ประธานาธิบดีทาร์มัน ชันมูการัตนัม ของสิงคโปร์ ประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 15 เม.ย. ตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี ลอว์เรนซ์ หว่อง ขณะที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศให้จัดการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 3 พ.ค. ซึ่งเป็นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 14 ของประเทศ
การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นบททดสอบแรกของนายหว่อง ซึ่งรับตำแหน่งนายกฯ และหัวหน้าพรรคกิจประชาชน หรือพีเอพี (PAP) ต่อจาก ลี เซียนลุง เมื่อเดือน พ.ค. ปีที่แล้ว
การเลือกตั้งยังเกิดขึ้นท่ามกลางแนวโน้มเศรษฐกิจที่มืดมน เนื่องจากความเสี่ยงที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งพึ่งพอการค้าเป็นหลัก จะได้รับผลกระทบจากภาษีนำเข้าของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
โดยเมื่อวันที่ 14 เม.ย. ที่ผ่านมา สิงคโปร์ได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวเศรษฐกิจในปี 2025 จากเดิม 1.0-3.0% เป็น 0.0-2.0%
แม้ว่าพรรค PAP น่าจะครองเสียงข้างมากเกือบจะแน่นอน และคว้าที่นั่งส่วนใหญ่ในสภาเช่นที่เคยเป็นมา ตั้งแต่สิงคโปร์ได้รับเอกราชในปี 1965 แต่สัดส่วนคะแนนนิยมของพรรคจะถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะหลังจากการเลือกตั้งครั้งก่อนในปี 2020 ซึ่งพรรคทำผลงานได้ย่ำแย่ที่สุดในประวัติศาสตร์
ความนิยมของพรรครัฐบาลลดลงอย่างต่อเนื่องในการเลือกตั้งช่วงหลัง ขณะที่พรรคฝ่ายค้านค่อยๆ เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในสภา โดยคว้าที่นั่งมาได้ 6 ที่ในปี 2011 และ 2015 ก่อนจะเพิ่มเป็น 10 ที่ในปี 2020
การเลือกตั้งครั้งนี้จะมีจำนวนที่นั่งในสภาเพิ่มขึ้น 4 ที่ เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งปี 2020 โดยจะมีการเลือกตั้ง สส. ทั้งหมด 97 คน
ทั้งนี้ คาดว่านายหว่อง จะเปิดตัวผู้สมัครหน้าใหม่อย่างน้อย 30 คน ซึ่งถือเป็นการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ที่สุดของพรรค PAP ภายใต้ผู้นำคนใหม่ โดยรายชื่อทั้งหมดจะถูกประกาศอย่างเป็นทางการในวันส่งชื่อผู้สมัครในวันที่ 23 เม.ย.