ประธานาธิบดียูเครน โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ยอมรับว่า การโต้เถียงระหว่างตนเองกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ และรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ เจดี แวนซ์ ที่ทำเนียบขาว เมื่อวันที่ 28 ก.พ. ที่ผ่านมา เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น และต้องได้รับการแก้ไข พร้องทั้งยืนยันว่า ยูเครนต้องการความร่วมมือและการสื่อสารที่สร้างสรรค์ในอนาคต
เซเลนสกีย้ำว่า ยูเครนพร้อมลงนามในข้อตกลงมอบสิทธิ์ระยะยาวการใช้งานแร่หายากของยูเครนที่จำเป็นต่อการผลิตสินค้าเทคโนโลยีของสหรัฐฯ และยังคงต้องการเข้าร่วมกระบวนการเจรจาหยุดยิงให้ได้โดยเร็ว
เซเลนสกีบอกว่า ขั้นแรกของข้อตกลงควรเริ่มต้นด้วยการปล่อยตัวเชลยศึกทั้งหมด ระงับการโจมตีทางอากาศ ทั้งการยิงขีปนาวุธ การใช้โดรนระยะไกล การทิ้งระเบิดใส่โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน และสาธารณูปโภคอื่น ๆ ของฝ่ายพลเรือน และการระงับปฏิบัติการในทะเล
ท่าทีดังกล่าวของประธานาธิบดีเซเลนสกีเกิดขึ้นเพียงไม่ถึง 1 วัน หลังจากเมื่อวันที่ 3 มี.ค. ประธานาธิบดีทรัมป์สั่งระงับความช่วยเหลือทางทหารทั้งหมดที่มอบให้แก่ยูเครน โดยเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ ระบุว่า คำสั่งนี้จะมีผลบังคับใช้ไปจนกว่าผู้นำยูเครนจะยอมเข้าร่วมกระบวนการเจรจาสันติภาพ
ด้าน ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียบประธานาธิบดีรัสเซีย ระบุว่า การระงับการให้ความช่วยเหลือด้านอาวุธแก่ยูเครนภายใต้คำสั่งของประธานาธิบดีทรัมป์ จะทำให้ขีดความสามารถด้านการทหารของยูเครนลดลงอย่างเห็นได้ชัด และจะเป็นก้าวสำคัญที่นำไปสู่สันติภาพ เนื่องจากยูเครนจำเป็นต้องหาทางแก้ไขความขัดแย้งด้วยแนวทางสันติวิธีมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การบรรลุข้อตกลงสันติภาพยังอาจมีอุปสรรคสำคัญคือ จุดยืนของรัฐบาลยูเครนที่ต้องการได้ดินแดนที่สูญเสียให้รัสเซียทั้งหมดกลับคืนมา รวมถึงภูมิภาคไครเมีย ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่รัสเซียปฏิเสธ
นอกจากนี้ ผู้นำยูเครนยังต้องการให้สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรในยุโรปทำหน้าที่คุ้มครองยูเครนจากการรุกรานของรัสเซียที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต แม้รัฐบาลรัสเซียตกลงระงับปฏิบัติการภาคพื้นดินและหยุดทิ้งระเบิดโจมตีเป้าหมายในยูเครน
ส่วนความเคลื่อนไหวของพันธมิตรในยุโรป เมื่อวันที่ 4 มี.ค. เออร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ได้เสนอแผนฟื้นฟูขีดความสามารถด้านการทหารของสหภาพยุโรป หรืออียู ภายใต้แผนที่ใช้ชื่อว่า "รีอาร์ม ยุโรป" (ReArm Europe) เพื่อรับมือกับภัยคุกคามร้ายแรงที่กำลังเกิดขึ้น
ภายใต้แผนดังกล่าว ชาติสมาชิกอียูจะต้องจัดสรรงบประมาณสำหรับการป้องกันประเทศรวมกันให้ได้ 800,000 ล้านยูโร หรือ 29 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าจากปี 2024 ซึ่งตัวเลขในส่วนนี้อยู่ที่ 344,000 ล้านยูโร หรือ 12 ล้านล้านบาท
แผนการนี้จะรวมถึงการสนับสนนุนยูเครนอย่างเร่งด่วนในระยะสั้นและปล่อยสินเชื่อวงเงิน 158,000 ล้านยูโร หรือ 6 ล้านล้านบาทให้กับชาติสมาชิกนำไปปรับปรุงยุทโธปกรณ์ด้านต่าง ๆ ทั้งระบบสกัดขีปนาวุธ ปืนใหญ่ เครื่องกระสุน โดรน และ เทคโนโลยีต่อต้านโดรน
โดย ฟอน แดร์ ไลเอิน เปิดเผยว่า ได้ส่งร่างคร่าว ๆ ของแผนการฉบับนี้ให้ัผู้นำชาติสมาชิกอียูพิจารณาแล้ว ก่อนที่ในช่วงปลายสัปดาห์นี้จะมีการประชุมคณะมนตรียุโรป