“ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” ต้องมองให้ลึกกว่าเรียนฟรี 12 หรือ 15 ปี
เผยแพร่
ปรับปรุงล่าสุด
นักวิจัย “ทีดีอาร์ไอ” ชี้คนไทยไม่ควรต้องเลือก ว่ารัฐควรลงทุนให้เรียนฟรีในช่วงระยะเวลาใด เพราะการศึกษาคือสิทธิขั้นพื้นฐาน

ข้อถกเถียงร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ ซึ่งกำหนดสิทธิการศึกษาขั้นพื้นฐานฟรี 12 ปี แต่ขยับระยะเวลาในการอุดหนุนงบประมาณ จากเดิมเริ่มตั้งแต่ระดับชั้น ป.1 – ม.6 เป็นตั้งแต่แรกเกิดจนถึง ม.3 ถือเป็นประเด็นที่หลายคนให้ความสนใจ เพราะในทางปฏิบัติการวางนโยบาย ด้านการศึกษาถือเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อคนไทยทุกคน
ก่อนหน้านี้ รัฐธรรมนูญไทย 2550 หมวด 3 มาตรา 49 กำหนดให้รัฐต้องจัดการศึกษาให้ประชาชน อย่างทั่วถึงและเป็นธรรมไม่น้อยกว่า 12 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ต่อมา ในปี 2553 ได้มีการแก้ไข พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ 2542 โดยเพิ่มเติม มาตรา 10 วรรค 1 กำหนดว่า การจัดการศึกษาต้องจัดให้บุคคลมีสิทธิและโอกาสเสมอกัน ในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งขณะนั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ใน 5 รายการ ได้แก่ ค่าเรียน ค่าหนังสือ ค่าอุปกรณ์ ค่าเครื่องแบบนักเรียน และค่ากิจกรรม โดยรัฐสนับสนุนงบประมาณ ตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย ครอบคลุมทั้งระบบสามัญและอาชีวศึกษา ซึ่งนโยบายนี้ทุกรัฐบาลได้สานต่อเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน แม้จะมีการปรับเปลี่ยนเงินสนับสนุนบ้างในบางรายการ
ทว่า รัฐธรรมนูญฉบับประชามติ ที่เพิ่งเสร็จสิ้นกระบวนการจัดทำสดๆ ร้อนๆ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ได้มีการปรับข้อกำหนดสิทธิเรียนฟรี มาตรา 54 โดยลดการอุดหนุนงบประมาณ ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เปลี่ยนเป็นให้สิทธิการเข้าเรียนตั้งแต่แรกเกิดจนถึง ม. 3
เหตุผลที่กำหนดเช่นนี้ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ระบุว่า “การศึกษาแบบให้เปล่าตั้งแต่ภาคบังคับนั้นเป็นประโยชน์และความได้เปรียบของคนฐานะดี เพราะมีเงินส่งลูกเข้ารับการพัฒนาตั้งแต่ขวบครึ่ง ขณะที่คนจนและคนชนบทส่วนใหญ่ เริ่มเรียนระดับชั้นป.1 เมื่ออายุ 6-7 ขวบ เมื่อคนจนและคนชนบทไม่ได้รับการพัฒนา มาแต่ต้นจึงสู้คนเมืองและคนฐานะดีไม่ได้”
ประธาน กรธ. ระบุว่า “วัยที่จะพัฒนาในด้านสมองและอารมณ์จิตใจ ต้องพัฒนาอย่างช้า 2 ขวบ และก่อน 5 ขวบ ดังนั้น ลูกหลานคนจนและคนชนบท ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศจึงไม่ได้รับการพัฒนา เมื่อเรียนถึงตอนปลายจึงไม่มีทางสู้ลูกคนมีเงินได้”
ส่วนข้อกังวลว่าหลังจบ ม.3 แล้วเยาวชนไทยจะมีโอกาส ได้เรียนต่อในระดับที่สูงกว่าหรือไม่นั้น นายมีชัย ย้ำว่า “รัฐธรรมนูญมุ่งที่จะให้ทุกคนได้รับการศึกษา ตามความถนัดไปได้ตลอดทาง และสร้างกองทุนไว้ สำหรับคนที่ไม่มีทุนทรัพย์ให้สามารถหยิบฉวยได้ ไม่เฉพาะค่าเล่าเรียน แต่รวมถึงค่าใช้จ่ายในการศึกษาด้วย และเมื่อทุกคนได้รับการพัฒนาเริ่มต้นอย่างเดียวกัน จึงจะขจัดความเหลื่อมล้ำได้อย่างจริงจัง”
แต่อีกด้านหนึ่ง “กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท” นำโดย นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน เลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ระบุว่า “ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวลดทอนสิทธิทางการศึกษา เนื่องจากได้ลดทอนสวัสดิการเรียนฟรี ถึงแค่การศึกษาภาคบังคับ ม.3 ซึ่งต่างจากรัฐธรรมนูญ 40 และ 50 ที่กำหนดให้เรียนฟรี ถึงมัธยมปลายและอาชีวศึกษา”
เพนกวิน ชี้ว่า “การให้ความสำคัญกับการดูแลพัฒนาการของเด็ก ช่วงอายุ 2-5 ปี เพื่อที่เด็กจะได้มีพื้นฐานที่เท่าเทียมกันนั้นมีความสำคัญ แต่การศึกษาในระดับชั้น ม.ปลาย และสายอาชีพก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน”
ขณะที่การจัดตั้งกองทุนเพื่ออุดหนุนผู้ขาดแคลนโอกาส และลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เลขาฯ กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท มองว่า “แม้จะมีกองทุนนี้อยู่แต่หากไม่มีการจัดสวัสดิการอย่างทั่วถึง เชื่อว่าจะต้องมีเพื่อนเยาวชนอีกจำนวนมาก ที่จะต้องตกหล่นไปจากกองทุนนี้”
ท่ามกลางข้อถกเถียงและความเห็นที่หลายหลาย ทีมนิวมีเดีย PPTV สอบถามความเห็นต่อประเด็นนี้ กับ นายศุภณัฏฐ์ ศศิวุฒิวัฒน์ นักวิจัยอาวุธโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ผู้ศึกษานโยบายการศึกษาไทย เพื่อสะท้อนแง่มุมเชิงวิชาการต่อกรณีนี้
เขาบอกกับเราว่า “จริงๆ แล้วการถกเถียงในเรื่องดังกล่าวนั้น ส่วนตัวมองว่าไม่ใช่ประเด็นหลักที่คนไทยต้องเลือก ว่ารัฐควรจะสนับสนุนการศึกษาตั้งแต่แรกเกิดจนถึง ม.3 หรือตั้งแต่ช่วง ป.1 – ม.6 เพราะการส่งเสริมการศึกษาถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ทุกคนควรให้ความสำคัญคือการมองให้ลึกกว่าแค่คำว่าเรียนฟรี โดยเฉพาะในแง่ของคุณภาพการศึกษา และการเปิดโอกาสให้เด็กที่ยากจนได้มีโอกาส การเรียนรู้ที่ดีหรือเทียบเท่ากับเด็กที่มาจากครอบครัวร่ำรวย”
อย่าไรก็ตาม นักวิจัยทีดีอาร์ไอ ระบุว่า แน่นอนว่าการลงทุนด้านการศึกษา โดยสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ ตั้งแต่ก่อนชั้นอนุบาลเพื่อส่งเสริมพัฒนาการและลดช่องว่าง ระหว่างลูกคนจนกับคนรวยถือเป็นสิ่งที่ดี แต่การตัดสิทธิเรียนฟรีในระดับ ม.ปลาย ก็ทำให้เกิดความกังวลว่า หลังจากเรียนจบชั้น ม.3 แล้วเด็กจำนวนมาก จะมีโอกาสได้เรียนต่อในระดับชั้นที่สูงกว่าหรือไม่
“ตามข่าวระบุว่าจะมีการจัดตั้งกองทุนเงินกู้ยืมต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กที่ยากจนได้เรียนต่อ แต่ในทางปฏิบัติยังมีคำถามว่าระบบคัดกรองเด็ก จะมีประสิทธิภาพมากน้อยขนาดไหน เพราะปัจจุบันขนาดให้เรียนฟรีถึง ม.6 ยังพบว่ามีเด็กจำนวนไม่น้อย ที่เข้าไม่ถึงระบบการศึกษาในระดับ ม.ปลาย และอาชีวะ”
โจทย์สำคัญของการเพิ่มโอกาสการเรียนรู้ของเด็กไทย เพื่อขับเคลื่อนประเทศชาติในอนาคต รัฐต้องเพิ่มโอกาสการเรียนรู้ ควบคู่ไปกับการปรับปรุงคุณภาพให้ดีขึ้น นายศุภณัฏฐ์ ชี้ว่า “หากรัฐธรรมนูญจะกำหนดระยะเวลาในการสนับสนุน โดยขยายเป็น 15 ปี เพื่อให้เป็นข้อบังคับที่ครอบคลุมตั้งแต่อนุบาลไปจนถึง ม.6 ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ทำได้ เพราะปัจจุบันแม้รัฐธรรนูญจะกำหนดแค่ 12 ปี แต่ในทางปฏิบัติก็มีการดำเนินนโยบายสนับสนุน 15 ปีอยู่แล้ว ซึ่งไม่กระทบต่องบประมาณ เพราะสามารถปรับหรือโยกงบประมาณหลายๆ ด้าน ที่ไม่จำเป็นมาสนับสนุนตรงนี้ได้”
สุดท้าย นักวิจัยทีดีอาร์ไอ ทิ้งท้ายอย่างน่าสนใจว่า “ในความเป็นจริงแม้เด็กทุกคนจะได้เรียนฟรีตามนโยบายรัฐ แต่ด้วยความแตกต่างเชิงพื้นที่และปัญหาบุคลากรที่กระจุกตัว ปฏิเสธไม่ได้ว่าย่อมเกิดความเหลื่อมล้ำ ระหว่างโรงเรียนแต่ละแห่งอย่างแน่นอน ดังนั้น การจะเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้ครอบคลุม ผู้ที่เกี่ยวข้องก็ไม่ควรมองข้ามความสำคัญในประเด็นนี้เช่นกัน”
อัปเดตข่าวล่าสุดก่อนใคร Add friend ได้ที่ @PPTVOnline
ติดตามข่าววันนี้ได้ที่นี่ >> www.pptvhd36.com/tags/ข่าววันนี้