ธรรมชาติไทยฟื้นฟูช่วงโควิด-19 เมื่อไร้เงานักท่องเที่ยว


โดย PPTV Online

เผยแพร่




การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ประเทศไทยมีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และปิดบริการที่ไม่จำเป็นหลายประเภท รวมถึงอุทยานต่าง ๆ ซึ่งปรากฏว่ามีสัตว์ในธรรมชาติปรากฏตัวออกมาให้เห็น

เดือนเมษายนของทุกปีได้ชื่อว่าเป็นช่วงเวลาของการท่องเที่ยวสำหรับคนไทย เพราะมีทั้งวันหยุดจักรี (6 เม.ย.) และวันหยุดยาวช่วงเทศกาลวันสงกรานต์ (13-15 เม.ย.) แต่ด้วยการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ในปีนี้บรรยากาศการท่องเที่ยวเงียบเหงาอย่างมาก

อัปเดตข่าว สถานการณ์ โควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุด 20 เม.ย. 63

อัปเดตข่าวโควิด-19 (COVID-19) ล่าสุด 20 เม.ย. 63

อัปเดตข่าวล่าสุด โควิด-19 (Covid-19) ในวงการฟุตบอล วันที่ 20 เม.ย. 63

โดยเฉพาะเมื่อมีการประกาศปิดการท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติและวนอุทยานทุกแห่งทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม กิจกรรมการท่องเที่ยวของคนไทยที่ลดลงก็มีผลดีปรากฏให้เห็น เพราะเช่นเดียวกับในต่างประเทศ ไทยเองก็มีภาพธรรมชาติที่หาดูยากออกมาให้เห็นในช่วงนี้

เมื่อหลายประเทศล็อกดาวน์ ธรรมชาติจึงฟื้นตัวในช่วงโควิด-19

เขาใหญ่ฟื้นตัวช่วงโควิด-19

เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่สำรวจพื้นที่อุทยานฯ ช่วงวันที่ 5-8 เม.ย. ที่ผ่านมา พบว่ามีสัตว์ป่าหลายชนิดออกหากินอยู่ใกล้ถนนสัญจรในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ บ่งชี้ถึงการฟื้นตัวของธรรมชาติหลังไม่มีผู้คนไปรบกวน โดยเฉพาะการพบเห็นนกกก ซึ่งเป็นนกขนาดใหญ่จำพวกนกเงือก ปรากฏตัวให้เห็นโดยง่ายขณะที่มันกำลังจับแย้กิน ซึ่งเป็นภาพที่หาชมยาก

พิษโควิด-19 ปิดอุทยานฯ เป็นโอกาสให้ธรรมชาติฟื้นตัว

ค่างแว่นแฝดเผยโฉม เยียวยาจิตใจช่วงโควิด-19

เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 63 เพจเฟซบุ๊ก “สำนักอุทยานแห่งชาติ” เผยภาพ ครอบครัวค่างแว่นพากันออกมาเที่ยวเล่นกลางสนามหญ้าหน้าศูนย์บริการนักท่องเที่ยวที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี โดยแม่ค่างแว่นอุ้มลูกน้อยฝาแฝดสีเหลืองทองออกมาด้วย

ข้อความของเพจระบุว่า “ที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง หมู่เกาะกลางทะเลอันไกลแสนไกล ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี เราหนีเรื่องเครียด ๆ มาชมภาพชีวิตที่สวยงามและแสนจะอบอุ่นของครอบครัวค่างแว่นถิ่นใต้ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ซึ่งตอนนี้อยู่ในช่วงปราศจากนักท่องเที่ยว ค่างแว่นจะออกจากป่ามาเดินเล่น นั่งเล่น นอนเล่นกลางสนามหญ้าหน้าศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอย่างสนุกสนาน ซึ่งหากใครอยากชมก็ชมภาพถ่ายไปพลาง ๆ ก่อนนะครับ สังเกตดี ๆ ว่ามีฝาแฝดอ่างทองตัวน้อย ๆ ออกมาโชว์ตัวด้วย”

เปิดตัว "ลูกค่างแว่นแฝด” แห่งผืนป่าหมู่เกาะอ่างทอง

โลมาเริงร่าทะเลภูเก็ต

วันที่ 8 เม.ย. 63 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) โพสต์รูปภาพโลมารวมกลุ่มว่ายน้ำอย่างสนุกสนาน ผ่านเพจเฟซบุ๊ก “กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง” พร้อมข้อความ “ทะเลสดใส พบฝูงโลมารวมกลุ่มเริงร่าในทะเลภูเก็ต”

จากการจัดทีมสำรวจสัตว์ทะเลหายากบริเวณเกาะไม้ท่อน จ.ภูเก็ต ด้วยอากาศยานไร้คนขับ (Drone) ร่วมกับการใช้กล้องถ่ายภาพ DSLR ทีมงานพบโลมาปากขวด 1 ฝูง จำนวน 15 ตัว มีลูก 2 ตัว กำลังหาอาหาร และพบพฤติกรรมการผสมพันธุ์จำนวน 1 คู่

ทั้งนี้ ทช. ยังมีแผนออกสำรวจและติดตามจำนวนประชากรโลมาปากขวด ซึ่งเป็นกลุ่มโลมาปากขวดประจำถิ่น ต่อไป

เต่าทะเลวางไข่ หลังหาดสงขลาสะอาดปราศจากภัย

วันที่ 10 เม.ย. 63 เพจเฟซบุ๊ก ทช. โพสต์รูปภาพไข่เต่าทะเลบริเวณชายหาดสงขลา พร้อมข้อความ “ชายหาดสงขลาสะอาด พบเต่าทะเลวางไข่” ระบุว่า พบเต่าทะเลไม่ทราบชนิดขึ้นมาวางไข่ ประมาณ 50-60 ฟอง บริเวณชายหาด ต.ม่วงงาม อ.สิงหนคร จ.สงขลา

ทาง ทช. คาดการณ์ว่า เต่าทะเลน่าจะขึ้นมาวางไข่ในช่วงกลางดึกของวันที่ 9 เม.ย. 63 ผลการตรวจสอบไม่พบแม่เต่าที่ขึ้นวางไข่ พบเห็นแค่รอยเต่า ขนาดรอยกว้างประมาณ 120 ซม. จึงประสานเครือข่ายและชาวบ้านในพื้นที่ ช่วยสังเกตการณ์เนื่องจากมีแนวโน้มว่าแม่เต่าอาจมีการขึ้นมาวางไข่อีกครั้งในช่วง 14 วันถัดจากนี้ ส่วนไข่เต่าที่พบได้ประสานผู้ใหญ่บ้านในการจัดการเฝ้าระวัง และกั้นเขตพื้นที่ล้อมรอบหลุมเต่า เพื่อป้องกันการขุดหลุมไข่

ช้าง ช้าง ช้าง

เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2563 อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โพสต์รูปภาพผ่านเพจเฟซบุ๊ก “อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ - Khao Yai National Park” เผยให้เห็นช้างป่าตัวหนึ่ง ออกมาเดินเล่นอยู่กลางถนน

ข้อความในเพจระบุว่า “ช้างค่ะ ช้างค่ะ หนูชื่อช้าง มาตัวเดียวไม่ได้มากับใคร ไม่มีนักท่องเที่ยวลูกพี่ขอเดินเล่นนะ รูปภาพจากเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ #ปิดอุทยาน 11.04.2563 #อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ #เราจะดูแลธรรมชาติและสัตว์ป่าเพื่อคุณ”

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 14 เม.ย. ที่ผ่านมาในช่วงสงกรานต์ ก็มีการเผยแพร่ภาพ “ช้างป่า 12 ตัว ออกมาสวัสดีปีใหม่ไทย ณ หอดูสัตว์หนองผักชี”

“ช้างป่า” เดินเล่นกลางถนน หลังปิดอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

พบพะยูนและสัตว์ทะเลหายากที่ตรัง

วันที่ 13 เม.ย. 63 สำนักอุทยานแห่งชาติโพสต์ภาพ เจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 จังหวัดตรัง ร่วมกับอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ออกสำรวจติดตามประเมินสถานภาพพะยูนและสัตว์ทะเลหายาก โดยการเฝ้าสังเกตทางเรือและการบิน Drone สำรวจ บริเวณแหล่งหญ้าทะเลหาดหยงหลำ หาดหยงหลิง และเกาะมุกด์ ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม

จากการสำรวจพบว่า มีพะยูนจำนวน 4 ตัว โลมาจำนวน 4 ตัว และเต่าทะเลจำนวน 8 ตัว โดยพะยูนพบบริเวณระหว่างหัวแหลมหาดหลงหลำกับเกาะมุกด์ ขณะที่เต่าทะเลพบแพร่กระจายตั้งแต่หาดหยงหลำจนถึงสะพานเกาะมุกด์ มีพฤติกรรมว่ายน้ำโผล่ขึ้นมาหายใจ ส่วนโลมาพบบริเวณหาดหยงหลิง มีพฤติกรรมว่ายน้ำโผล่ขึ้นมาหายใจและบิดตัวขณะกระโดด

จากการสำรวจของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตลอดจนอาสาสมัครและภาคประชาชนท้องถิ่น ในปี พ.ศ. 2562 พบพะยูนในทะเลตรัง จำนวน 185 ตัว ถือเป็นแหล่งที่มีพะยูนอาศัยอยู่มากที่สุดของประเทศไทย โดยจากการสำรวจทั่วประเทศ พบพะยูน จำนวน 261 ตัว

ขอบคุณภาพจาก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, สำนักอุทยานแห่งชาติ, อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ