"เลือด" เป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ป่วยอย่างมากทั้งผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด และผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการผ่าตัดเองก็ตาม
"กาชาด เลือดช็อต หมดสต็อก วิกฤตหนักขาดแคลนทั่วประเทศ!"
ที่ผ่านมาสิ่งที่เห็นชินตาและคุ้นตาเสมอคือการประกาศรับบริจาคเลือดจากสภากาชาดไทย ที่เป็นหน่วยกลางสำหรับการรวบรวมและส่งต่อเลือดให้โรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศกว่า 100 แห่ง และแม้แต่โรงพยาบาลรัฐบาลเอง หลายแห่ง เช่น โรงพยาบาลราชวิถี มีข้อกำหนดว่า คนที่จะเข้ารับการผ่าตัดเอง จะต้องให้ญาติหรือเพื่อนมาบริจาคเลือดกรุ๊ปเดียวกับผู้ป่วยอย่างน้อย 2 คน หรือกรุ๊ปอื่นๆ เพื่อให้เลือดในคลังของโรงพยาบาลต่างๆ มีอยู่อย่างเพียงพอ
อย่างไรก็ตามกระแสการรับบริจาคเลือดนั้น เมื่อมีการประกาศขาดแคลนเลือดทุกครั้ง ก็จะมีประชาชนจำนวนมากมาบริจาคเลือด แต่กระแสนั้นก็จะตกอย่างรวดเร็ว
ชี้ต้องการบริจาคเลือดวันละ 3,000 คน
พญ.สร้อยสอางค์ พิกุลสด ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย เปิดเผยกับ ทีมข่าว PPTVHD โดยอธิบายถึงสาเหตุที่โลหิตขาดแคลนว่า ที่ผ่านมามีการขาดแคลนโลหิตอย่างหนักในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่ทางสภากาชาดไทยได้มีการประกาศผ่านออกไปทางสื่อต่างๆ จนมีประชาชนให้ความสนใจเข้ามาร่วมบริจาคเป็นจำนวนมาก แต่หลังจากเดือนเมษายน ประชาชนให้ความสนใจน้อยลง ซึ่งจะส่งผลให้ปัญหาการขาดแคลนโลหิตกลับมาอีกครั้ง อย่างไรก็ตามสาเหตุที่แท้จริงของการขาดแคลนเลือดในปัจจุบัน เนื่องจากการแพทย์ไทยเจริญมากขึ้น มีการใช้โลหิตมาก แต่มีประชาชนมาบริจาคน้อย จึงไม่สมดุลกัน
อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ ผอ.ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติฯ เปิดเผยถึงโลหิตที่สภากาชาดได้รับจากการบริจาคในแต่ละวันว่า มีประชาชนมาบริจาคโลหิตทุกวัน วันละประมาณ 1,500 คน แต่ยังไม่เพียงพอ ซึ่งตามหลักแล้วใน 1 วันต้องการได้รับเลือดประมาณ 1,800 คน และอยากให้ประชาชนเข้ามาบริจาคโลหิต 3,000 คนต่อวัน หากประชาชนมาเพียงแค่ 1,500 คน ก็จะมีคนไข้อีกเป็นร้อยคนที่ต้องรอคิว
ทั้งนี้ที่ผ่านมาโรงพยาบาลแต่ละแห่งขอมา แต่สภากาชาดมีเลือดให้ไม่พอตามจำนวนที่ขอ ก็ต้องไกล่เกลี่ยกันไปให้ได้ทั่วถึง พอโรงพยาบาลกลับไป เขาก็ต้องมาดูว่าคนไข้คนไหนเจ็บหนัก คนไหนต้องผ่าตัดด่วน คนไข้เหล่านั้นต้องได้เลือดก่อน ส่วนคนที่เหลือก็ต้องรอคิว ซึ่งไม่รู้ว่าจะได้เมื่อไร
"โรงพยาบาลเกือบ 100 แห่งมุ่งมาขอโลหิตที่สภากาชาด โดยทางสภากาชาดก็อยากให้ตามจำนวนที่ขอ ไม่ใช่ใช้วิธีเกลี่ยให้ จึงต้องมีการรณรงค์ให้ประชาชนที่มีความใจบุญหรือสุขภาพร่างกายแข็งแรงมาบริจาคโลหิต เพราะโลหิตที่ได้รับจะหมดวันต่อวัน"
แพทย์หญิงสร้อยสอางค์ กล่าวต่อว่า ทางสภากาชาดฯพยายามจัดกิจกรรมเป็นประจำทุกเดือน เพื่อรณรงค์ให้คนมาบริจาคโลหิตมากขึ้น เช่น ในวันวิสาขบูชาที่ผ่านมา ได้เชิญประชาชนกลุ่มที่สนใจทำบุญในวันพระใหญ่ให้มาบริจาคโลหิต หรือวันอาทิตย์ที่ 14 มิถุนายน 58 ที่จะถึงนี้ ซึ่งเป็นวันบริจาคโลหิตโลก ก็ได้เชิญชวนให้ประชาชนมาร่วมกิจกรรม แต่บางเดือนก็ไม่มีวันสำคัญเลย ก็ไม่มีกระแส คนก็ลืมไป เลยต้องมาหาสาเหตุว่าทำไมประชาชนถึงไม่มาบริจาคอย่างสม่ำเสมอ แล้วจะต้องทำอย่างไรถึงจะให้ประชาชนมาบริจาคเพิ่มให้ได้
เชิญชวนบริจาคทั้ง "เลือด-เกล็ดเลือด"
อนึ่งในความเป็นจริงแล้วในทางการแพทย์ จะไม่ได้ต้องการแค่การใช้เลือด แต่ต้องการใช้ หรือให้คนมาบริจาคเกล็ดเลือดเพื่อใช้สำหรับโรคบางโรคโดยเฉพาะ เช่น ในผู้ป่วยมะเร็ง และโรคอื่นๆด้วย
สำหรับการบริจาคเลือด สภากาชาดจะมีขั้นตอนการจัดเก็บโลหิต โดยคนบริจาค 1 คน จะได้โลหิต 1 ถุง ใน 1 ถุง จะประกอบไปด้วยเม็ดเลือดแดง เกล็ดเลือด และน้ำเหลือง ซึ่งจะแบ่งออกไปเป็นถุง จะมีการปั่นแยกออกไปเพื่อนำไปใช้กับคนไข้ในแต่ละกรณี ขึ้นอยู่กับโรคที่เป็น โดยเฉพาะเกล็ดเลือดจะมีความต้องการใช้จำนวนมาก เพราะคนไข้ 1 คนไม่ได้ต้องการเกล็ดเลือดแค่ 1 ยูนิต แต่เวลาขาดจะขอถึง 10 ยูนิต คือต้องมีประชาชนมาบริจาคถึง 10 คน
โดย ผอ.ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติฯ อธิบายเพิ่มเติมว่า นอกจากบริจาคเลือดปกติแล้ว จะมีการรับบริจาคเฉพาะเกล็ดเลือดด้วย โดยจะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง จะมีเครื่องปั่นแยก โดยเลือดจะเข้าไปในเครื่อง เครื่องก็จะปั่นแยกเอาเกล็ดเลือดออกมาในขณะนั้นเลย ส่วนเลือดที่เหลือก็จะส่งกลับเข้าสู่ผู้บริจาค โดยก่อนที่จะบริจาค จะมีการตรวจดูว่ามีเกล็ดเลือดเยอะพอที่จะบริจาคให้คนอื่นหรือไม่
การจัดเก็บ-อายุของเลือด เกล็ดเลือด และน้ำเหลือง
ส่วนการจัดเก็บโลหิต เมื่อได้เลือดมาแล้ว จะมีการนำไปแช่ในตู้แช่ ซึ่งจะอยู่ที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส เย็นกว่าตู้เย็นธรรมดา แต่ไม่ถึงกับเป็นน้ำแข็ง แล้วต้องนำไปปั่นแยกเพื่อให้ได้เม็ดเลือดแดง เกล็ดเลือด และน้ำเหลือง โดยเม็ดเลือดแดงต้องแช่อยู่ในอุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส เกล็ดเลือดต้องแช่อยู่ในอุณหภูมิประมาณ 22-25 องศาเซลเซียส และน้ำเหลืองต้องแช่แข็งอุณหภูมิติดลบถึง 20 องศาเซลเซียส
โดยโลหิตแต่ละชนิดจะมีการเก็บใส่ถุงแล้วนำไปใส่ในตู้แช่เฉพาะเป็นชนิดไป หากต้องการนำเม็ดเลือดแดงออกมาใช้ จะต้องนำออกมาตั้งไว้ในอุณหภูมิในห้องผู้ป่วยสักพัก ถึงจะใช้ได้ แต่ถ้าเกล็ดเลือดสามารถนำมาใช้ได้เลย ส่วนน้ำเหลืองที่มีอุณหภูมิติดลบ จะต้องนำมาแช่น้ำอุ่นหรือตั้งไว้รอจนละลาย
"หากเก็บไม่ถูกหลักการ โลหิตจะมีอายุสั้นลง หมดสภาพเร็ว" ผอ.ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติฯ กล่าว
พญ.สร้อยสอางค์ เปิดเผยอีกว่า ในแต่ละถุงโลหิตจะมีน้ำยาหล่อเลี้ยง ซึ่งน้ำยาแต่ละชนิดจะไม่เหมือนกัน สาเหตุที่ใช้น้ำยาต่างชนิดกัน เพราะบางน้ำยามีราคาแพง โดยจะต้องดูอีกทีว่ามีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหนที่จะต้องเก็บเป็นเวลานาน ในขณะที่โลหิตขาดแคลน ได้รับมาไม่กี่วันก็ต้องให้คนไข้หมด โดยทั่วไปน้ำยาหล่อเลี้ยงจะทำให้เม็ดเลือดแดงอยู่ได้ประมาณ 30 วัน เกล็ดเลือดประมาณ 5 วัน และน้ำเหลืองประมาณ 1 ปีหากอยู่ในสภาพแช่แข็ง
ทั้งนี้ สภากาชาดไทย ได้เชิญชวนประชาชนเข้าร่วมบริจาคโลหิตได้ที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ถนนอังรีดูนังต์ ส่วนภูมิภาคบริจาคโลหิต ได้ที่ ภาคบริการโลหิตแห่งชาติ จังหวัดเชียงใหม่ นครสวรรค์ พิษณุโลก อุบลราชธานี ขอนแก่น นครราชสีมา ชลบุรี ราชบุรี สงขลา ภูเก็ต และงานบริการโลหิต สถานีกาชาดหัวหินเฉลิมพระเกียรติ จ.ประจวบคีรีขันธ์ สอบถามรายละเอียด ได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์และจัดหาผู้บริจาคโลหิต โทร. 0-2256-4300, 0-2263-9600-99 ต่อ 1101 หรือสามารถไปบริจาคได้ตามโรงพยาบาลของรัฐได้ทุกแห่งทั้งกทม.และต่างจังหวัด