ไวรัสโคโรนา : เปิดวิธี “เลือก –ใช้-ทิ้ง” หน้ากากอนามัยอย่างไรให้ปลอดภัย
เผยแพร่
ปรับปรุงล่าสุด
กระทรวงสาธารณสุขเผยวิธีปฏิบัติตัวป้องกันติดเชื้อ “ไวรัสโคโรนา” สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ทำได้ที่ตัวเอง

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงการปฎิบัติตัวป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ว่า อุปกรณ์ป้องกันตัวที่ดีที่สุด คือ หน้ากากอนามัย ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนควรมีติดตัวคนละชิ้น และสามารถใช้หน้ากากแบบผ้าทั่วไป เพราะว่า คนปกติจะใช้เพื่อป้องกันน้ำลายกระเด็นใส่ เนื่องจากเราไม่ได้ป่วย ไม่ได้ไอจาม เพราะตัวแพร่เชื้อคือ น้ำลายจากการไอและจาม หากยังจำกันได้ช่วยโรคไข้หวัดปีเมื่อปี 2552 ขณะนั้นหลายคนต้องมีหน้ากากอนามัยติดตัว ครั้งก็เช่นกัน ต้องมีหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกัน
กรมควบคุมโรคเผย “ไวรัสโคโรนา” ระยะฟักตัว 14 วัน หากไม่แสดงอาการ ไม่แพร่เชื้อ
นายกฯ แจงเหตุไม่ปิดประเทศสกัดไวรัสโคโรนา ย้ำ ไทยยังควบคุมได้
“ส่วนหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่มีการเคลือบสาร เพื่อลดการซึมช่วยในการป้องกันแพร่กระจายของน้ำมูกน้ำลายที่เกิดจากการไอจาม พวกนี้เป็นแบบใช้แล้วทิ้ง ซึ่งจะสิ้นเปลืองมาก ถ้าใช้แบบผ้าก็จะซักได้ สามารถใช้ได้ทนทานเข้ากับยุคที่ต้องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ ถ้าทุกคนใช้คนละ 1 ชิ้นต่อวันก็จะมีขยะเกิดขึ้นจากการใช้หน้ากากอนามัยแบบนี้วันละหลายสิบล้านชิ้น แต่ถ้าช่วยกันประหยัดใช้หน้ากากแบบผ้าก็จะเกิดความคุ้มค่าและสะดวก ซึ่งประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อก็เหมือนกัน แต่ถ้าคนป่วยแล้วใช้หน้ากากทางการแพทย์จะเหมาะสมกว่า” นพ.โสภณ กล่าว
นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า สรุป คือ ประชาชนสามารถใช้หน้ากากอนามัยที่ทำจากผ้า เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเดินหายใจ ส่วนหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ (Surgical Face Mask) แนะนำให้ใช้สำหรับผู้ที่มีอาการป่วย เช่น ไอ จาม น้ำมูก กระทรวงสาธารณสุข จึงขอแนะนำให้ประชาชนทั่วไป ที่ไม่ได้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ สามารถใช้หน้ากากอนามัยที่ทำจากผ้าเป็นทางเลือกนำมาใช้ทดแทนหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อโรคได้เช่นเดียวกัน และสามารถซักทำความสะอาดนำมาใช้ซ้ำได้ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย
ทั้งนี้ หน้ากากอนามัยจะมี 3 ประเภท คือ 1.หน้ากากผ้า สำหรับบุคคลทั่วไปที่ยังไม่ป่วย 2.หน้ากากทางการแพทย์ สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไอจาม เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อที่ออกมากับน้ำมูก น้ำลาย และ 3. หน้ากาก N95 สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด
สำหรับการเลือกใช้หน้ากากอนามัย ต้องดูเรื่องของวันหมดอายุ หลังจากนั้นก็ดูลักษณะทางกายภาพ ซึ่งจะมีความสับสนว่าหน้ากากใส่ด้านไหนบ้าง หน้ากากอนามัยส่วนใหญ่จะเป็นแบบกรอง 3 ชั้น ซึ่งหน้ากากอนามัยในด้านชั้นนอกจะเป็นผิวมัน คือ ป้องกันการซึมเปื้อนไม่ดูดซับน้ำ ส่วนด้านในจะเป็นด้านที่ดูดซับน้ำ พวกน้ำมูกน้ำลาย ซึ่งส่วนใหญ่จะมีลักษณะนุ่มกว่าด้านนอก ด้านนอกจะมีลักษณะผิวหยาบ
“เราจะเอาด้านนุ่มไว้ข้างใน เพื่อจะสามารถซับน้ำมูกน้ำลายแล้วมีผิวนุ่มกว่า ด้านในเห็นว่าบานพับเกร็ดจะหงายขึ้น ซึ่งการไอจามทำให้เราเก็บละอองเก็บเสมหะน้ำมูกแล้วก็ซับเหงื่อได้ดี ก็จะสามารถใส่ได้สะดวกสบายมากขึ้น ด้านนอกจะไว้กันน้ำกันละอองที่จะสามารถพอตกมาที่หน้ากากแล้วผิวมันจะไม่ซึมน้ำ มันก็จะหล่นลงมาได้” นพ.โสภณ กล่าว
สำหรับวิธีใส่นั้น คือ ใช้สายคล้องที่ใบหูแล้วกดแถบลวดให้แนวสนิทกับใบหน้ากับจมูก หลังจากนั้นก็ดึงหน้ากากอนามัยส่วนล่างให้คลุมใต้คาง ก็จะคลุมทั้งจมูกและปาก
วิธีทิ้ง หน้ากากอาจจะมีเสมหะมีอะไรที่ปนเปื้อนวิธีทิ้งเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโรค ควรต้องทิ้งในถุงที่ปิดมิดชิด แล้วก็ทิ้งในถังขยะทั่วไปได้ ซึ่งจะทำให้ไม่ฟุ้งกระจาย พอเสร็จเรียบร้อยแล้วก็ต้องล้างมือ
อย่างไรก็ตาม ประชาชนยังคงต้องดูแลสุขภาพตนเองและคนในครอบครัวด้วยการสร้างสุขอนามัยที่ดี หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่เป็นประจำ หากจำเป็นต้องไปในที่มีผู้คนหนาแน่นหรือใช้บริการขนส่งสาธารณะ ควรสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการรับหรือแพร่กระจายเชื้อโรค หรือยึดหลักปฏิบัติ ป้องกันไวรัสโคโรนา “W-U-H-A-N” ดังนี้
W - wash hand หมั่นล้างมือให้สะอาด
U - use mask properly สวมหน้ากากอนามัยให้เป็นนิสัย
H - have temperature checked ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย เมื่อผิดปกติ
A - avoid large crowd หลีกเลี่ยงชุมชน/สถานที่แออัด
N - never touch your face with unclean hands อย่านำมือที่ไม่สะอาดสัมผัสใบหน้า
อัปเดตข่าวล่าสุดก่อนใคร Add friend ได้ที่ @PPTVOnline
ติดตามข่าววันนี้ได้ที่นี่ >> www.pptvhd36.com/tags/ข่าววันนี้