20 ก.ค. 59 งดเหล้า "เข้าพรรษา" ทำบุญตักบาตร สืบสานประเพณีไทย


โดย PPTV Online

เผยแพร่




วันเข้าพรรษา ถือเป็นวันสำคัญในพุทธศาสนาวันหนึ่งที่พระสงฆ์จะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งตลอดฤดูฝนที่มีกำหนดระยะเวลา 3 เดือนตามที่พระธรรมวินัยบัญญัติไว้ โดยจะไม่ไปค้างแรมที่อื่น หรือที่เรียกกันว่า จำพรรษา 

"พรรษา" แปลว่า ฤดูฝน "จำ" แปลว่า พักอยู่ พิธีเข้าพรรษานั้นจึงถือเป็นข้อปฏิบัติสำหรับพระสงฆ์โดยตรง ซึ่งจะละเว้นไม่ได้ทุกกรณี การเข้าพรรษาตามปกติเริ่มนับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี (หรือเดือน 8 หลัง ถ้ามีเดือน 8 สองหน) และสิ้นสุดลงในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือวันออกพรรษา

วันเข้าพรรษา วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หรือเทศกาลเข้าพรรษา วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ถือว่าเป็นวันและช่วงเทศกาลทางศาสนพุทธที่สำคัญเทศกาลหนึ่งในประเทศไทย โดยมีระยะเวลาประมาณ 3 เดือนในฤดูฝน โดยวันเข้าพรรษาเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่ต่อเนื่องมาจากวันอาสาฬหบูชา (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8) ซึ่งพุทธศาสนิกชนชาวไทยอีกทั้งพระมหากษัตริย์และคนทั่วไปได้สืบทอดประเพณีปฏิบัติการทำบุญในวันเข้าพรรษามาช้านานแล้วตั้งแต่สมัยสุโขทัย

สาเหตุที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตการจำพรรษาอยู่ ณ สถานที่ใดสถานที่หนึ่งตลอด 3 เดือนแก่พระสงฆ์นั้น มีเหตุผลเพื่อให้พระสงฆ์ได้หยุดพักการจาริกเพื่อเผยแพร่ศาสนาไปตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งจะเป็นไปด้วยความยากลำบากในช่วงฤดูฝน เพื่อป้องกันความเสียหายจากการอาจเดินเหยียบย่ำธัญพืชของชาวบ้านที่ปลูกลงแปลงในฤดูฝน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วงเวลาจำพรรษาตลอด 3 เดือนนั้น เป็นช่วงเวลาและโอกาสสำคัญในรอบปีที่พระสงฆ์จะได้มาอยู่จำพรรษารวมกันภายในอาวาสหรือสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยจากพระสงฆ์ที่ทรงความรู้ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างความสามัคคีในหมู่คณะสงฆ์ด้วย

ในวันเข้าพรรษาตลอดทั้ง 3 เดือน พุทธศาสนิกชนชาวไทยถือเป็นโอกาสอันดีที่จะบำเพ็ญกุศลด้วยการเข้าวัดทำบุญใส่บาตร ฟังพระธรรมเทศนา ซึ่งสิ่งที่พิเศษจากวันสำคัญอื่นๆ คือ มีการถวายหลอดไฟหรือเทียนเข้าพรรษา และผ้าอาบน้ำฝน (ผ้าวัสสิกสาฏก) แก่พระสงฆ์ด้วย เพื่อสำหรับให้พระสงฆ์ได้ใช้สำหรับการอยู่จำพรรษา โดยในอดีต ชายไทยที่เป็นพุทธศาสนิกชนเมื่ออายุครบบวช (20 ปี) จะนิยมถือบรรพชาอุปสมบทเป็นพระสงฆ์เพื่ออยู่จำพรรษาตลอดฤดูกาลทั้ง 3 เดือน โดยพุทธศาสนิกชนไทยจะเรียกการบรรพชาอุปสมบทเพื่อจำพรรษาตลอดพรรษากาลว่า "บวชเอาพรรษา"

ข้อยกเว้นการจำพรรษาของพระสงฆ์

- การไปรักษาพยาบาล หาอาหารให้ภิกษุหรือบิดามารดาที่เจ็บป่วย เป็นต้น กรณีนี้ทำได้กับสหธรรมิก 5 และมารดาบิดา

- การไประงับภิกษุสามเณรที่อยากจะสึกมิให้สึกได้ กรณีนี้ทำได้กับสหธรรมิก 5

- การไปเพื่อกิจธุระของคณะสงฆ์ เช่น การไปหาอุปกรณ์มาซ่อมกุฏิที่ชำรุด หรือ การไปทำสังฆกรรม เช่น สวดญัตติจตุตถกรรมวาจาให้พระผู้ต้องการอยู่ปริวาส เป็นต้น

- หากทายกนิมนต์ไปทำบุญ ก็ไปให้ทายกได้ให้ทาน รับศีล ฟังเทสนาธรรมได้ กรณีนี้หากโยมไม่มานิมนต์ ก็จะไปค้างไม่ได้.

กิจกรรมต่าง ๆ ที่ควรปฏิบัติในวันเข้าพรรษา

 - ร่วมกิจกรรมทำเทียนจำนำพรรษา

 - ร่วมกิจกรรมถวายผ้าอาบน้ำฝน และจตุปัจจัย แก่พระภิกษุสามเณร

 - ร่วมทำบุญ ตักบาตร ฟังธรรมเทศนา รักษาอุโบสถศีล

 - อธิษฐานงดเว้นอบายมุขต่าง ๆ

นอกจากนั้นในวันนี้ ได้ถือว่าเป็น "วันงดดื่มสุราแห่งชาติ" อีกด้วย

ในปี พ.ศ. 2551 รัฐบาลได้ประกาศให้วันเข้าพรรษาเป็น "วันงดดื่มสุราแห่งชาติ" โดยในปีถัดมา ยังได้ประกาศให้วันเข้าพรรษาเป็น "วันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั่วราชอาณาจักร" ทั้งนี้เพื่อรณรงค์ให้ชาวไทยตั้งสัจจะอธิษฐานงดการดื่มสุราในวันเข้าพรรษาและในช่วง 3 เดือนระหว่างฤดูเข้าพรรษา เพื่อส่งเสริมค่านิยมที่ดีให้แก่สังคมไทย

อย่างไรก็ตามคงเป็นทราบกันดีอยู่แล้วว่าสุรา เป็นมหันตภัยร้ายที่สร้างความสูญเสียอย่างรุนแรงที่ส่งผลต่อครอบครัว สุขภาพอุบัติเหตุ เศรษฐกิจ รวมทั้งเป็นเหตุให้เกิดปัญหามากมายกับเยาวชนไทย ทั้งสมองเสื่อม ท้อง แท้ง ติดเอดส์ ติดคุก
 
"วันงดดื่มสุราแห่งชาติ" จึงถือเป็นเครื่องมือเชิงสัญลักษณ์และเป็นการส่งสัญญาณที่ดีงามเพื่อสนับสนุนให้ภาคประชาชนและหน่วยงานราชการของรัฐร่วมมือกันทำให้สังคมไทยปลอดภัยจากน้ำเมาร่วมสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้ลูกหลานที่จะเติบโตขึ้นมาด้วย สติปัญญา
 

ขอบคุณข้อมูลจาก สารานุกรมเสรี

PR-โปรแกรมผลบอล-2_B PR-โปรแกรมผลบอล-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ