เจาะชีวิต “หมอก้อง-สรวิชญ์” กว่าจะเป็นแพทย์ไม่ง่าย!


โดย PPTV Online

เผยแพร่




คนที่อยากเป็นหมอแต่มีการกระทำในลักษณะโกงข้อสอบ จะไปเป็นหมอที่ดีได้อย่างไร “อย่าว่าแต่เป็นหมอเลย เป็นคนดียังเป็นยาก” หมอก้อง-สรวิชญ์ สุบุญ กล่าว

จากกรณีเมื่อวันที่ 8 พ.ค.59 นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต ออกมาเปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (Arthit Ourairat) ว่า มหาวิทยาลัยรังสิตขอยกเลิกการสอบเข้าคณะแพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ และเภสัชศาสตร์ เพราะพบการทุจริตในห้องสอบ ด้วยการใช้เครื่องอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ประกอบด้วย แว่นตา กับนาฬิกาอัจฉริยะ (สมาร์ทวอทช์) และทราบอีกด้วยว่าผู้หากินกับการกวดวิชารับประกันผล โดยเรียกร้องเงินถึง 800,000 บาท ซึ่งย้ำชัดว่าถ้าไม่สำเร็จยินดีคืนเงิน

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้สังคมกลับมาตั้งคำถามถึงผู้ที่จะสอบเข้าเรียนแพทย์ ซึ่งจะกลายเป็นผู้ที่ก้าวมาเป็นแพทย์ผู้ให้ความหวังและรักษาความเจ็บป่วยให้กับเพื่อนมนุษย์ ว่า นอกจากความเป็นเลิศทางสมองแล้ว ยังมีองค์ประกอบอื่นใดที่คนจะเป็นแพทย์พึงมีอีกหรือไม่?

วันนี้ทีมนิวมีเดีย PPTV จะพาไปเจาะลึกชีวิตของ “หมอก้อง-สรวิชญ์ สุบุญ”  แพทย์ประจำสำนักงานแพทย์ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ที่ผ่านการสอบเข้าเป็นนักเรียนแพทย์ จนวันนี้ก้าวมาเป็นแพทย์ผู้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์อย่างเต็มตัวแล้วว่าต้องผ่านอะไรมาบ้าง?

กว่าจะเป็น “หมอก้อง” ในวันนี้ต้องผ่านอะไรมาบ้าง?

หมอก้อง เล่าว่า ก่อนสอบเข้าศึกษาต่อคณะแพทยศาสตร์ ตนเรียนมัธยมปลายอยู่ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ก่อนสอบเอนทรานซ์รู้สึกเครียด เพราะอยากจะสอบให้ติดภายในครั้งเดียว อยากทำคะแนนออกมาให้ดีที่สุด ซึ่งตอนนั้นสอบเอนทรานซ์ทั้งหมด 7 วิชา ปรากฏว่า ก็ทำคะแนนออกมาได้ไม่น่าเกลียด แต่ก่อนที่จะทำคะแนนได้นั้นยากมาก! มีการเตรียมตัวประมาณ 1 ปี ตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 มีการอ่านหนังสือเยอะ ทำข้อสอบเก่าๆ และเรียนพิเศษ โดยเรียนวิชาคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี และภาษาอังกฤษ ส่วนวิชาอื่นก็อ่านหนังสือเอง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หมอก้องบอกว่าความจริงแล้วทุกอย่างก็ต้องอ่านเองหมด หวังพึ่งเรียนพิเศษอย่างเดียวไม่รอด และหลังจากที่สอบเข้าศึกษาคณะแพทยศาสตร์ ได้แล้วรู้สึกดีใจมาก

แต่ชีวิตในการเรียนแพทย์ไม่ใช่เรื่องง่าย หมอก้อง บอกต่อว่า สมัยเรียนชั้นมัธยมต้น หลายคนอาจรู้สึกว่ามันยาก มันเหนื่อยเหลือเกิน แต่พอขึ้นมัธยมปลายแล้วจะรู้ว่าการเรียนในชั้นมัธยมต้นสบายมาก ทว่าการเรียนในชั้นมัธยมปลาย 3 ปี ก็ยังสู้ไม่ได้กับตอนเข้าเรียนแพทย์ ปี 1 ถึงแม้จะยังไม่เรียนวิชาแพทย์ แต่ก็ต้องเรียนวิทยาศาสตร์ทั่วไป ที่เรียกว่าวิทยาศาสตร์การแพทย์ จากนั้นพอขึ้นปี 2 ซึ่งเป็นการเรียนวิชาแพทย์แล้ว สิ่งที่เรียนมาทั้งชีวิตก่อนหน้านี้เทียบไม่ได้เลย มันเป็นคนละโลก ความรู้สึกตอนขึ้นปี 2 แล้วต้องมาเจอกับวิชาแพทย์จริงๆ เช่น อนาโตมี่ (Anatomy) ที่ต้องเรียนกับอาจารย์ใหญ่ เรียนรู้เรื่องระบบสรีรวิทยา กลไกทั้งหมดของร่างกาย แค่วิชาเดียวก็ยากกว่าที่เคยเรียนมาทั้งหมด

จากนั้นพอขึ้นปี 3 ก็จะเรียนยากขึ้นไปอีก และพอเรียนชั้นปี 4 ขึ้นไป เป็นการพบเจอกับคนไข้ ตรงนี้ไม่ได้หนักธรรมดา มันคือ “ทะเลของความรู้ที่ไม่มีวันจบสิ้น” และการเรียนแบบที่ไม่มีใครมาป้อนให้ ทุกคนต้องไขว่คว้าหาความรู้ให้ตัวเอง ด้วยความกระตือรือร้นของตัวเอง ความขยัน และนำความรู้จากการที่เรียน มาประยุกต์ใช้กับคนไข้จริง แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย และที่เหนือไปกว่าวิชาการคือไม่ได้หลับไม่ได้นอน ต้องเข้าเวร ต้องมีความรับผิดชอบ ต้องเสียสละ และต้องมีเมตตาธรรมในการดูแลคนไข้ ช่วงนี้คือช่วงที่หนักที่สุดในชีวิต

...ตลอด 6 ปีของการเป็นนักเรียนแพทย์ไม่มีคำว่าง่าย...

“พอเรียนจบแล้วก็ไปทำงานจริง มองว่า ณ จุดนี้คือบททดสอบของชีวิต ซึ่งผมมาเข้าใจถึงการเป็นแพทย์จริงๆ หลังจากเรียนจบมาแล้ว 2-3 ปี ด้วยการที่มาทำงานจริงๆ เลยทำให้ค้นพบว่า คนเป็นหมอนั้น ยิ่งใหญ่ในสายตาคนอื่นที่เขามองมา ฉะนั้นจะเห็นแก่ตัวไม่ได้ และเอาเปรียบพวกเขาไม่ได้”

 

คนจะเป็นหมอนอกจากเก่งแล้วต้องมีคุณสมบัติอย่างไรอีก?

หมอก้อง บอกว่า เรามักจะได้ยินคำถามที่ครูบาอาจารย์มักจะถามว่า เธออยากเป็นคนเก่งหรือคนดี คำตอบสำหรับตนคือ ปัจจุบันคนที่เราต้องการสำหรับประเทศชาติจะต้องเป็นทั้งสองอย่าง คือต้องเป็นทั้งคนเก่งและคนดี แต่ด้วยความที่สมองของแต่ละคนไม่เท่ากัน เข้าใจหรือรับรู้อะไรได้ไม่เท่ากัน ทำให้มีความเก่งไม่เท่ากัน แต่สามารถพัฒนาได้ถ้าหากว่าคนๆ นั้นมีความกระตือรือร้นที่จะใฝ่หาความรู้ แต่สำหรับการเป็นคนดี ไม่มีหลักสูตรที่จะมาการันตีได้ว่าคนคนนี้เป็นคนดี

“การที่จะเป็นหมอ ผมว่าต้องมีความเมตตา ซึ่งคำว่าเมตตาของผมคือความรัก ถ้าเรามีความรักต่อคนอื่น เราก็จะไม่ไปเบียดเบียดคนอื่นทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ซึ่งสิ่งนี้ต้องปลูกฝัง ต้องใช้เวลา เพาะบ่มมาตั้งแต่เด็ก มันสะสมมาเรื่อยๆ จนทำให้คนหนึ่งกลายเป็นคนดี”

“เพราะฉะนั้นหากถามว่าให้น้ำหนักกับคนที่เก่งหรือคนดี ผมเลือกคนดี แต่คนดีคนนั้นต้องเก่งด้วย ถ้าไม่เก่งประเทศชาติก็ไม่เจริญ แต่ถ้าเกิดเป็นคนดีแล้ว มันก็จะมีความเอาใจใส่ มีความกระตือรือร้น อยากที่จะพัฒนาความรู้ตัวเองเพื่อไปรักษาคนอื่น เพราฉะนั้นผมว่าคนดีสำคัญ”

 

มีอะไรจะฝากถึงน้องๆ ที่อยากเป็นหมอบ้าง?

“กระแสสังคมที่ออกมามันน่าจะวัดได้ชัดว่าพอมีข่าวคนที่สอบเข้าเรียนแพทย์มาโกงข้อสอบ กระแสสังคมรุมตำหนิขนาดไหน นั่นหมายถึงว่าสังคมคาดหวังสูงจากคนที่เป็นหมอว่าจะต้องมีทั้งความเก่งด้านวิชาชีพและจริยธรรม เพราะฉะนั้นเราก็ไม่ควรทำให้กระแสสังคมผิดหวัง เริ่มตั้งแต่วันนี้อะไรที่รู้ว่าไม่ดีก็ควรหยุดทำ หันมาใส่ใจคนรอบข้างและสังคมให้มาก เพราะว่าเมื่อคุณเป็นหมอแล้วมันหมายถึงภาระความรับผิดชอบที่มีต่อสังคมมากขึ้น”

 

ขอบคุณภาพจาก IG kong_sarawit

 

 

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ