โศกนาฏกรรม “เจจูแอร์” เรียกได้ว่าเป็นอุบัติเหตุสุดสะเทือนใจส่งท้ายปี 2024 ที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งบนหน้าประวัติศาสตร์เกาหลีใต้ โดยเหตุการณ์นี้มีผู้เสียชีวิตนับร้อยราย และมีผู้รอดชีวิตเพียง 2 รายเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีผู้โดยสารที่เป็นคนไทยอยู่บนเครื่องบินลำดังกล่าวด้วย ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวมาพร้อมคำถามและข้อสันนิษฐานมากมายว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง
จากสุวรรณภูมิ บินตรงสู่ “มูอัน”
“เจจูแอร์” เป็นสายการบินราคาประหยัดของเกาหลีใต้ที่เริ่มให้บริการหลายประเทศทั่วทวีปเอเชียมาตั้งแต่ปี 2005 โดยมีหนึ่งในประเทศที่ให้บริการคือ ประเทศไทย ในวันที่ 29 ธันวาคม เวลา 02.11 น. เครื่องบินรุ่นโบอิง 737-800 ของสายการบินเจจูแอร์ เที่ยวบินที่ 7C 2216 บินออกจากสนามบินสุวรรณภูมิ กรุงเทพฯ บินตรงไปยังสนามบินนานาชาติมูอัน ที่จังหวัดจอลลานัมโด เกาหลีใต้ เที่ยวบินดังกล่าวมีผู้โดยสารทั้งหมด 175 คน แบ่งเป็นชาวเกาหลีใต้ 173 คน และชาวไทย 2 คน พร้อมลูกเรือทั้งหมด 6 คน รวมทั้งหมด 181 คน
อุบัติเหตุไม่คาดฝัน
เครื่องบินลำดังกล่าว เดินทางมาถึงสนามบินนานาชาติมูอันในเวลา 09.01 น. และเตรียมลงจอด ทว่ากลับต้องเผชิญกับเหตุชนฝูงนก (Bird Strike) ทำให้รบกวนการลงจอด และคาดว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้ระบบลงจอดไม่สามารถใช้งานได้ นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าเครื่องยนต์ด้านขวาเกิดควันพุ่งและไฟลุกไหม้ออกมา ทำให้นักบินพยายามลงจอดอีกรอบ
ทว่าการลงจอดในครั้งนี้ เครื่องบินพุ่งตัวด้วยความเร็วสูง ล้อไม่กางออก เบรกไม่ทำงาน ทำให้ตัวเครื่องไถลไปกับรันเวย์กระทั่งไปชนเข้ากับรั้วแผงกั้นรันเวย์ ทำให้ตัวเครื่องบินเสียหายและไฟลุกท่วมตัวเครื่องในทันที เวลาขณะนั้นอยู่ที่ 09.07 น.
รายงานความสูญเสีย
หลังเกิดเหตุ สำนักข่าวยอนฮัปของเกาลีใต้ รายงานว่า กรมดับเพลิงของเกาหลีใต้รีบรุดเข้าไปยังที่เกิดเหตุ พร้อมรถดับเพลิง 80 คัน นักดับเพลิง 490 คน จนสามารถควบคุมเพลิงได้สำเร็จในเวลา 09.47 น. มีรายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตครั้งแรกอยู่ที่ 28 ราย ก่อนที่ต่อมาเวลา 09.39 น. รายงานยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 47 ราย โดยเจ้าหน้าที่กู้ภัยเร่งเข้าช่วยเหลือผู้ที่อยู่ในส่วนหางของเครื่อง จนพบผู้รอดชีวิต 2 ราย เป็นพนักงานต้อนรับชาย 1 ราย และหญิง 1 ราย
โดยพนักงานต้อนรับชาย มีนามสกุลว่า อี (Lee) อายุ 33 ปี หัวไหล่ด้านซ้ายร้าว บาดเจ็บที่ศีรษะ แต่ยังครองสติไว้ได้ ชีพจรปกติ และสามารถเดินได้ ขณะที่พนักงานหญิงที่รอดชีวิต มีนามสกุลว่า กู (Gu) อายุราว 20 ปี ไม่ได้รับบาดเจ็บหนักเช่นเดียวกัน ขณะที่ผู้โดยสารอื่น ๆ มีรายงานอัปเดตเวลา 14.15 น. ว่ายืนยันการเสียชีวิตแล้ว 124 ราย ส่วนผู้สูญหายมีการสันนิษฐานว่าเสียชีวิตแล้ว
ขณะที่ผู้สื่อข่าวได้โทรไปสอบถามคนไทยที่อาศัยอยู่ในเกาหลีใต้ ณ เมืองเทจอน ทราบว่ามีคนไทยจำนวนมากในเกาหลีใต้ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด และทราบว่าหนึ่งในผู้โดยสารที่เสียชีวิตชื่อเล่น เหมย อายุ 22 ปี กำลังศึกษาอยู่ที่มหาลัยกรุงเทพ ชั้นปีที่ 4 โดยทราบว่าในการเดินทางครั้งนี้เพื่อที่จะไปเที่ยวหาแม่ที่ประเทศเกาหลีใต้
ผู้สื่อข่าวได้สอบถามแม่น้องเหมย ทราบว่าได้มีสายการบินเจจู โทรมาบอกว่าตอนนี้ยังหาร่างน้องเหมยไม่พบเพราะถูกไฟคลอกเกรียม และผู้เป็นแม่ได้ส่งแชตขณะที่น้องเหมยส่งคลิปกำลังจะขึ้นเครื่องที่สุวรรณภูมิเมื่อเวลาประมาณ 00.24 น.
ความเคลื่อนไหวหลังเกิดเหตุ
หลังเกิดเหตุ บริษัทท่าอากาศยานเกาหลี ประกาศยกเลิกเที่ยวบินทั้งหมดที่เตรียมเดินทางมายังท่าอากาศยานนานาชาติมูอัน โดย ชเว ซังม็อก รักษาการประธานาธิบดีเกาหลีใต้ เดินทางมาจุดเกิดเหตุ พร้อมประกาศให้เจจูเป็นเขตภัยพิบัติพิเศษ และให้คำมั่นว่าจะทำการสืบสวนอย่างเต็มที่ถึงสาเหตุการตกของเครื่องบินที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต
ขณะที่ จู จองวัน ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายการบินของกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน และการขนส่งเกาหลีใต้ กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ทางการจะสอบสวนอย่างละเอียด ซึ่งทันทีที่สามารถจัดการสถานที่เกิดเหตุได้แล้ว เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบสาเหตุ และจะสรุปผลให้ทราบทันทีที่การสอบสวนเสร็จสิ้น
ซึ่งหนึ่งในข้อสันนิษฐานว่าเป็นเหตุส่งเสริมให้เกิดโศกนาฏกรรมในครั้งนี้ขึ้น คือ การที่รันเวย์ของสนามบินนานาชาติมูอันนั้นค่อนข้างสั้น ซึ่งเขาได้ปฏิเสธข้อสันนิษฐานดังกล่าว โดยระบุว่า รันเวย์ของสนามบินนานาชาติมูอันมีความยาว 2.8 กิโลเมตร และเคยถูกใช้งานโดยเครื่องบินประเภท C หรือเครื่องบินที่มีปีกกว้างระหว่าง 24 - 36 เมตร ตามการกำหนดมาตรฐานโดยองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)
ซี่งเครื่องบินที่เกิดเหตุ เป็นเครื่องบินรุ่นโบอิง 737-800 ซึ่งมีปีกกว้าง 35.8 เมตร ตรงตามมาตรฐานที่กำหนด เพราะฉะนั้นข้อสันนิษฐานดังกล่าวจึงสามารถสรุปได้ว่าไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมครั้งนี้ขึ้น
ต่อมา คิม อีแบ ประธานผู้บริหารเจจูแอร์ แถลงข่าวขอโทษเกี่ยวกับเหตุการณ์ในครั้งนี้ พร้อมช่วยเหลือผู้ประสบภัยและครอบครัวของผู้เสียชีวิตอย่างเต็มที่
ค้นพบกล่องดำ
เวลาประมาณ 14.08 น. มีการเปิดเผยบทสนทนาการส่งข้อความขอความช่วยเหลือจากเครื่องบินไปยังหอควบคุม เกี่ยวกับเหตุหลัง Bird Strike โดยนักบินประกาศ “เมย์เดย์” ทันทีว่าขอลงฉุกเฉิน และขอลงจอดทันที ในเวลา 9.03 น. แต่ก็มาเจอปัญหาอีกอย่างทันที คือ “ระบบแลนดิ้งเกียร์” ไม่ทำงาน ก่อนที่หอควบคุมจะสั่งให้เครื่องบินลงจอดในทิศทางตรงข้ามบนรันเวย์หมายเลข 19 ซึ่งนักบินได้ปฏิบัติตามคำแนะนำ และเครื่องบินได้พุ่งชนอุปกรณ์นำทางที่พื้นก่อนพุ่งชนรั้วอย่างรุนแรง
ก่อนที่ต่อมา เจ้าหน้าที่จากกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน และการขนส่งเกาหลีใต้ ได้ค้นพบ “กล่องดำ” สำหรับบันทึกข้อมูลการบินแล้ว แต่ยังไม่พบอุปกรณ์บันทึกเสียง โดยเจ้าหน้าที่จะนำกล่องดำไปให้เจ้าหน้าที่สอบสวนความปลอดภัยทางการบินเพื่อสืบสวนต่อไป ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาอีกหลายปี
ที่มา: CNN / The Korea Herald / Yonhap