​กรณีศึกษา "MERS-CoV" กระทบความมั่นคงสุขภาพประเทศ !


โดย PPTV Online

เผยแพร่




สร้างความตื่นตระหนกไม่น้อย สำหรับการตรวจพบผู้ป่วย "โรคเมอร์ส" หรือโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง ในประเทศไทยเป็นรายที่ 2 เมื่อวานนี้(24 ม.ค. 2559)



จากการแถลงข่าวของกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าเจ้าหน้าที่สามารถตรวจยืนยันผลได้อย่างรวดเร็ว ทำให้โอกาสการแพร่ระบาดของโรคมีน้อย และขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกตกใจนั้น


ด้านหนึ่งแม้กระบวนการตรวจยืนยันโรคที่รวดเร็ว จะสะท้อนถึงประสิทธิภาพทางการแพทย์ที่ดีของประเทศไทย แต่จากข้อมูลที่ระบุว่าผู้ป่วยรายได้ มีอาการป่วยและเข้ารักษาที่ประเทศต้นทาง ประมาณ 6 วัน ก่อนตัดสินใจเดินทางมารักษาต่อยังประเทศไทย เนื่องจากเชื่อมั่นในมาตรฐานการรักษา นำมาซึ่งคำถามที่ว่าการที่ผู้ป่วยต่างชาติ สามารถเดินทางเข้ามารักษาในประเทศไทย ได้อย่างอิสระดังเช่นกรณีนี้ ถือเป็นความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางสุขภาพ ของประชาชนคนไทยหรือไม่ ?


รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวระหว่างแถลงข่าวยืนยันการพบผู้ป่วยโรคเมอร์สรายที่ 2 ในประเทศไทยว่า ระหว่างมาถึงยังสนามบินสุวรรณภูมิ ชายรายนี้ได้กินยาลดไข้ ทำให้เครื่องเทอร์โมสแกนไม่สามารถตรวจจับ ความผิดปกติของอุณหภูมิในร่างกายได้


ล่าสุดเช้าวันนี้ (25 ม.ค. 2559) จากการลงพื้นที่ตรวจสอบการปฏิบัติงาน บริเวณด่านควบคุมโรค สนามบินสุวรรณภูมิ โดยผู้สื่อข่าว PPTV พบว่า เจ้าหน้าที่ยังคงปฏิบัติงานตามปกติ ไม่ได้มีการยกระดับความเข้มข้นเป็นพิเศษ โดยมีการตั้งเครื่องเทอร์โมสแกน เพื่อคัดกรองผู้ป่วยบริเวณหลุมจอดโซน E และ G ซึ่งเป็นจุดที่เครื่องบินจากตะวันออกกลางลงจอด รวมถึงจุดตรวจคนเข้าเมือง รวมทั้งหมด 7 เครื่อง..



ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยและพัฒนาการแปรงานวิจัยสุขภาพสู่การปฏิบัติ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ทีมนิวมีเดีย PPTV ว่า การพบผู้ป่วยโรคเมอร์สในประเทศไทย ถือเป็นกรณีศึกษาสำคัญซึ่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำเป็นต้องร่วมกันยกระดับการเฝ้าระวัง รวมถึงกระบวนการตรวจคัดกรองโรค เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดโรคติดต่อ จากชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทย โดยเฉพาะผู้ที่ตั้งใจเดินทางเข้ามารักษาพยาบาล


"กรณีนี้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ด้านหนึ่งแม้การเดินทางเข้ามารักษาในประเทศไทย จะช่วยทำให้รายได้ของประเทศเพิ่มมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้พยายามผลัดดันนโยบายเมคิคอลฮับ โดยหวังให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการรักษาของโลก แต่ในทางปฏิบัตินอกจากผลทางบวกแล้ว นโยบายนี้ก็มีผลกระทบทางลบหลายด้าน ไม่เฉพาะปัญหาสมองใหลจากภาครัฐไปสู่เอกชน แต่ยังรวมไปถึงปัญหาความไม่มั่นคงทางสุขภาพ ของประชาชนในประเทศด้วย"


ผศ.นพ.ธีระ ชี้ว่า รายได้จากการเปิดเสรีให้คนทั่วโลก เดินทางมารักษาในประเทศไทย ไม่สามารถเปรียบเทียบได้กับความเสียหาย หากเกิดการแพร่ระบาดของโรคติดต่อร้ายแรง จากผู้ป่วยชาวต่างชาติสู่ประชาชนในประเทศ อย่างกรณีเมื่อ 2 ปีก่อน หลังตรวจพบผู้ป่วยโรคเมอร์ส ซึ่งตั้งใจเดินทางมารักษายังประเทศไทย ส่งผลให้กระทรวงสาธารณสุข ต้องสูญเสียงบประมาณกว่า 100 ล้านบาท สำหรับวางระบบเฝ้าระวังและควบคุมโรค ป้องกันไม่ให้มีการแพร่ระบาดเชื้อสู่ประชาชน


ดังนั้น การจะผลักดันประเทศไทย ขึ้นสู่การเป็นศูนย์กลางการรักษา นอกจากจะต้องศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้านแล้ว ขณะเดียวกันรัฐยังจำเป็นต้องวางมาตรการ สำหรับรับมือกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน อย่างน้อยควรมีกองทุนเฉพาะสำหรับเหตุการณ์วิกฤติ โดยนำเงินมาจากการเก็บภาษีชาวต่างชาติ ที่ตั้งใจเดินทางเข้ามารักษาพยายาลในประเทศไทย





PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ