แนวคิดเรื่องการเปลี่ยนดาวอังคารให้กลายเป็นดาวที่สิ่งมีชีวิตสามารถอาศัยอยู่ได้ หรือที่เรียกว่ากระบวนการ “Terraform” เป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ให้ความสนใจมาอย่างยาวนาน และยิ่งที่ได้รับการโฟกัสเมื่อโลกเผชิญวิกฤตและหายนะมากขึ้นและรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ การหา “โลกสำรอง” จึงเป็นสิ่งที่ดูเหมือนจะหลีกเลี่ยงไม่ได้
เอริกา เดอเบเนดิกติส ซีอีโอของ Pioneer Labs กล่าวว่า “เมื่อ 30 ปีที่แล้ว การเปลี่ยนแปลงสภาพของดาวอังคารนั้นไม่ใช่แค่เรื่องยาก แต่เป็นเรื่องที่ไปไม่ได้เลยต่างหาก”
เธอเสริมว่า “แต่เทคโนโลยีใหม่ เช่น Starship ของ SpaceX และเทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์ได้ทำให้แนวคิดนี้เป็นไปได้จริงแล้ว”
อย่างไรก็ตาม การศึกษาใหม่ของเดอเนดิกติสและทีมวิจัย พบว่า การจะเปลี่ยนดาวอังคารนำมาซึ่งคำถามทางจริยธรรมที่ซับซ้อนซึ่งต้องพิจารณา และหากจะทำจริง ต้องมีการวางแผนอย่างจริงจังตั้งแต่บัดนี้ไป
เหตุใดจึงต้องเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศของดาวอังคาร? เอ็ดวิน ไคต์ รองศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยชิคาโก หนึ่งในทีมวิจัย กล่าวว่า “ดาวเคราะห์ที่ยังมีชีวิตยังดีกว่าดาวเคราะห์ที่ตายไปแล้ว”
เขาบอกว่า “ปัจจุบันเราทราบแล้วว่า ดาวอังคารเคยเป็นที่อยู่อาศัยได้ในอดีต จากข้อมูลที่ยานสำรวจดาวอังคารส่งกลับมา ดังนั้นการทำให้ดาวอังคารเป็นสีเขียวจึงถือเป็นความท้าทายขั้นสุดในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม”
แม้ว่าการปรับสภาพพื้นที่ทั้งหมดอาจต้องใช้เวลาหลายศตวรรษหรือหลายพันปี แต่เป้าหมายในระยะยาวก็คือดาวอังคารจะมีน้ำในรูปของเหลวที่เสถียร มีออกซิเจนที่สามารถหายใจได้ และมีระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ ในระยะสั้น อาจหมายถึงสิ่งมีชีวิตจุลินทรีย์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ในอนาคตอันไกลโพ้น อาจมีเมืองของมนุษย์บนดาวเคราะห์ดวงนี้ก็ได้
อย่างไรก็ตาม บทเรียนบางอย่างที่เราได้เรียนรู้จากวรรณกรรมและภาพยนตร์ “Jurassic Park” ซึ่งเล่าถึงการที่มนุษย์พยายามทำตัวเป็นพระเจ้าและเปลี่ยนแปลงโลก คือ “ก่อนจะถามว่าเราทำได้หรือเปล่า เราต้องถามว่า เราควรทำหรือเปล่า”
นีนา แลนซา นักวิทยาศาสตร์ด้านดาวเคราะห์จากห้องปฏิบัติการแห่งชาติลอสอาลามอส อีกหนึ่งในทีมวิจัย กล่าวว่า “หากเราตัดสินใจที่จะเปลี่ยนแปลงสภาพดาวอังคาร เราก็จะเปลี่ยนแปลงมันไปในทางที่อาจจะย้อนกลับได้หรือไม่ก็ได้”
เธอเสริมว่า “ดาวอังคารเป็นดาวเคราะห์ของตัวเองและมีประวัติศาสตร์ของตัวเอง เมื่อเราปรับสภาพดาวอังคาร เราก็ไม่มีโอกาสได้ศึกษาเรื่องนั้นอีกต่อไป และเราอาจสูญเสียความรู้เกี่ยวกับการก่อตัวของดาวเคราะห์และวิวัฒนาการ”
สิ่งที่เลวร้ายที่สุดก็คือ เราอาจทำลายหลักฐานที่อาจบ่งชี้ถึงชีวิตบนดาวอังคารในยุคโบราณได้ หากมีหลักฐานดังกล่าว “หากเราปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมบนดาวอังคาร ในที่สุดแล้ว เคมีของพื้นผิวและใต้พื้นผิวก็จะเปลี่ยนไป”
แต่หากมนุษย์ตัดสินใจได้แล้วว่า จะปรับสภาพดาวอังคาร จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ นั่นคือ การทำให้มันสามารถรองรับจุลินทรีย์ที่ผลิตออกซิเจนและน้ำในรูปของเหลวได้
แม้ว่าเทคโนโลยีทั้งหมดที่ใช้ปรับสภาพดาวอังคารจะยังไม่พร้อมใช้งาน แต่ทีมวิจัยของเดอเบเนดิกติสได้เสนอขั้นตอนการพัฒนา 3 ไว้ขั้นตอน
ขั้นแรก นักวิทยาศาสตร์จะใช้เทคนิคทางวิศวกรรมสภาพอากาศที่ไม่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้แผ่นสะท้อนแสงอาทิตย์ การกระจายอนุภาคขนาดนาโน หรือการวางแผ่นแอโรเจล เพื่อทำให้พื้นผิวอุ่นขึ้นอย่างน้อย 30 องศาเซลเซียส ซึ่งเพียงพอที่จะละลายน้ำแข็งใต้ผิวดินและปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่กักเก็บไว้ ความร้อนนี้จะทำให้ชั้นบรรยากาศของดาวอังคารหนาขึ้นและอาจสนับสนุนการมีอยู่ของน้ำในรูปของเหลวที่เสถียร
ระยะที่สอง นำจุลินทรีย์ที่มีฤทธิ์กัดกร่อนสูง ซึ่งน่าจะเป็นจุลินทรีย์ที่ไม่ใช้ออกซิเจนและดัดแปลงพันธุกรรม มาใช้ ซึ่งสามารถอยู่รอดในสภาวะที่รุนแรงของดาวอังคารได้ และเริ่มต้นการสืบทอดทางระบบนิเวศ สิ่งมีชีวิตเหล่านี้จะเริ่มผลิตออกซิเจนและสารอินทรีย์ ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงเคมีของดาวเคราะห์อย่างช้า ๆ
ระยะที่สามและระยะที่ยาวนานที่สุด จะมุ่งเน้นไปที่การสร้างชีวมณฑลที่ซับซ้อน เพิ่มความกดอากาศและปริมาณออกซิเจนในที่สุดเพื่อรองรับชีวิตพืชขั้นสูง และในระยะยาวมาก อาจทำให้มนุษย์สามารถหายใจได้โดยไม่ต้องช่วยเหลือ
ทีมวิจัยระบุว่า หากเราต้องการมีโอกาสเปลี่ยนแปลงดาวอังคาร เราจะต้องเดินหน้าไปในหลายด้านพร้อม ๆ กัน
ไคต์บอกว่า “การตอบคำถามว่าเมื่อใดและอย่างไรจึงจะเริ่มสร้างดาวอื่น ๆ ให้สามารถอยู่อาศัยได้นั้น ต้องมีความเข้าใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับต้นทุนและผลประโยชน์ ซึ่งจะประเมินได้โดยอาศัยการผสมผสานระหว่างทฤษฎีและการทดลอง พร้อมทั้งมีข้อมูลจากหลากหลายสาขา เช่น ฟิสิกส์ เคมี วิทยาศาสตร์วัสดุ และชีววิทยา”
แลนซาบอกว่า สิ่งที่ทำได้ตอนนี้ คือต้องศึกษาดาวอังคารต่อไป นำวัสดุที่เก็บรวบรวมจากดาวอังคารกลับมายังโลก “ตัวอย่างเหล่านี้ได้รับการบันทึกไว้เป็นอย่างดีและวิเคราะห์อย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้บนดาวอังคาร ตอนนี้ เราต้องนำตัวอย่างเหล่านั้นกลับมา เพราะนั่นจะช่วยให้เราตอบคำถามพื้นฐานเหล่านี้ได้ ดาวอังคารทำมาจากอะไร มีร่องรอยของสิ่งมีชีวิตหรือไม่”
ขณะที่เดอเบเนดิกติสบอกว่า “ภารกิจสำรวจพื้นผิวดาวอังคารในปี 2028 หรือ 2031 ควรมีการทดลองในระดับเล็กเพื่อลดความเสี่ยงของกลยุทธ์ในการปรับเปลี่ยนสภาพดาวอังคาร เช่น การทำให้พื้นที่บางส่วนร้อนขึ้น”
จากนั้น แน่นอนว่าเราต้องคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อให้เราสามารถปรับเปลี่ยนสภาพดาวอังคารได้ในอนาคต และแม้ว่าการปรับเปลี่ยนสภาพดาวอังคารอย่างสมบูรณ์อาจต้องใช้เวลาหลายชั่วอายุคน แต่การตัดสินใจต้องเริ่มตั้งแต่ตอนนี้
เรียบเรียงจาก Space.com