เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2563 ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19(ศบค.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวภายหลังรัฐบาลประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศ ตั้งแต่เวลา 22.00-04.00 น.วันที่ 3 เม.ย. ว่า ก่อนอื่นต้องบอกว่า สำหรับมาตรการควบคุมโควิด-19 มี 3 มาตรการ โดยมาตรการแรกการรักษาพยาบาล มาตรการที่ 2 คือ การป้องกันการแพร่ระบาดของโลก ในเรื่องพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้อำนาจรัฐบาลในการจัดการเรื่องมาตรการที่ 2 เท่านั้น มาตรการที่ 3 คือ การเยียวยา เป็นมาตรการด้านเศรษฐกิจ โดยมาตรการนี้ต้องอาศัยมติครม. ไม่ได้ให้อำนาจรัฐบาล ซึ่งก็มีหลายคน แม้แต่สื่อบางท่านมาเสนอว่า รัฐมีอำนาจเต็ม ทำไมไม่เยียวยาทั้งหมด ซึ่งไม่ใช่อำนาจตามกำหนด
ครม.นัดพิเศษ จับตาพ.ร.ก.กู้เงินกว่า 1 ล้านล้านบาท เยียวยาผลกระทบโควิด-19
ผู้ป่วยโควิด-19 เสียชีวิตเพิ่ม! 4 ราย รวม 19 ราย
นายวิษณุ กล่าวว่า สำหรับมาตราการที่ 2 ออกมาเพราะพ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ไม่เพียงพอต่อการควบคุมโรค จึงต้องมีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งได้ออกมาตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.2563 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่า จนถึงวันนี้ประเทศไทยยังไม่ได้ปิดประเทศ เพราะคำว่าปิดประเทศคือ การปิดสนามบิน เครื่องบินจะบินลง บินขึ้นไม่ได้ แต่เราได้เข้มงวด เคร่งครัดดังนี้ 1.คนไทย ที่อยู่นอกประเทศยังสามารถกลับประเทศไทยได้ เพราะเป็นสิทธิตามกฎหมาย ซึ่งเราได้อนุญาตให้กลุ่มคนไทยบางกลุ่มเข้ามาได้ อย่างคนไทยในมาเลเซีย ในอินโดนีเซียเข้ามา หรือจากสหรัฐ จากยุโรป ซึ่งเป็นนักเรียนไทยไปเรียนช่วงสั้นๆ เขาจำเป็นต้องกลับเข้ามาหลายร้อยคน เครื่องบินยังลงได้ เพราะสนามบินยังไม่ได้ปิด
“ส่วนสินค้าออกยังออกได้ เพราะเรายังต้องส่งออก และยังต้องนำเข้า ก็ยังมาได้ตามปกติ นี่คือแสดงว่าเรายังไม่ได้ปิดประเทศ แต่พวกที่จะมายาก ไม่ปิดก็เหมือนปิด นั่นก็คือ ชาวต่างประเทศ ที่กำลังจะเข้ามาในประเทศไทย เราเข้มงวดมาก แม้ไม่ได้ห้าม ยิ่งมาถึงตั้งแต่วันนี้ เราเข้มงวด 2 เท่า โดยเราขอร้อง ว่า ให้ชะลอการเข้ามาในประเทศอย่างน้อยจนถึงวันที่ 15 เม.ย. ทำไมต้องทำแบบนี้ เพราะช่วงนี้มีวันหยุดหลายวัน เพราะแม้สงกรานต์ไทยจะหยุดกิจกรรม แต่ยังมีชาวต่างชาติที่ไม่รู้ก็หลงเข้ามา หรือมีเหตุธุรกิจอันใดก็ตาม จึงจำเป็นต้องสกัดกั้นไว้ก่อน โดยชะลอการเข้ามา โดยจะเข้มงวดการตรวจหนังสือ ใบรับรองใบอนุญาต ดังนั้น แม้เข้ามาได้ แต่ก็จะยาก ทั้งการเข้า การขอใบอนุญาต แม้แต่คนไทยแม้เข้ามาก็ต้องถูกแยกตัวคุมไว้ 14 วันอยู่ดี”
“บิ๊กตู่” รอวัดผลเคอร์ฟิว 7 วัน หากเหลวจ่อปิดเมือง 24 ชม.
“ส่วนเรื่องประกาศเคอร์ฟิวที่ห้ามบุคคลทั่วราชอาณาจักร ออกนอกเคหสถานตามเวลากำหนด ไม่ว่าจะสถานที่ใดๆ ก็ตาม อยู่ที่ไหนต้องอยู่ตรงนั้น เพราะเมื่อถึงเวลากำหนดจะออกมาข้างนอก หรือเดินทางข้างนอกไม่ได้ โดยกำหนดไว้ 6 ชั่วโมง ตั้งแต่ 4 ทุ่ม จนถึงตี 4 ถ้ามาตรการนี้ไม่ได้ผล หรือมีผู้ฝ่าฝืน หรือมาตรการดี เราจะพิจารณา และอาจขยับเป็น 8 ชั่วโมง หรือ 10 ชั่วโมง 12 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้นก็ได้ สรุปคือ ตอนนี้ยังห้าม 6 ชั่วโมง ซึ่งจะมีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารตรวจตรา หากฝ่าฝืนโดยไม่มีข้อยกเว้น ก็จะมีความผิดตามพ.ร.ก. จำคุก 2 ปี ปรับได้ถึง 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” นายวิษณุ กล่าว และว่า รัฐจะใช้เวลา 6 ชั่วโมงมาทำความสะอาด และตัดโอกาสของพวกที่ออกมากลางคืน ซึ่งเราเชื่อว่าจะลดการแพร่ระบาดลงได้
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า สำหรับข้อยกเว้น มี 2 ประเภท โดยประเภทที่ 1 เขียนไว้ตามข้อกำหนด ได้แก่ ผุ้มีภารกิจ หรือปฏิบัติหน้าที่ด้านการแพทย์ ทั้งคนไข้ คนเจ็บ คนป่วย หมอ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ คลินิก โรงพยาบาล เข้ายกเว้นเป็นการทั่วไป นอกจากนี้ ยังมีผู้ที่มีอาชีพต้องทำหน้าที่ขนส่ง พวกขับรถส่งของ ขนของมาเติมในซูเปอร์มาร์เก็ต พวกขนส่งอาหารผัก ปลา ปู ดอกไม้ ที่ปากคลองตลาด หรือของที่ต้องไปเปิดตลาดตอนเช้า ซึ่งต้องขนของตอนตี 3 ตี 4 ก็ต้องยอม รวมถึงผู้ที่ต้องขนของเพื่อการส่งออก นำเข้า ที่ต้องไปรอที่ด่าน รถบรรทุกต้องไปรอรับที่สนามบิน
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจการเงิน ธนาคาร ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องขับรถเอาเงินไปเติมในเอทีเอ็ม ซึ่งพวกนี้ไม่ได้มั่วสุมกลางคืน หรือการขนส่งหนังสือพิมพ์ ต้องขนส่งภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคอีสาน ก็อนุญาตให้ทำหน้าที่นี้ได้ ตลอดจนต้องขนส่งคน ควบคุมตัวไปที่กักกัน หรือแม้แต่คนทำงานเป็นกะ เป็นผลัด เป็นเวรเป็นยาม ทั้งข้าราชการ โรงงาน ซึ่งก็อนุญาตเป็นข้อยกเว้น รวมไปถึงผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่กำหนดเอาไว้ในข้อยกเว้นเหล่านี้ แต่ทั้งหมดต้งมีเอกสารติดตัวไป โดยเอกสารที่กล่าว คือ บัตรประจำตัวประชาชน และคนที่ทำงานในลักษณะอาชีพขับรถส่งนสพ. ขนสินค้า หรือการรับส่งผู้โดยสาร หากถูกตรวจกลางทาง ต้องมีบัตรประชาชน และต้องมีเอกสารแสดงว่าเป็นรถที่มารับคนโดยสารจากต่างประเทศ มีผู้โดยสารนั่งมา มีหนังสือเดินทาง สวนคนส่งหนังสือพิมพ์ก็ขอหนังสือรับรองจากบรรณาธิการ
“ประเภทที่ 2 เป็นกลุ่มที่ได้รับการยกเว้นเฉพาะราย ก็เป็นกลุ่มอาชีพที่เราอาจยังนึกไม่ออกว่า อาชีพอะไรทำงานดึกดื่น นอกเหนือจากข้อยกเว้นเฉพาะกิจเฉพาะราย อย่างเจ็บป่วยฉุกเฉิน มีแค่บัตรประชาชนก็เพียงพอ สามารถบอกได้ว่าจะไปรพ.ไหนก็แจ้งมา ไม่จำเป็นต้องรอใบรับรองจากรพ. โดยกลุ่มยกเว้นเฉพาะรายก็ให้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับแต่งตั้งตามพ.ร.ก. มี นายกฯ รองนายกฯ รัฐมนตรีฯ มีผู้บัญชาการทหารสูงสุด และตำแหน่งใหญ่ๆ เลขาธิการสภาความมั่นคงฯ เลขาฯครม. แต่ไม่ได้ให้ไปถามกลุ่มนี้ เพราะจะมีการแต่งตั้งลงมาจนถึงระดับล่าง คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารที่ตั้งด่านอยู่กลางทาง ทุกคนเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ รวมไปถึงกำนัน ผู้ใหญ่บ้านด้วย ดังนั้น เมื่อมีอาชีพบางอาชีพที่ไม่ได้เขียนยกเว้นไว้ ท่านก็ไปขอพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งอาชีพเหล่านี้ อาทิ คนประกอบอาชีพกรีดยาง คนออกเรือกลางคืน คนซ่อมเสาสัญญาณ ฯลฯ โดยในอนาคตอาชีพกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มยกเว้นประเภททั่วไปในอนาคต
ผู้สื่อข่าวถามว่าสื่อมวลชนสามารถทำข่าวช่วงเคอร์ฟิวได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ได้ คงไม่มีใครมาทำข่าว หรือถ่ายภาพช่วงนี้ เพราะประกาศห้ามออกข้างนอกช่วงเวลานี้
อัปเดตข่าว สถานการณ์ โควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุด 3 เม.ย. 63
อัปเดตข่าวโควิด-19 (COVID-19) ล่าสุด 3 เม.ย. 63
อัปเดตข่าวล่าสุด โควิด-19 (Covid-19) ในวงการฟุตบอล วันที่ 3 เม.ย. 63
ข่าวแนะนำ
เพลงดังข้ามคืน “โบว์ ซุปเปอร์วาเลนไทน์” เปิดใจเหมือนชุบชีวิตวง
“เจน นุ่น โบว์” ปังไม่หยุด คนดังคัฟเวอร์ “ซุปเปอร์วาเลนไทน์” เพียบ
“เจน นุ่น โบว์” ตัวจริงมาเอง เต้น “ซุปเปอร์วาเลนไทน์” มันส์สนั่นฟีด