“ปลาตกเบ็ดหลังค่อม” ขึ้นมาเหนือผิวน้ำ เพื่อตามหาแสงสุดท้ายจริงหรือ?

โดย PPTV Online

เผยแพร่

จากกรณีพบปลาแองเกลอร์หรือปลาตกเบ็ดปรากฏตัวใกล้ผิวน้ำ ซึ่งผิดวิสัยปลาน้ำลึก ทำให้เกิดสมมติฐานว่ามันขึ้นมาเพื่อดูแสงสุดท้าย เป็นความจริงหรือไม่?

เมื่อวันที่ 26 ม.ค. ที่ผ่านมา มีรายงานการพบเห็น "ปลาตกเบ็ดหลังค่อม" (Melanocetus johnsonii) ขึ้นมาบริเวณใกล้ผิวน้ำใกล้ชายฝั่งหมู่เกาะคานารี ประเทศสเปน ซึ่งเป็นภาพที่พบเห็นได้ยาก เนื่องจากปลาชนิดนี้อาศัยอยู่ในน้ำลึกระหว่าง 200 ถึง 2,000 เมตรในทะเลเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน

สาเหตุที่ปลาชนิดนี้ปรากฏตัวบนผิวน้ำยังไม่ชัดเจน ทไให้เกิดสมมติฐานไปต่าง ๆ นานาว่า ปลาตัวนี้อาจจะป่วย หรือกำลังว่ายตามกระแสลมขึ้น หรือกำลังหลบหนีจากผู้ล่า หรือแม้กระทั่งมีคนเชื่อว่ามันกำลังจะไปดู "แสงสุดท้าย"

คอนเทนต์แนะนำ
โอกาสดาวเคราะห์น้อย “2024 YR4” ชนโลกใน 7 ปีข้างหน้าเพิ่มเป็น 3.1% แล้ว
เปิดคลิปวินาที “เดลตาแอร์ไลน์ส” พลิกคว่ำหงายท้องขณะลงจอดที่แคนาดา

ปลาแองเกลอร์ขึ้นมาเหนือผิวน้ำ เพื่อตามหาแสงสุดท้ายจริงหรือ? AFP/HANDOUT
ภาพปลาตกเบ็ดหลังค่อมที่ปรากฏตัวใกล้ผิวน้ำบริเวณหมู่เกาะคานารีประเทศสเปน เมื่อ 26 ม.ค. 2025

แล้วเหตุผลที่แท้จริงคืออะไรกันแน่?

ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกันก่อนว่า ปลาแองเกลอร์ (Angler fish) หรือ ปลาปีศาจทะเลดำ ( Melanocetus Johnsonii ) หรือ ปลาตกเบ็ด เป็นสิ่งมีชีวิตที่น่าสนใจจากลักษณะที่แปลกประหลาดไม่เหมือนใคร ด้วยติ่งเนื้อเรืองแสงที่พบได้จากปลาแองเกลอร์เพศเมียเท่านั้น

โดยคำว่า แองเกลอร์ ในชื่อของปลาชนิดนี้ มีความหมายว่า ผู้ตกปลา มาจากวิธีการล่าเหยื่อ ที่ใช้ติ่งเนื้อเรืองแสงที่คล้ายเบ็ดตกปลาซึ่งอยู่บนยอดกระดูกสันหลังเคลื่อนไหวไปมาให้ดูเหมือนเหยื่อ เพื่อล่อเหยื่อให้เข้ามาใกล้ ๆ ส่วนใหญ่เหยื่อของปลาชนิดนี้มักเป็นกุ้งและปลา

ติ่งเนื้อเรืองแสงของปลาแองเกลอร์นั้น เรียกว่า คันเบ็ด (illicium) ซึ่งส่วนที่เรืองแสงนั้น เรียกอีกอย่างว่า เอสคา (esca) สาเหตุที่บริเวณนั้นสามารถเรืองแสงได้มาจากแบคทีเรียที่ชื่อว่า วิบริโอฟิสเชอรี (Vibrio fischeri) ที่อาศัยอยู่รอบ ๆ ติ่งเนื้อและเกิดการทำปฏิกิริยากับออกซิเจน จึงสามารถเรืองแสงได้

ปลาแองเกลอร์ คือ ปลาใต้ทะเลน้ำลึกที่อาศัยอยู่ลึกลงไปใต้ผิวน้ำมากกว่า 200 เมตร ซึ่งเป็นความลึกที่แสงอาทิตย์ไม่สามารถส่องไปถึงได้ ส่วนใหญ่พบตามบริเวณมหาสมุทรแอตแลนติกและแอนตาร์กติก โดยปลาชนิดนี้มีมากกว่า 200 ชนิด โดยทั่วไปมักมีสีเทาเข้มหรือสีน้ำตาลเข้ม มีลักษณะหัวใหญ่ ฟันแหลมคมเอียงโน้มเข้าไปข้างในปาก

ปลาแองเกลอร์ มีวิธีการสืบพันธุ์ที่น่าสนใจ คือ การสืบพันธุ์แบบรวมร่าง หรือการสืบพันธุ์แบบปรสิต โดยปลาแองเกลอร์เพศผู้นั้นมีขนาดเล็กกว่าปลาแองเกลอร์เพศเมีย และอาจมีดวงตากับจมูกที่ไม่ค่อยดี จึงทำให้ตรวจหาฟีโรโมนของปลาแองเกลอร์เพศเมียได้ยาก

ดังนั้น เมื่อเจอปลาแองเกลอร์เพศเมีย ปลาแองเกลอร์เพศผู้จะเข้าไปกัดกินผิวหนังและปล่อยเอนไซม์ที่ย่อยสลายดวงตาและอวัยวะภายในจนเหลือแต่อวัยวะสืบพันธุ์ และหลอมรวมเข้ากับปลาแองเกลอร์เพศเมียที่ระดับเส้นเลือด เพื่อพึ่งพาปลาแองเกลอร์เพศเมียให้ตนอยู่รอด โดยรับสารอาหารผ่านทางระบบไหลเวียนโลหิตที่ใช้ร่วมกันและจะให้ตัวอสุจิกับเพศเมีย

เนื่องจากการรวมกัน ทำให้การมีเพศสัมพันธ์ง่ายขึ้น เมื่อปลาแองเกลอร์เพศเมียพร้อม ปลาแองเกลอร์เพศผู้จะวางไข่ทันที และปลาแองเกลอร์บางชนิดหากหาเพศเมียไม่พบ จะเปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นเพศเมียแทนพร้อมกับขยายร่างให้ใหญ่ขึ้น อีกทั้งในความเป็นจริงแล้วนั้นปลาแองเกลอร์เพศผู้ที่หาปลาแองเกลอร์เพศเมียได้ง่าย ก็จะผสมพันธ์แบบปกติ

อีกความอัศจรรย์ของปลาแองเกลอร์คือ จากระบบการสืบพันธุ์แบบปรสิตนั้น ทำให้ปลาแองเกลอร์ตัวผู้ 8 ตัวสามารถอยู่ร่วมกันภายในร่างของปลาแองเกลอร์ตัวเมียตัวเดียวได้ และปลาแองเกลอร์ตัวผู้ในบางสายพันธุ์อาจจะมีได้แค่เพศผู้ตัว 1 ต่อเพศเมีย 1 ตัว

สาเหตุที่ปลาแองเกลอร์ขึ้นมาเหนือผิวน้ำ

การปรากฎตัวเหนือผิวน้ำของปลาตกเบ็ดหลังค่อมสร้างความสงสัยให้แก่ผู้คนมากมายที่พบเห็น และผู้คนบางกลุ่มก็คิดเห็นว่าสาเหตุที่ปลาแองเกลอร์ลอยขึ้นมาเหนือผิวน้ำนั้น มาจากการที่อยากเห็นแสงอาทิตย์เป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งจะใช่สาเหตุที่แท้จริงหรือไม่นั้น อาจต้องมองความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญหลายๆคนเกี่ยวกับสาเหตุของเหตุการณ์ดังกล่าว

ทางนักวิจัยกลุ่มสำรวจฉลาม ระบุว่า ยังไม่สามารถหาสาเหตุที่แท้จริงได้ ว่าทำไมปลาแองเกลอร์ถึงปรากฏตัวเหนือผิวน้ำผิวน้ำ แต่นักวิทยาศาสตร์บางคนมีการคาดเดาว่า ปลาสายพันธุ์นี้บางตัว มักจะขึ้นมาที่ผิวน้ำในช่วงเหตุการณ์สภาพอากาศเอลนีโญในบางครั้ง ซึ่งเป็นการลดปริมาณน้ำเย็นที่ขึ้นมาจากชายฝั่งอเมริกาเหนือ

ขณะที่นักชีววิทยาทางทะเล ไลอา เวเลอร์ กล่าวกับสำนักข่าว EFE ว่า "ขณะกำลังกลับเข้าท่าเรือ ฉันเห็นอะไรดำ ๆ ในทะเลที่ไม่เหมือนพลาสติกหรือขยะ มันดูแปลกประหลาด จึงใช้เวลากับสิ่ง ๆ นั้นไป 2 – 3 ชั่วโมง มันอยู่ในสภาพที่แย่มากและอยู่ได้แค่ไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น ... อาจมีเหตุผลนับพันว่าทำไมสิ่งๆนั้นถึงอยู่ที่นั่น"

ส่วน ดร.เอเลนา มาร์ติเนซ นักชีววิทยาทางทะเลจาก Condrik Tenerife อธิบายว่า การปรากฏตัวของปลาน้ำลึกอย่างปลาแองเกลอร์ใกล้ผิวน้ำนั้น อาจเป็นสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่ แสดงให้เห็นถึงถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนและปกป้องมหาสมุทรของเราจากมลพิษ สุขภาพของระบบนิเวศน์เหล่านี้มีความสำคัญต่อการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตในทะเลหลายชนิด และการรบกวนต่างๆ อาจมีผลกระทบที่กว้างขวาง

ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดมาจากมนุษย์นั้น ล้วนมีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล เช่น อุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้น อาจทำให้การกระจายตัวและพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตในทะเลเปลี่ยนแปลงไป ทำให้สิ่งมีชีวิตต้องค้นหาที่อาศัยใหม่ นอกจากนี้ มลพิษและการทำลายที่อยู่อาศัยอาจทำให้ระบบนิเวศน้ำลึกได้รับความเสียหาย ซึ่งจะทำให้สิ่งมีชีวิตต้องปรับตัวหรือย้ายที่อยู่ไปเรื่อย ๆ

ด้าน เบ็น เฟรเบิล ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายจัดเก็บสัตว์มีกระดูกสันหลังทางทะเลจาก Scripps Institution of Oceanography ในแคลิฟอร์เนียตอนใต้ ให้ความเห็นว่า “นี่ไม่ใช่เรื่องไม่น่าตกใจ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องธรรมดาอย่างแน่นอน เป็นเรื่องน่าทึ่งที่พวกเขาสามารถบันทึกภาพการค้นพบนี้ได้”

ทำไมมันจึงอยู่ไกลจากแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติมากขนาดนั้น มันหลงทาง อยากรู้อยากเห็น หรือมีอะไรที่น่าวิตกกังวลมากกว่านั้น เฟรเบิลบอกว่า “อาจมีหลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้น ปลาตัวนี้อาจอยู่ในอาการทุกข์ทรมาน หรืออาจพยายามหนีลงไปในน้ำตื้นโดยไม่ได้ตั้งใจ หรือถูกนักล่าไล่ตาม” และเสริมว่า ในวิดีโอ ปลาตัวนี้ดูเหมือนเครียด ป่วย หรือบาดเจ็บ

เขาบอกอีกว่า ที่ซึ่งปลาแองเกลอร์อาศัยอยู่ตามปกตินั้นไม่มีแสงสว่างเพียงพอ และมีแนวโน้มสูงมากที่ปลาตัวนี้จะตาบอดเกือบหมดหากอยู่ในน้ำตื้น

แม้จะไม่ได้ยืนยันชัด ๆ แต่หากปลาตัวนี้ตาบอดจริง ก็อาจทำให้สมมติฐานเรื่องมันออกเดินทางตามหาแสงสุดต้องถูกปัดตกไป แต่ยังไม่สามารถสรุปได้เสียทีเดียว เพราะสิ่งมีชีวิตจากใต้ทะเลลึกชนิดนี้ยังอะไรให้เราค้นหาอีกมาก

 

เรียบเรียงจาก NSM / New York TimesOcean Ographic Magazine

Bottom-PL-HLW Bottom-PL-HLW

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ