ระวัง!ถูกนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์การค้า ​อนุดิษฐ์ชี้ใส่อาชีพ-รายได้ในบัตรประชาชนข้อเสียอื้อ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




อดีตรมว.ไอซีที ชี้แนวคิดใส่อาชีพ-รายได้บนบัตรประชาชนของนายกฯ เป็นเรื่องไม่จำเป็น นอกจากนี้ยังจะทำให้ประชาชนต้องเปลี่ยนบัตรบ่อยเพราะต้องไปอัพเดทข้อมูลใหม่ๆตลอดเวลา ขณะที่บริษัทการค้าอาจนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ทางธุรกิจ


เป็นเรื่องขึ้นมาทันทีเมื่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เสนอแนวคิดว่าจะต้องทำบัตรประชาชนที่ระบุข้อมูลอาชีพ และรายได้ไว้ในบัตรประชาชน และจะต้องทำให้แล้วเสร็จในวันปีพ.ศ.2560


โดยพล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงแนวคิดนี้ใน 2 ประเด็นหลักคือ


1.ในเวลาที่รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือประชาชนในการลดภาระค่าครองชีพยังลงไปไม่ถูกกลุ่มผู้มีรายได้น้อยอย่างแท้จริง เช่น นโยบายรถเมล์ และรถไฟฟรี ทุกคนใช้บริการได้หมด โดยการทำฐานข้อมูลระบุรายได้และอาชีพแบบใหม่นี้ จะช่วยให้นโยบายการลดภาระค่าครองชีพลงไปช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยได้ตรง กลุ่มเป้าหมาย ไม่ใช่เหมารวมทั้งหมดเหมือนที่ผ่านมา


2.เป็นการช่วยส่งเสริมระบบภาษี นายกรัฐมนตรีอยากให้ทุกคนเข้าสู่ระบบภาษีไม่ใช่การรีดภาษี แต่อยากให้ประชาชนอยู่ในระบบภาษีที่เหมาะสมตามลำดับรายได้ของแต่ละบุคคล เพื่อนำเงินมาใช้ในการพัฒนาประเทศ


น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือกระทรวงไอซีที ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวกับทาง "ทีมข่าว New Media PPTVHD" โดยกล่าวว่า แนวความคิดเรื่องการใส่ข้อมูลอาชีพ ไว้ในบัตรประชาชนไม่ว่าจะเป็นบนตัวบัตรประชาชน หรือใส่ในชิฟในบัตรสมารท์การ์ดก็ตามนั้นเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพิ่งเป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวมา


"ไม่เคยมีใครคิดเรื่องระบุรายละเอียดลงในบัตรประชาชน เพราะวัตถุประสงค์ของสมาร์ทการ์ดคือมันมีอายุของมัน และไม่มีใครต้องการให้เปลี่ยนบ่อย" อดีตรมว.ไอซีที กล่าว


พร้อมระบุว่าโดยความจริงแล้วแนวคิดการทำบัตรประชาชนแต่ดั้งเดิมคือต้องใส่ข้อมูลให้น้อยที่สุด เพราะหลักการในการทำบัตรประชาชนคือไม่ต้องการให้มีการเปลี่ยนบัตรบ่อย จึงไม่เห็นว่าการใส่ข้อมูลอาชีพและรายได้ในบัตรประชาชนจะมีความจำเป็นตามที่รัฐบาลกล่าวมา


โดยประชาชนไทยไม่ใช่ทุกคนที่มีอาชีพที่แน่นอน กล่าวคือบางคนอาจมาทำงานรับจ้างในกรุงเทพฯ 3 เดือน กลับบ้านไปปลูกข้าว แล้วกลับมาทำงานใหม่ ซึ่งคนกลุ่มนี้มีจำนวนไม่น้อย เรียกว่ากลุ่มคนที่มีอาชีพหลักมีการทำงานไม่คงที่ คนกลุ่มนี้ก็จะต้องมีการมาเปลี่ยนบัตร หรือแจ้งข้อมูลใหม่ตลอดเวลา


"ถ้าลงรายละเอียดมากมาย ประชาชนก็ต้องไปอัพเดทตลอดเวลา โดยเฉพาะกลุ่มคนที่รัฐบาลมองว่าเป็นเป้าหมายที่จะเข้าไปช่วยเหลือ ส่วนใหญ่ก็เป็นกลุ่มคนที่มีอาชีพหลักไม่คงที่"


การอัพเดทดังกล่าว ไม่ใช่แค่ประชาชน แต่หมายถึงเจ้าหน้าที่รัฐที่จะต้องมีภาระเพิ่มขึ้นมาก และขณะเดียวกันสมาร์ทการ์ดก็อาจจะต้องเปลี่ยนบ่อยมาก ซึ่งจะเป็นคำถามในเรื่องของความคุ้มค่า


อีกทั้งยังอาจไม่จำเป็น เพราะหน่วยงานภาครัฐจะมีรายละเอียดของแต่ละคนอยู่แล้ว เช่น กรมสรรพากรก็จะมีข้อมูลรายได้ประชากรอยู่แล้ว


ขณะที่เรื่องของสิทธิส่วนบุคคลก็เป็นเรื่องใหญ่ เพราะการระบุเรื่องของรายได้ในบัตรประชาชนจะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะไม่มีคนนำข้อมูลไปใช้ด้านประโยชน์ทางธุรกิจ


"โดยปกติ ข้อมูลประจำตัวของบุคคลทั่วไป ขึ้นอยู่กับบุคคลนั้นจะอนุญาตให้บริษัทหรือหน่วยงานอื่นๆ นำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ได้หรือไม่ ซึ่งจะเห็นโดยทั่วไปว่าจะมีคำถามว่า ยินดีที่จะให้เข้าถึงการใช้ข้อมูลหรือไม่ ซึ่งในส่วนนี้หากจะมีการระบุอาชีพ-รายได้บนบัตรประชาชนจริง ก็จะต้องหารูปแบบในการที่จะระมัดระวังในการที่จะกระทบข้อมูลส่วนบุคคลในส่วนนี้ด้วย" อดีต รมว.ไอซีทีกล่าว

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ