วรรคทองนี้เกิดขึ้นระหว่าง การปาฐกถาในงานรำลึกเหตุการณ์พฤษภา 35 โดยมีนายอภิสทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี นายโภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา และ ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล กรรมการมูลนิธิพฤษภาประชาชนธรรม ผลัดเปลี่ยนกันแสดงคิดเห็น แม้ทั้ง 3 คน จะมีบทบาทต่อเหตุการณ์พฤษภาทมิฬที่แตกต่างกันออกไป แต่กลับมีข้อเสนอที่ใกล้เคียงกันอย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะต่อกระบวนการก่อนทำประชาชนมติร่างรัฐธรรมนูญ
เริ่มด้วย ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ที่เมื่อครั้งเหตุการณ์พฤษภา 35 มีบทบาทเป็นเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย หรือ สนนท. และวันนี้เป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อาจารย์ปริญญาระบุว่า แม้เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นไปอย่างไรก็ตาม แต่กระบวนการก่อนให้ประชาชนแสดงจุดยืนต่อกฎหมายสูงสุดของประเทศ ที่กำลังจะใช้บังคับ ควรเปิดโอกาสให้ได้ถกเถียงกันอย่างเสรี โดยไม่มีบรรยากาศการจับกุมคนเห็นต่าง และรัฐบาลควรประกาศให้ชัดเจนว่า จะทำอย่างไร หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ผ่านประชามติ
ส่วนนายโภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภาและที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งเมื่อเหตุการณ์พฤษภา 35 เขาเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และมีบทบาทใกล้ชิดกับพรรคความหวังใหม่ ที่มีพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นผู้นำ
เสนออย่างชัดเจน ให้แก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ เพื่อให้ทุกฝ่ายได้แสดงความเห็นอย่างเสรี เพราะถือว่า เป็นเรื่องสำคัญมากในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเช่นนี้
สอดคล้องกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และอดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งย้อนกลับไปในช่วงพฤษภา 35 เขาถือว่า เป็น ส.ส.ใหม่ ที่ขึ้นเวทีต่อต้านการสืบทอดอำนาจของพลเอกสุจินดา คราประยูร และ รสช.มาถึงวันนี้ เขาถึงขั้นเอ่ยว่า หากไม่สามารถแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญอย่างเสรี ก็ไม่ควรมีการทำประชามติ