ปรับขึ้นค่าจ้าง ความหวังแรงงานไทย


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ในช่วงวันที่ 1 พฤษภาคม หรือวันแรงงานของทุกปี ความคาดหวังหนึ่งของบรรดาลูกจ้างนั่นคือให้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แต่ในการปรับขึ้นอัตราค่าแรงในรอบนี้เกิดขึ้นไม่ทัน แต่หลังจากนี้จะมีโอกาสการปรับขึ้นหรือไม่

เมื่อวันที่ (7 พ.ค. 62) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นี่เป็นหนึ่งเสียงของแรงงานไทย ที่รอคอยความหวังการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของคณะอนุกรรมการไตรภาคี ที่ประกอบด้วย นายจ้าง ลูกจ้าง และภาครัฐ ว่าจะมีการปรับเป็นอัตราใดที่มีความเหมาะสมมากที่สุด ซึ่งหากบอร์ดค่าจ้างกลาง มีมติเห็นชอบตามที่เสนอ คาดว่าจะขอความเห็นชอบจากที่ประชุม ครม. ก่อนประกาศราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ ซึ่งน่าจะมีความชัดเจนในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม

โดยก่อนหน้านี้ คณะอนุกรรมการมีมติให้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำใน 31 จังหวัด ในอัตรา 2-10 บาทต่อวัน ส่วน 46 จังหวัดที่คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดไม่เสนอปรับขึ้นค่าจ้าง เห็นควรให้ปรับขึ้นในอัตรา 2 บาทต่อวัน

ในมุมฟากฝั่งลูกจ้าง อย่างนายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย มองว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 2- 10 บาท ควรรีบปรับขึ้นให้เร็วที่สุด เพราะปัจจุบันค่าครองชีพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากเป็นไปได้ อยากให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นอัตราเดียวกันทั้งประเทศ เนื่องจากค่าครองชีพในต่างจังหวัดทั่วประเทศไม่ต่างกันมากแล้ว

ส่วนความเห็นจากนักวิชาการ มองว่า แนวทางการพิจารณาขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ น่าจะอยู่ในอัตรา 3-5% อยู่ที่ว่าทุกฝ่ายจะพูดคุย และเสนอตรงกันอย่างไร เนื่องจากสิ่งที่นายจ้างคาดหวังตอนนี้ คือ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ไม่สูงมากจนเกินไป เพราะจะส่งผลต่อสภาพคล่องของภาคเอกชน รวมถึง ตอนนี้ยังเริ่มนำเทคโนโลยี มาเพิ่มประสิทธิภาพควบคู่กับทักษะภาคแรงงานของไทยแล้ว

ขณะที่ผลสำรวจ  สถานภาพแรงงานไทย ที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท พบว่า ในปีนี้ แรงงานไทยถึง 95 % ยังมีภาระหนี้  และ 46% มีรายจ่ายเทียบเท่าเงินเดือน รวมถึง  86.2% ยังไม่มีเงินออม ทำให้หนี้ต่อครัวเรือนในปีนี้พุ่งสูงขึ้นเป็น 158,885 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนกว่า 20,800 บาท  

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ