เมื่อวันที่ 2 เม.ย. กระทรวงอุตสาหกรรมและการก่อสร้างของคาซัคสถานเปิดเผยว่า พบพื้นที่ที่มีแนวโน้มดีหลายแห่งที่คาดว่ามีแร่หายาก (Rare Earth) จำนวนมาก โดยเบื้องต้นประเมินไว้ว่าอยู่ที่ประมาณเกือบ 1 ล้านตัน
พื้นที่ดังกล่าวที่พบคือไซต์กุยเรกติคอล (Kuirektykol) ในเขตการ์คาราลี (Karkaraly) ของภูมิภาคคารากันดา (Karaganda) ห่างจากกรุงอัสตานา เมืองหลวงของประเทศ ไปทางตะวันออกเฉียงใต้ราว 300 กิโลเมตร
กระทรวงฯ กล่าวว่า จากการประเมินเบื้องต้นของแหล่งแร่สำรองในพื้นที่ โดยอิงจากการวิเคราะห์พื้นฐานและเชิงปริมาณของธาตุหายาก พบว่า มีโลหะอยู่เกือบ 800,000 ตัน
กระทรวงฯ ยังระบุว่า พื้นที่ชั้นหินโดยรวมของซานาคาซัคสถาน (Zhana Kazakhstan) ซึ่งกุยเรกติคอลเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่นี้ คาดว่าจะมีแร่ธาตุหายากมากกว่า 20 ล้านตันในระดับความลึก 300 เมตร โดยมีปริมาณธาตุหายากโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 700 กรัมต่อตัน แร่ธาตุที่พบเบื้องต้นมีทั้ง นีโอดิเมียม ซีเรียม แลนทานัม และอิตเทรียม ซึ่งมีความสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสีเขียว
ปัจจุบันคาซัคสถานไม่ได้อยู่ในรายชื่อประเทศที่มีแหล่งแร่หายากของสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐฯ (USGS) หากได้รับการยืนยัน จะทำให้คาซัคสถานกลายเป็นประเทศที่มีแหล่งแร่หายากเป็นรองเพียงจีนและบราซิลเท่านั้น
อย่างไรก็ดี คาซัคสถานไม่มีทรัพยากรหรือศักยภาพในการใช้ประโยชน์จากแร่หายากเหล่านี้ จึงคาดว่าต้องการการลงทุนจากต่างประเทศ
เรียบเรียงจาก Kazinform News Agency / Reuters
ภาพจาก Rebel Red Runner