงานวิจัย ระบุว่า การค้นพบนี้ชี้ว่า ดาวอังคารมีช่วงเวลาหนึ่งที่ไอน้ำถูกปล่อยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศก่อนที่แม่น้ำและทะเลสาบจะก่อตัว ซึ่งเป็นยุคโบราณที่มีอายุมากถึง 4,500 ล้านปี ดังนั้น สิ่งนี้จึงเป็นหลักฐานที่บ่งชี้ถึงพฤติกรรมของน้ำที่เก่าแก่ที่สุดบนดาวอังคาร
การค้นพบนี้เปิดโอกาสใหม่ในการทำความเข้าใจว่า ดาวอังคารเคยเอื้อต่อการอยู่อาศัยในอดีตอันไกลโพ้นหรือไม่ นอกจากนี้ ยังสนับสนุนข้อมูลที่ได้จากยานอวกาศหลายลำที่กำลังโคจรรอบดาวอังคารและสำรวจบนพื้นผิว ซึ่งพบหลักฐานเกี่ยวกับแม่น้ำและทะเลสาบที่เคยมีอยู่บนพื้นผิวของดาวเคราะห์ดวงนี้
อย่างไรก็ตาม คำถามสำคัญที่ยังไม่มีคำตอบคือ น้ำบนดาวอังคารมีพัฒนาการอย่างไรเมื่อเวลาผ่านไปและเริ่มหายไปเมื่อไหร่