คำยืนยัน จาก นพ. ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. ภายหลังลงพื้นที่เขตราษฎร์บูรณะ ไปพูดคุยกับประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากการเลิกสัญญาบัตรทองกับโรงพยาบาลในพื้นที่ แล้วก็เดินทางมาที่เขตราษฎร์บูรณะกันอย่างหนาแน่น 5 วันแล้ว เพื่อมารอรับบัตรคิว กรอกเอกสารขอลงทะเบียนใช้สิทธิย้ายโรงพยาบาล
เช็ก 64 คลินิก-รพ. หลัง สปสช.ยกเลิกบัตรทอง กระทบผู้มีสิทธิ 8 แสนราย
นพ.ศักดิ์ชัย ได้บอกกับประชาชนว่า ยังไม่จำเป็นต้องมายื่นขอย้ายเข้าโรงพยาบาลใด เพราะ สปสช.ยังมีการตรวจสอบโรงพยาบาลอื่นๆอีก 106 แห่ง ซึ่งโรงพยาบาลที่ประชาชนขอย้ายเข้า ก็อาจเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลที่จะถูกยกเลิกสัญญาต่อไปก็ได้ ดังนั้น ขอให้ประชาชน ใช้เป็น "สิทธิว่าง" กล่าวคือ ถ้าเจ็บป่วยเล็กน้อย หรือ รับยา สามารถไปโรงพยาบาลใดก็ได้ ที่ร่วมกับ สปสช. หรือจะไปอนามัยในพื้นที่ก็ได้
ส่วนใครที่มีนัดอยู่กับโรงพยาบาลใหญ่ที่ต้นสังกัดเคยส่งตัวไป สามารถไปที่โรงพยาบาลนั้นๆ ได้เลย โดยไม่ต้องไปคลินิกอื่นๆ เพื่อขอใบส่งตัวก่อน
ส่วนขณะนี้ สปสช.กำลังเร่งหาสถานพยาบาลทดแทน เพราะเมื่อยกเลิกสัญญาล็อต 3 อีก 106 แห่ง ก็จะยิ่งมีปัญหามากกว่านี้ แต่ละโรงพยาบาลที่มีอยู่ก็ต้องแบกรับผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจำนวนมาก สปสช.จึงไปคุยหารือกับกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลรัฐบาล และโรงพยาบาลเอกชนทั้งหมดในกรุงเทพมหานคร รวม 200 แห่ง จะเข้ามาช่วยเหลือในช่วงนี้ไปก่อน
สอดคล้องกับข้อมูลของ สำนักการแพทย์ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ที่เตรียมพร้อมรับมือประชาชนเข้าใช้บริการตามสิทธิ์การรักษาพยาบาลหลักประกันสุขภาพ หรือ บัตรทองได้ โดย พญ.กฤชยา มาลา รักษาการผู้อำนวยการศูนย์บริการสาธารณสุข 39 เขตราษฎร์บูรณะ ระบุว่า ศูนย์บริการสาธารณสุขทุกเขต รับสั่งมาให้เตรียมรับมือ รองรับผู้ป่วยจากสิทธิว่าง โดย สปสช. มีการให้รหัสกับเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการสาธารณสุข และ โรงพยาบาลในสังกัด กทม. เข้าระบบไปดู ประวัติผู้ป่วย เพื่อให้สะดวกต่อการจัดยาและรักษา
พร้อมกันนี้ มีการจ้างแพทย์พิเศษเพิ่ม ขยายเวลาการรักษา และเพิ่มสต็อคยา 2-3 เท่า เพื่อให้เพียงพอต่อการรักษาผู้ป่วย ยืนยันว่าไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของประวัติ หรือ ยา เพราะทาง สปสช. จะเป็นผู้จัดการให้ประชาชนทั้งหมด
สำหรับ โรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ มีทั้งหมด 9 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลกลางโรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานครโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ โรงพยาบาลสิรินธร โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน
นอกจากนี้ ยังมี ศูนย์บริการสาธารณสุขชุมชน 69 แห่ง ที่ดูแลโดยสำนักอนามัย ประชาชนสามารถเข้าไปใช้บริการได้เช่นเดียวกัน
รวมไปถึงโรงพยาบาลของรัฐ ในกรุงเทพมหานคร ที่ร่วมกับ สปสช. ประชาชนสามารถไปใช้บริการได้เช่นกัน
ที่น่าสนใจ คือวันนี้ เลขาธิการ สปสช. ยังบอกอีกว่า ทุกเขตของกรุงเทพมหานคร มีการทุจริต ซึ่งก็ต้องมีการดำเนินการทางกฎหมาย โดยจะส่งเรื่องให้ตำรวจกองปราบปรามฯ และดีเอสไอ เอาผิดทั้งทางคดีแพ่ง และคดีอาญา รวมทั้งความผิดด้านวิชาชีพ
สำหรับโรงพยาบาลที่เข้ามาร่วมสัญญาใหม่ รวมกับโรงพยาบาลเดิมที่ยังไม่ยกเลิกสัญญา ต่อไป จะมีการวางแนวทางป้องกันการทุจริต โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย โดยการหาคู่สัญญาใหม่นี้ จะรีบดำเนินการให้เสร็จภายใน 2 เดือนนี้
ด้านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยืนยันว่า ไม่มีใครถูกตัดสิทธิบัตรทอง เพียงแต่คลินิกต่างๆ กระทรวงสาธารณสุขตรวจพบการทุจริตเมื่อพบความผิดก็ต้องยกเลิกคลินิกที่มีปัญหา รวมถึงต้องแจ้งความทั้งทางแพ่งและอาญา เพราะเป็นการใช้งบประมาณของภาครัฐ ที่สำคัญรัฐบาลได้ดำเนินการจัดหาสถานที่ทดแแทนให้แล้ว พร้อมยอมรับว่าอาจส่งผลกระทบ ต่อประชาชนในบางเรื่อง
ที่ผ่านมารัฐบาล พยายามแก้ไขปัญหาทุกอย่าง และอยากให้ย้อนกลับไปดูว่าทีผ่านมาเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย ซึ่งทุกฝ่ายจะต้องบูรณาการร่วมกันแก้ปัญหาต่างๆเหล่านี้ไปให้ได้
สรุปชัด! อัปเดต จาก 'สปสช.' 8 แสนคน ต้องย้ายสิทธิ์ทุจริตบัตรทอง 64 คลินิก ต้องทำอย่างไร