ตาอักเสบ-บวมแดง-มีหนอง รีบพบจักษุแพทย์ เสี่ยง“โรคภาวะน้ำตาเอ่อ”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




กรมการแพทย์ เตือน น้ำตาไหลบ่อย ขี้ตาคล้ายๆเมือกเหนียวสีขุ่นขาวหรือมีสีเหลือง อักเสบ บวมแดง มีหนองควรพบจักษุแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นโรคภาวะน้ำตาเอ่อ ชี้ ใส่คอนแทคเลนส์ในขณะที่มีอาการภาวะน้ำตาเอ่อ เสี่ยงเกิดแผลที่กระจกตาได้ง่าย

วันนี้ 20 มิ.ย. 2562 นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคภาวะน้ำตาเอ่อ คือ เกิดจากการอุดตันที่ปลายท่อน้ำตา ทำให้น้ำตาไหลลงไม่ได้ เกิดอาการตาแฉะ น้ำตาไหลบ่อย มีอาการน้ำตาเอ่อท้น มีขี้ตามากสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุได้แก่ท่อน้ำตาอุดตันจากเยื่อบางๆ ปิดอยู่ที่ปลายท่อน้ำตาในเด็กแรกเกิดทำให้น้ำตาไหลลงมาไม่ได้ การฉีกขาดของหนังตาจากอุบัติเหตุ การติดเชื้อ ตาแห้ง หรือหลังจากการผ่าตัดหรือฉายรังสีที่โพรงจมูก โรคดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงผู้ใหญ่ คนสูงอายุและในผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้ซึ่งหากมีอาการน้ำตาไหลบ่อย

ขี้ตาคล้าย ๆ เมือกเหนียวสีขุ่นขาวหรือสีเหลือง อักเสบ บวมแดง มีหนองแตกออกมาจากหนังตาล่างไปทางหัวตา ควรรีบพบจักษุแพทย์ทันที

ขณะที่พญ.สายจินต์ อิสีประดิฐ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) กล่าวเพิ่มเติมว่า ธรรมชาติของดวงตา ต่อมน้ำตาตามมีการสร้างน้ำตาเพื่อหล่อเลี้ยง และทำให้กระจกตาชุ่มชื้นอยู่ตลอดเวลา เมื่อกระพริบตาน้ำตาจะถูกหลั่งออกมาเคลือบพื้นผิวของดวงตา และระบายออกลงไปที่ท่อน้ำตาบริเวณหัวตาซึ่งมีปลายเปิดในจมูก โดยมีบางส่วนระเหยไปในอากาศ โดยปกติต่อมน้ำตาจะผลิตน้ำตาวันละประมาณ 280 ซีซี หรือ 113 ลิตรต่อปี

ฉะนั้น หากเกิดความผิดปกติของการสร้างหรือระบายน้ำตา ก็จะเกิดอาการน้ำตาคลอเบ้าหรือน้ำตาไหลโดยเรียกอาการเช่นนี้ว่า โรคภาวะน้ำตาเอ่อ หรือน้ำตาไหล สามารถพบได้บ่อยและพบได้ตลอดทุกช่วงอายุโดยเกิดได้จากหลายปัจจัย ซึ่งจากสถิติของผู้มารับการรักษาด้วยโรคภาวะน้ำตาเอ่อตั้งแต่ปี 2560–2561 ที่ผ่านมามีผู้มารับการรักษาโดยประมาณ 1,734 ราย อาการที่แสดงว่ามีการอุดกั้นของทางระบายน้ำตาคือ การมีน้ำตาไหลเอ่อท้น

สำหรับการรักษาสามารถรักษาได้ด้วยการแยงท่อน้ำตาเพื่อเปิดทางระบายน้ำตา การให้ยาหากมีภาวะน้ำตาเอ่อจากการที่มีตาแห้ง แต่หากมีการอักเสบติดเชื้อในตาจากภาวะหนังตาม้วนเข้าหรือม้วนออกในผู้สูงอายุ อาจต้องผ่าตัดเพื่อแก้ไข

“การใช้คอนแทคเลนส์ การขยี้ตา ไม่มีผลทำให้เกิดท่อน้ำตาอุดตัน แต่การใส่คอนแทคเลนส์ในขณะที่มีอาการภาวะน้ำตาเอ่อหรือท่อน้ำตาอุดกั้น อาจทำให้เกิดแผลที่กระจกตาได้ง่าย เนื่องจากคอนแทคเลนส์มีรูพรุนเป็นที่เกาะสะสมของเชื้อแบคทีเรียได้ วิธีการป้องกันตนเองที่ดีที่สุดคือ เมื่อมีอาการผิดปกติกับดวงตาให้รีบพบจักษุแพทย์ทันทีเพื่อป้องกันการลุกลามของโรค”พญ.สายจินต์ ระบุ

ป้องกันได้ อันตราย “คอนแทคเลนส์”

เอเชียนกมส์2022-3 เอเชียนกมส์2022-3
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ