องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ หรือ เอฟดีเอ ประกาศอนุญาตการเลี้ยงปลาแซลมอนแอตแลนติกที่ผ่านการตัดต่อพันธุกรรมเพื่อการพาณิชย์ และจำหน่ายเพื่อบริโภคแล้ว หลังจากที่ก่อนหน้านี้ในปี 2010 ได้มีการรับรองว่าปลาแซลมอนแอตแลนติกตัดต่อพันธุกรรมที่พัฒนาโดยบริษัท อควา เบาท์ตี้ เทคโนโลยี นั้นมีความปลอดภัยไม่ต่างกับปลาแซลมอนที่เลี้ยงในฟาร์มทั่วไป
สำหรับการตัดต่อพันธุกรรมแซลมอนแอตแลนติกนี้ เป็นการนำยีนจากแซลมอนพันธุ์ชีนุก และปลาไหลโอเชียน เพาท์ มาตัดต่อเข้ากับดีเอ็นเอของแซลมอนแอตแลนติก โดยผลที่ได้คือ แซลมอนแอตแลนติกจะโตได้ขนาดเร็วกว่าแซลมอนตามธรรมชาติ หรือแซลมอนเลี้ยงถึง 2 เท่า
ทั้งนี้ ทาง อควา เบาท์ตี้ เทคโนโลยี ระบุว่า จะมีไม่มีการติดป้ายระบุเป็นกรณีพิเศษว่าเป็นปลาแซลมอนตัดต่อพันธุกรรม เนื่องจากคุณค่าโภชนาการไม่ได้แตกต่างจากแซลมอนเลี้ยงทั่วไป โดยคาดว่าจะนำออกสู่ตลาดได้ภายใน 2 ปี
อย่างไรก็ตาม อควา เบาท์ตี้ เทคโนโลยี อาจต้องใช้ความพยายามสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้จัดจำหน่าย และร้านค้า ที่หลายรายออกมาระบุทันทีว่าจะไม่นำแซลมอนตัดต่อพันธุกรรมมาขาย รวมถึงผู้บริโภคเองที่ยังมีความกังวลถึงความปลอดภัยต่อสุขภาพ และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม