พบไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ “HKU5” ในค้างคาว แพร่สู่คนได้แบบเดียวกับโควิด-19

โดย PPTV Online

เผยแพร่

ทีมวิจัยจากจีนรายงานพบไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ “HKU5” โดยพบในค้างคาว เชื่อว่าแพร่ระบาดสู่คนได้เหมือนโควิด-19 แต่อันตรายน้อยกว่า

วันที่ 21 ก.พ. สำนักข่าว South China Morning Post รายงานว่า ทีมนักวิจัยชาวจีนได้ค้นพบไวรัสโคโรนา (Coronavirus) สายพันธุ์ใหม่ในค้างคาว ซึ่งมีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อจากสัตว์สู่คน เนื่องจากใช้ตัวรับชนิดเดียวกับไวรัสที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19

การศึกษาครั้งนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Cell นำทีมวิจัยโดย “สือ เจิ้งลี่” นักไวรัสวิทยาชื่อดังที่รู้จักกันในชื่อ “Batwoman” จากการที่เธอทำการวิจัยเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาในค้างคาวมาอย่างยาวนาน

คอนเทนต์แนะนำ
มือปืนปลอมตัวเป็นทนายยิงหัวหน้าแก๊งมาเฟียดับกลางศาลศรีลังกา
นักศึกษาจีนเผาตุ๊กตายางเพราะกลัวรูมเมตเห็น หวิดทำไฟไหม้ทั้งหอพัก
“มนุษย์เครื่องคิดเลข” เด็ก 14 คิดเลขในใจเร็วสุดในโลก ทำลาย 6 สถิติในวันเดียว

พบไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ “HKU5” ในค้างคาว Shutterstock/Russ Jenkins
ค้างคาวบ้านญี่ปุ่น (Pipistrellus abramus)

สำหรับการค้นพบล่าสุดนี้ พบว่าเป็นไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ “HKU5” ที่พบครั้งแรกในค้างคาวบ้านญี่ปุ่น (Pipistrellus abramus) ในฮ่องกง

ไวรัสชนิดใหม่นี้มาจากสกุลย่อยของเมอร์เบโคไวรัส (Merbecovirus) ถือเป็นญาติของไวรัสที่ทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (Mers)

ไวรัสชนิดนี้สามารถจับกับผิวเซลล์มนุษย์ ACE2 ได้ ซึ่งนี่เป็นตัวรับชนิดเดียวกับที่ไวรัส Sars-CoV-2 ใช้ในการทำให้เซลล์ติดเชื้อและเกิดโรคโควิด-19

ทีมวิจัยบอกว่า “เราได้รายงานการค้นพบและแยกสายพันธุ์ที่แตกต่างกันของ HKU5-CoV ได้ 2 สายพันธุ์ คือ HKU5-CoV-1 และ HKU5-CoV-2 ซึ่งสามารถเกาะเซลล์ ACE2 ในค้างคาวได้ ไม่เพียงเท่านั้น แต่ยังรวมถึง ACE2 ในมนุษย์และ ACE2 ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมต่าง ๆ”

นักวิจัยพบว่า เมื่อแยกไวรัสจากตัวอย่างค้างคาว ไวรัสชนิดนี้สามารถติดเชื้อเซลล์ของมนุษย์ได้ รวมถึงเซลล์เทียมหรือเนื้อเยื่อเทียมซึ่งจำลองให้คล้ายอวัยวะทางเดินหายใจหรือลำไส้ขนาดเล็ก

“ไวรัสเมอร์เบโคในค้างคาวตัวนี้มีความเสี่ยงสูงที่จะแพร่ระบาดสู่มนุษย์ ไม่ว่าจะผ่านการส่งผ่านโดยตรงหรือผ่านโฮสต์ตัวกลาง” นักวิจัยกล่าว

ไวรัส HKU5-CoV-2 ไม่เพียงแต่จับกับตัวรับ ACE2 ในมนุษย์เท่านั้น แต่ยังจับตัวรับในสิ่งมีชีวิตอีกหลายสปีชีส์ ซึ่งทั้งหมดสามารถทำหน้าที่เป็นโฮสต์ตัวกลางและส่งต่อไวรัสนี้ไปยังมนุษย์ได้

ทีมวิจัยกล่าวว่า HKU5-CoV-2 ปรับตัวเข้ากับ ACE2 ในมนุษย์ได้ดีกว่าเมื่อเทียบกับ HKU5-CoV-1 และ “อาจมีช่วงโฮสต์ที่กว้างขึ้นและมีศักยภาพในการติดเชื้อข้ามสายพันธุ์ที่สูงกว่า”

พวกเขากล่าวเสริมว่า จำเป็นต้องมีการเฝ้าระวังไวรัสเพิ่มเติม แต่บอกว่าประสิทธิภาพของไวรัสนั้น “ต่ำกว่า” ไวรัสโควิด-19 อย่างมีนัยสำคัญ และ “ไม่ควรพูดเกินจริงถึงความเสี่ยงของ HKU5-CoV-2 ที่จะเกิดขึ้นในประชากรมนุษย์”

 

เรียบเรียงจาก SCMP

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ