ถอดรหัส ม.44 ฉบับ 9
เผยแพร่
ปรับปรุงล่าสุด
ถ้อยคำในคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9 / 2559 อาจเป็นเพียงการสลับขั้นตอนการดำเนินโครงการที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อม จากที่ต้องทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ก่อน แล้วจึงจัดหาผู้รับเหมาก่อสร้างก่อนได้ในระหว่างที่ EIA ยังไม่แล้วเสร็จ โดยย้ำว่าจะทำสัญญาไม่ได้หาก EIA ยังไม่ผ่านแต่เมื่อวิเคราะห์ดูแล้ว อาจมีกระบวนการ ขั้นตอน บางอย่างที่หายไป
มาลองเปรียบเทียบ “กระบวนการ” ที่ใช้ในการจัดทำโครงการของรัฐโดยทั่วไปที่ต้องทำรายงาน EIA กับโครงการที่จะเกิดขึ้นจากคำสั่ง มาตรา 44 ฉบับที่ 9
ด้านบน คือ โครงการทั่วไป ขั้นตอนก็เข้าใจกันดี เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ 2535 คือ มีโครงการ เขียนแบบแปลน กำหนดราคากลาง
จากนั้น ทำ EIA พร้อมไปกับการจัดเวทีรับฟังความเห็นประชาชน จัดหาที่ดิน ซึ่งหลายโครงการจะติดขัดตรงขั้นตอนนี้ เช่น EIA ไม่ผ่าน เช่น เขื่อนแม่วงก์ โรงไฟฟ้ากระบี่ บางโครงการไม่ผ่านการรับฟังความเห็น คือ ประชาชนไม่เห็นด้วย บ่างโครงการมีข้อเรียกร้องให้ทำ EIA ใหม่ เพราะขัดกับข้อมูลในพื้นที่ บางโครงการมีปัญหาการจัดหาที่ดิน ที่ต้องเคลื่อนย้ายประชาชนออกไป
ถ้าทั้งหมดนี้ “ผ่าน” จึงนำไปสู่การประกวดราคา ได้ผู้รับเหมา และเริ่มก่อสร้าง
ลองมาดูแถวล่าง นี่คือ ขั้นตอนคร่าวๆ ที่คาดว่าอาจจะเกิดขึ้น ถ้าทำตามคำสั่ง มาตรา 44 ฉบับนี้ ความต่างเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนที่ 2 คือ เริ่มที่การประกวดราคา เพื่อหาผู้รับเหมาก่อนได้ ดังนั้นโครงการเหล่านี้ มีผู้รับเหมารออยู่แล้ว
จากนั้น จึงค่อยมาลุ้นว่า EIA จะผ่านหรือไม่ ถ้าผ่านก็ทำสัญญา คำถามของกลุ่มที่ออกมาแสดความไม่เห็นด้วย คือ ถ้า EIA ไม่ผ่านล่ะ จะทำอย่างไร หากผู้รับเหาลงทุนไว้แล้ว
การรับฟังความเห็น การคัดค้าน การใช้สิทธิกับศาลปกครอง ยังมีอยู่หรือไม่เพราะที่ผ่านมา มี EIA หลายโครงการไม่ได้รับความเชื่อถือ เพราะบริษัทที่ทำ EIA มีสถานะเป็นลูกจ้างของหน่วยงานที่เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ
ส่วนเวทีรับฟังความเห็นหลายเวทีที่ผ่านมา อย่างโรงไฟฟ้ากระบี่ เทพา โครงการน้ำ 3 แสนล้าน ก็เป็นเวทีที่ไม่ให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยได้เข้าร่วม นี่จึงเป็นคำถามใหญ่ ว่าหากใช้ มาตรา 44 ฉบับบนี้ ทำให้มีผู้รับเหมารออยู่แล้ว จะยิ่งเป็นการเร่งรัดหน่วยราชการ ใหผ่านโครงการหรือไม่ และสิทธิของภาคประชาชน ยังครบถ้วนหรือไม่
เราลองมาเปรียบเทียบ การใช้ มาตรา 44 ฉบับนี้ กับ โครงการบริหารจัดการน้ำ 3 แสนล้าน ที่ถูกศาลปกครองสั่งระงับไป และรัฐบาลนี้ ยกเลิกโครงการไปแล้ว
ขั้นตอนนั้น เรียกว่า ดีไซน์บิวด์ (คิดไป – ทำไป)โครงการนั้น มีลักษณะที่คล้ายกัน คือ เริ่มที่การหาผู้รับเหมาก่อน แต่ต่างกันที่ไม่ใช้การประกวดราคา แต่ใช้การกำหนดเพดานราคาสูงสุด แต่ประกวดที่ความคิดการนำเสนอแทน
นั่นไม่ใช่ประเด็น เพราะประเด็นที่สำคัญคือ โครงการนี้ ถูกศาลปกครองวินิจฉัยให้ต้องระงับก่อน เพราะใช้วิธีหาผู้รับเหมาก่อน โดยที่ยังไม่ผ่านการทำ EIA ไม่ผ่านกระบวนการรับฟังความเห็นตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นหน้าที่ที่รัฐต้องทำนั่นเอง
ที่น่าสนใจ คือ โครงการน้ำ 3 แสนล้าน ยังคงเป็นโครงการที่ถูกทวงถามจากเอกชนจากต่างประเทศ ที่ชนะการคัดเลือกผู้รับเหมาไปแล้ว อย่างบริษัทจากจีน และเกาหลี ถือเป็นสิ่งที่กดดันหน่วยงานของรัฐไม่น้อย และถ้าดูในเวลานี้ อาจมีบางโครงการที่เข้าข่ายตาม มาตรา 44 ฉบับนี้ ที่จะผูกพันผู้รับเหมาจากต่างประเทศ
นอกจากขั้นตอนของกลไกถ่วงดุลที่จะถูกตัดทอน หากวิเคราะห์การดำเนินการตามคำสั่งที่ 9 ออกมาเป็นขั้นเป็นตอน ก็อาจมีความสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้กระบวนการทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพหละหลวม
นี่เป็นแผนผังสรุปการคาดการณ์ขั้นตอนดำเนินการโครงการขนาดใหญ่ ตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 9 ที่นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร วิเคราะห์ไว้ว่า สามารถเปิดทางให้รัฐและเอกชนเดินหน้าโครงการในข่ายของคำสั่งฉบับนี้ได้ทันที เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็จะหมายถึงว่า การดำเนินการในช่วงแรก แม้จะไม่มีการเซ็นสัญญาผูกพันธ์ระหว่างกันรัฐกับเอกชน แต่ก็มีเม็ดเงินที่ลงทุนไประดับหนึ่งแล้ว ซึ่งจะทำให้ มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดกระบวนผลักดันให้รายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ ผ่านในทางลับ ที่จะส่งผลให้รายงานอีไอเอมีเนื้อหาที่หละหลวม นั่นหมายความว่า หากเป็นเช่นนี้ ก็จะไม่เป็นไปตามนโยบายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่รัฐบาล คสช. เคยประกาศไว้
อัปเดตข่าวล่าสุดก่อนใคร Add friend ได้ที่ @PPTVOnline
ติดตามข่าววันนี้ได้ที่นี่ >> www.pptvhd36.com/tags/ข่าววันนี้