พนักงานขนส่ง สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขานนทบุรี อธิบายการติดตั้ง “ห่วงชูชีพ” ของกรมเจ้าท่า ซึ่งส่วนใหญ่ผูกไว้กับราวเหล็กของโป๊ะเรือ โดยไม่มีการล็อก เพื่อให้หยิบใช้งานได้สะดวก แต่ก็ทำให้ “ห่วงชูชีพ” ที่ติดตั้งในท่าเรือเกือบทุกแห่งถูกขโมยไปทุกครั้งที่นำไปติดตั้งไว้ จนกลายเป็นปัญหา ไม่มีห่วงชูชีพในยามจำเป็นต้องช่วยชีวิตคน
เมื่อไปสำรวจบนโป๊ะเรือสะพานพระราม 7 ทีมข่าวพบว่า ไม่มีห่วงชูชีพของกรมเจ้าท่า ทั้งที่เป็นจุดที่กรมเจ้าท่านำไปติดตั้งไว้แล้ว นั่นหมายความว่า ห่วงชูชีพ ถูกขโมยไป
"ที่ท่าเรือสะพานพระราม 7 จุดนี้ ที่ทุกคนพยามจะช่วยหญิงที่กระโดดลงน้ำไป ทีมข่าวได้เดินทางมาสำรวจ พบว่า บริเวณด้านข้าง ปกติแล้วจะใช้วางห่วงชูชีพของกรมเจ้าท่า แต่ ณ ตอนนี้เป็นห่วงชูชีพของเอกชน ซึ่งจากการสังเกตทั้งสองจุด โป๊ะเรือฝั่งนั้น และจุดที่ดิฉันยืนอยู่ ก็ไม่พบว่ามีของกรมเจ้าท่าอยู่เลย"
พนักงานเก็บเงินที่ท่าเรือสะพานพระราม 7 บอกว่า เธอตระเวนไปทำหน้าที่เก็บเงินที่ท่าเรือหลายแห่ง และพบว่าทุกแห่งมีปัญหาห่วงชูชีพถูกขโมยเช่นเดียวกัน ทั้งห่วงของกรมเจ้าท่า และห่วงของเอกชน
ข้อมูลห่วงชูชีพถูกขโมย ได้รับคำยืนยันจากบริษัทเอกชน ที่เป็นเจ้าของห่วงชูชีพที่ถูกล็อกไว้ นายเจริญพร เจริญธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด ชี้แจงว่า ห่วงชูชีพถูกขโมยบ่อยครั้ง จึงแก้ปัญหาด้วยการล็อกห่วงชูชีพไว้ และหลายครั้งนำห่วงชูชีพใหม่ไปติดตั้งแทน เพียงข้ามคืนก็หายไปอีกเป็นที่มาของการแก้ปัญหาด้วยการล็อกห่วงชูชีพไว้ จึงเรียกร้องหน่วยงานรัฐให้สร้างระบบดูแลท่าเรือให้เป็นมาตรฐานสากล
พนักงานดูแลท่าเรือ ของกรมเจ้าท่า เสนอว่า ควรกำหนดเวลาเปิด-ปิดท่าเรือทุกแห่ง เช่น ท่าเรือพระราม 5 จะมีประตูปิดและล็อคไว้เป็นเวลา และติดตั้งกล้องวงจรปิดให้ครอบคลุมท่าเรือ แต่แนวทางนี้ ก็เป็นเพียงแนวทางแก้ปัญหาห่วงชูชีพถูกขโมยเท่านั้น เพราะจะไม่สามารถใช้งานห่วงชูชีพได้เช่นเดิม หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับงานกู้ชีพทางน้ำ จึงเรียกร้องให้ทุกคนต้องตระหนักร่วมกันว่า ไม่ควรขโมยหรือทำลายห่วงชูชีพ เพราะจะส่งผลต่อการช่วยชีวิตคน