นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในปี 2559 กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสุขภาพจิต ได้ดำเนินการสำรวจสถานการณ์ไอคิวและอีคิว เด็กนักเรียนชั้นป.1 ทั่วประเทศจำนวน 23,641 คน พบว่าเด็กมีคะแนนไอคิวเฉลี่ยอยู่ที่ 98.2 ซึ่งสูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจในปี 2554 ที่เฉลี่ยอยู่ที่ 94 เด็กไทยมีไอคิวอยู่ในเกณฑ์ปกติถึง 2 ใน 3 หรือ ร้อยละ 68 ขณะที่เด็กจาก 42 จังหวัดรวมทั้งกทม. มีไอคิวสูงเกิน 100 ขึ้นไป อย่างไรก็ตาม ยังมีเด็กบางส่วนใน 35 จังหวัด ไอคิวต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน
นอกจากนี้ ยังพบเด็กที่มีระดับสติปัญญาอยู่ในเกณฑ์บกพร่อง หรือต่ำกว่า 70 ถึง ร้อยละ 5.8 ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานสากล คือไม่ควรเกินร้อยละ 2 โดยเด็กในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้มีปัจจัยเสี่ยงสูงกว่าภาคอื่นๆ ตลอดจนพบว่า เด็กนอกเขตอำเภอเมือง มีระดับไอคิวเฉลี่ย 96.9 ขณะที่เด็กในเขตอำเภอเมืองมีไอคิว 101.5 และเด็กในพื้นที่ กทม. มีไอคิวเฉลี่ย 103.4 ส่วนความฉลาดทางอารมณ์ของเด็กเป็นไปตามเป้าหมาย ร้อยละ 77 แต่ยังพบเด็กจำนวนไม่น้อยที่ยังต้องการการพัฒนา ปัญหาอีคิวที่พบมากที่สุดคือด้านขาดความมุ่งมั่นพยายาม และขาดทักษะในการแก้ไขปัญหา
ด้าน นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมได้ดำเนินการป้องกันปัญหาและส่งเสริมศักยภาพ ไอคิว-อีคิวเด็กไทยใน 3 ระดับ ดังนี้
1.ส่งเสริมพัฒนาการในสถานบริการสาธารณสุขทุกระดับ โดยให้ความสำคัญต่อเด็กที่มีภาวะเสี่ยงให้ได้รับการช่วยเหลือแก้ไขได้เร็วที่สุด
2.ส่งเสริมการเตรียมความพร้อมก่อนการเข้าเรียน ทั้งทักษะการอ่าน การคำนวณ ผ่านกลไกการเลี้ยงดูและการเล่นที่ถูกต้องในครอบครัวและศูนย์เด็กเล็ก มีเครื่องมือที่ทุกฝ่ายจะใช้ร่วมกันในการกระตุ้นพัฒนาการเด็ก
3.การติดตามดูแลเด็กต่อเนื่องในวัยเรียนด้วยการคัดกรองปัญหาการเรียนรู้ สมาธิ ออทิสติก อารมณ์ และพฤติกรรม เพื่อดูแลช่วยเหลือเด็ก เนื่องจากเมื่อเด็กเข้าถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จะพบปัญหาดังกล่าวประมาณ ร้อยละ 15 โดยครูจะสามารถคัดกรองและช่วยเหลือเบื้องต้น และพิจารณาส่งต่อระบบสาธารณสุขได้ในโปรแกรมระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ที่กรมสุขภาพจิตดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องให้ครอบคลุมทั้งในทุกพื้นที่ รวมทั้งการฝึกอบรมและเพิ่มพยาบาลจิตเวชเด็ก และวัยรุ่นในโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่ง