“วิษณุ” ไม่ขอพูด แนวทางสู้คดีเหมืองอัคราฯ หวั่น เสียรูปคดี

โดย PPTV Online

เผยแพร่

ส่วนแนวต่อสู้คดีอยู่ในอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าไม่มีการสั่งการพิเศษ และยังไม่ขอพูดใด ๆ เพราะเกรงว่าจะเสียรูปคดี

ป.ป.ช.พบเส้นทางการเงิน"สินบน"คดีเหมืองอัครา

แกนนำชาวบ้านค้านเหมืองทองอัคราฯ เผยแม้ปิดเหมืองมากว่า 3 ปี แต่น้ำประปา อาบแล้วยังรู้สึกคัน และต้องซื้อน้ำกิน เชื่อสารเคมียังรั่วอยู่ แต่หายใจสะดวกขึ้น เพราะฝุ่นลดน้อยลง ส่วนคนที่เคยป่วยเหนื่อยหอบ อาการก็ดีขึ้น ส่วนแนวต่อสู้คดีอยู่ในอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าไม่มีการสั่งการพิเศษ และยังไม่ขอพูดใด ๆ เพราะเกรงว่าจะเสียรูปคดี

เป็นคำชี้แจงสั้น ๆ ของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่าขณะนี้ ยังอยู่ระหว่างการเจรจากับ บริษัท คิงส์เกต ซึ่งเป็นบริษัท แม่ของเหมืองทองอัครา ก่อนที่อนุญาโตตุลาการจะมีคำตัดสิน แต่ในรายละเอียดไม่สามารถที่จะเปิดเผยได้ เพราะเกรงว่าหากพูดไปแล้วจะกระทบกับคดี

และวันนี้ทีมข่าวพีพีทีวีลงพื้นที่เหมืองแร่ทองคำชาตรีของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ใน จ.พิจิตร โดยสังเกตการณ์ได้เพียงรอบนอก ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปภายใน พบว่าแม้จะมีการปิดทำการแล้วแต่ก็ยังมีพนักงานบางส่วนประจำการอยู่ ขณะที่พื้นที่ใกล้ทางเข้าเหมือง ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่รกร้าง และมีบ้านคนอยู่ประปราย

น.ส.สื่อกัญญา ธีระชาติดำรง วัย 43 ปี แกนนำชาวบ้านที่คัดค้านการทำเหมือง ระบุว่า การทำเหมืองทำให้น้ำประปาและพืชผักของชาวบ้านปนเปื้อนโลหะหนัก ทำให้ต้องซื้อน้ำดื่มเอง ไม่สามารถดื่มน้ำประปาได้เหมือนก่อน ใช้อาบยังรู้สึกคัน ขณะที่อากาศก็เต็มไปด้วยฝุ่นละออง ทำให้เชื่อว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้ชาวบ้านทยอยล้มป่วย โดยสถาบันนิติวิทยาศาสตร์เคยมาตรวจสุขภาพชาวบ้านในเดือนมกราคม ปี 2558 พบหลายคนมีสารหนูและแมงกานีสในร่างกายสูงกว่าปกติ

ส่วนกรณีที่ นายสิโรจน์ ประเสริฐผล กรรมการ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส เปิดเผยกับทีมข่าวพีพีทีวีก่อนหน้านี้ว่า เคยตรวจสุขภาพพนักงานในเหมืองแล้วไม่พบความผิดปกติ ขัดแย้งกับผลตรวจชาวบ้าน

น.ส.สื่อกัญญา บอกว่า บริษัทไม่เคยเปิดเผยผลตรวจเป็นเอกสารให้ชาวบ้านทราบ จึงไม่ทราบว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร แต่ก็แปลกใจเหมือนกันว่าทำไมผลตรวจของพนักงานบริษัทกับชาวบ้านถึงไม่ตรงกัน

ส่วนการแก้ปัญหาของภาครัฐ น.ส.สื่อกัญญา เปิดเผยว่า กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเมืองแร่ หรือ กพร. เคยสั่งให้บริษัทแจกจ่ายน้ำให้ชาวบ้านดื่ม ส่วนน้ำใช้ ชาวบ้านได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายปกครองและเอกชน โดยมาแจกแท็งก์น้ำให้แต่ละบ้านและคอยเติมน้ำให้ แต่หลังปิดเหมืองเมื่อเดือนมกราคม ปี 2560 บริษัทก็หยุดแจกน้ำดื่ม ส่วนภาครัฐก็หยุดแจกน้ำใช้ ทำให้ต้องกลับมาซื้อน้ำดื่มเอง และจำเป็นต้องอาบน้ำประปา

แกนนำชาวบ้านบอกว่า แม้ว่าปัจจุบันจะมีการปิดเหมืองมากกว่าสามปีแล้ว แต่ทุกครั้งที่อาบน้ำประปา ก็ยังรู้สึกคัน ทำให้เชื่อว่ายังมีสารเคมีรั่วไหล สิ่งที่ดีขึ้นคืออากาศไม่มีฝุ่นละอองจากการทำเหมืองแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยเห็นทาง บ.อัคราฯ เข้ามาแก้ไขหรือฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในชุมชนเลย แม้ว่าคำสั่งของหัวหน้า คสช. ที่มีการใช้มาตรา 44 จะระบุให้บริษัทต้องฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมด้วย

ด้าน นายล๊อต เภาบัว วัย 63 ปี ชาวบ้านที่เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลรามาธิบดี หลังตรวจพบค่าสารหนูและแมงกานีสเกินมาตรฐาน เผยว่า หลังเหมืองเปิดทำการได้ประมาณ 10 ปี ราวปี 53-54 เริ่มมีอาการหอบ เหนื่อยง่าย กินข้าวไม่ลง และไม่ใช่คนเดียวที่มีอาการนี้ เพราะมีชาวบ้านหลักร้อยคน ทยอยป่วยลักษณะเดียวกัน และอาการเริ่มหนักขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ นำโดย พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ มาตรวจร่างกายในปี 2558 ได้แนะนำให้ไปรักษาที่ รพ.รามาธิบดี ซึ่งแพทย์ได้รักษาตามอาการ ตลอดช่วงที่เหมืองยังเปิดทำการอยู่ แต่ละเดือนจะมีอาการเหนื่อยและวูบจนต้องเข้าโรงพยาบาล 3-4 ครั้ง แต่หลังเหมืองปิด ก็แทบไม่ได้เข้าโรงพยาบาลอีกเลย มีเพียงเข้าไปรักษาโรคเกาต์ ซึ่งเป็นโรคประจำตัว ทำให้มั่นใจว่าอาการป่วยเป็นผลกระทบจากการทำเหมือง

จากการพูดคุย กลุ่มชาวบ้านที่คัดค้านการทำเหมือง มองว่า การดำเนินการขอหน่วยงานรัฐในพื้นที่ที่ไม่เด็ดขาดพอเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หัวหน้า คสช.ต้องใช้มาตรา 44 สั่งปิดเหมือง

เปิดใจ กรรมการบริษัทอัคราฯ เชื่อ หากรัฐไม่ใช้ ม.44 สั่งปิดเหมืองไม่ได้

 

 

 

 

Bottom-PL-HLW Bottom-PL-HLW

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ