เมื่อปี 1887 มีการขุดค้นพบโบราณวัตถุคล้ายตุ๊กตาหมีที่แกะสลักจาก “อำพัน” ใกล้กับเมืองซูปสก์ (Słupsk) ทางตอนเหนือของประเทศโปแลนด์ จากการตรวจสอบพบว่ามีอายุมากกว่า 6,000 ปี และอาจเก่าแก่ได้ถึง 11,000 ปี ซึ่งตรงกับช่วงยุคหินกลางของยุโรป
หมีอำพันนี้ถูกตั้งชื่อในปี 2013 โดยเด็กอนุบาลชาวโปแลนด์คนหนึ่งว่า “ซูปชิโอ” (Słupcio) ซึ่งมีความหมายว่า “เจ้าตัวน้อยจากซูปสก์”
หมีอำพันนี้มีความยาวราว 10 เซนติเมตร และสูงประมาณ 4 เซนติเมตร โดยคาดว่ามันอาจเป็นเหมือน “เครื่องราง” ของนักล่าในสมัยโบราณ โดยน่าจะสวมไว้เพื่อป้องกันภัย เนื่องจากหมีเป็นสัตว์ที่มีพลังและอันตรายที่สุดที่เคยอาศัยอยู่ในบริเวณนี้ในยุคหิน
นอกจากนี้ อำพันเป็นวัสดุธรรมชาติที่ดูเหมือนหิน ลอยในน้ำทะเลได้ โปร่งแสงเมื่อขัดเงา และมีกลิ่นหอมเมื่อเผา อาจถือได้ว่าเป็นวัสดุที่เต็มไปด้วยเวทมนตร์สำหรับคนในอดีต ทำให้ซูปชิโออาจถูกมองเป็นเครื่องรางยุคหินที่ทรงพลัง
ปัจจุบันหมีอำพันซูปชิโอถูกจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติในเมืองชเชชิน ห่างจากจุดค้นพบเดิมไปทางตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 220 กิโลเมตร และได้กลายเป็นสัญลักษณ์ประจำท้องถิ่น โดยมีหมีจำลองของหมีตัวนี้วางขายเป็นของที่ระลึกอยู่ทั่วเมือง
ในช่วงยุคหินกลางของยุโรปนั้น ผู้คนส่วนใหญ่ดำรงชีวิตด้วยการล่าสัตว์และเก็บของป่า ดังนั้นหลักฐานทางโบราณคดีที่แสดงถึงการตั้งถิ่นฐานของพวกเขาจึงหายาก แต่ในพื้นที่ปอเมอเรเนียบนชายฝั่งทะเลบอลติกทางตอนใต้ นักโบราณคดีได้ค้นพบแหล่งโบราณคดียุคหินที่มีสิ่งประดิษฐ์ เช่น เครื่องปั้นดินเผา เครื่องมือ และอาวุธ รวมถึงวัตถุที่ทำจากอำพันที่ถูกซัดขึ้นฝั่ง อำพันประเภทนี้มาจากตะกอนในทะเล
ขาของซูปชิโอเป็นเพียงส่วนนูนเท่านั้น ไม่สามารถตั้งได้ด้วยตัวเอง แต่หัวของหมีถูกแกะสลักไว้อย่างชัดเจนเพื่อแสดงให้เห็นหู ปาก จมูก และดวงตา ตรงกลางลำตัวมีรูที่เจาะทะลุ ซึ่งน่าจะใช้ร้อยสายรัดสำหรับแขวนหรือพกพาเจ้าหมีน้อย
ซูปชิโอไม่ใช่หมีอำพันเพียงตัวเดียวที่เคยถูกค้นพบ ในการศึกษารูปแกะสลักหมีอำพันหลายตัวจากบริเวณทะเลบอลติกในปี 2023 นักวิจัยสรุปว่า หมีอำพันอาจเป็นหลักฐานเพิ่มเติมของประเพณียุคหินเก่าในการบันทึกภาพสัตว์ไว้ในถ้ำและสิ่งของพกพา และยังแสดงให้เห็นอีกด้วยว่า ผู้คนเปลี่ยนจากการล่ากวางเรนเดียร์ในทุ่งทุนดราที่เปิดโล่งมาเป็นกวางเอลก์และหมีในป่า
เรียบเรียงจาก Live Science