นายอีลอน มัสก์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทเทสลา อิงค์ ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของสหรัฐฯ และนายแจ็ก หม่า ประธานบริหารบริษัทอาลีบาบากรุ๊ปโฮลดิง กลุ่มบริษัทอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของจีน พบกันครั้งแรกที่งานประชุม World Artificial Intelligence Conference ที่นครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน วันนี้ (29 ส.ค.)
ก่อนหน้านี้ ตอนที่มีการประกาศข่าวว่าทั้งสองจะปรากฏตัวบนเวทีเดียวกัน ก็มีการคาดเดากันอย่างกว้างขวางว่า นายมัสก์และนายหม่าอาจใช้เวทีนี้พูดคุยกันถึงความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน โรงงานที่เทสลากำลังสร้างในเซี่ยงไฮ้ หรือแผนวางมือจากการบริหารอาลีบาบาของนายหม่า แต่กลายเป็นว่าสองผู้มีอิทธิพลแห่งวงการอีคอมเมิร์ซและเทคโนโลยี เลี่ยงที่จะไม่พูดถึงประเด็นเหล่านั้น และหันมาแลกเปลี่ยนมุมมองกันแทนว่าเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์จะมีบทบาทในการกำหนดอนาคตอย่างไร
แจ็ก หม่า เชื่อว่าปัญญาประดิษฐ์ไม่ได้เป็นภัยคุกคามมนุษยชาติ เขาบอกว่าคอมพิวเตอร์อาจจะฉลาด แต่มนุษย์ฉลาดกว่ามาก เราสร้างคอมพิวเตอร์ แต่เขาไม่เคยเห็นคอมพิวเตอร์ที่ไหนสร้างมนุษย์ นอกจากนี้ เขาคิดว่าปัญญาประดิษฐ์จะช่วยให้เราเข้าใจมนุษย์ด้วยกันมากขึ้น รวมถึงแบ่งเบาภาระต่างๆ ทำให้มนุษย์มีเวลาพักผ่อนมากกว่าเดิม
ขณะที่อีลอน มัสก์ แย้งกลับว่านายหม่าอาจจะคิดผิดก็ได้ คอมพิวเตอร์พัฒนารวดเร็วอย่างไม่น่าเชื่อ จนท้ายที่สุดปัญญาประดิษฐ์อาจจะรู้สึกเบื่อหน่ายหรือทนไม่ได้ที่จะต้องทำงานกับมนุษย์เชื่องช้าและฉลาดน้อยกว่า
มัสก์กล่าวอีกว่า ความหวังของมนุษยชาติอยู่ที่การนำพลังคอมพิวเตอร์มาใช้ประโยชน์ โดยเขาได้ยกตัวอย่างบริษัทนิวรัลลิงก์ของตัวเองที่ตั้งเป้าพัฒนาอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อสมองและคอมพิวเตอร์ที่ฝังในร่างกายมนุษย์ได้ คล้ายๆ กับในภาพยนตร์เรื่อง “เดอะเมทริกซ์” ที่ตัวละครในเรื่องสามารถดาวน์โหลดซอฟต์แวร์เข้าสมองและทำให้ตัวเองมีทักษะความสามารถต่างๆ ได้ทันที
นอกจากนี้ ทั้งสองยังพูดคุยกันถึงการเดินทางในอวกาศ โดยนายหม่าได้กล่าวชื่นชมนายมัสก์ถึงการพัฒนายานอวกาศที่ช่วยให้มนุษย์เดินทางไปตั้งรกรากบนดาวอังคารได้ ว่าโลกต้องการฮีโร่อย่างนายมัสก์ แต่ขณะเดียวกันก็แย้งว่า โลกเองก็ต้องการฮีโร่อย่างพวกเราที่จะทำสิ่งต่างๆ บนโลกให้ดีขึ้น
ด้านซีอีโอของเทสลาโต้กลับว่า เราต้องเดินทางระหว่างดาวเคราะห์ให้สำเร็จ เผื่อที่ว่าวันหนึ่งโลกอาจจะอาศัยอยู่ไม่ได้อีกต่อไป นักวิทยาศาสตร์หลายคน รวมถึงสตีเฟน ฮอว์กิง มีความคิดคล้ายกันกับนายมัสก์ โดยส่วนใหญ่จะอ้างความเสี่ยงจากสงครามนิวเคลียร์ ไวรัสล้างโลก ภาวะโลกร้อน หรือดาวเคราะห์น้อยพุ่งชน
อย่างไรก็ดี ทั้งนายมัสก์และนายหม่า เห็นตรงกันว่าการที่มนุษย์เกิดแก่เจ็บตายเป็นสิ่งที่ดี เพราะคนแต่ละรุ่นจะมีไอเดียใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาของโลกเสมอ สำหรับงานประชุม World Artificial Intelligence Conference ที่นครเซี่ยงไฮ้ จะมีไปจนถึงวันที่ 31 ส.ค.นี้