ดร.ศาสตราวุฒิ พลบูรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมจราจร ผู้จัดการโครงการสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยปี 2557 เปิดเผยว่า ในปี 2557 ประเทศไทยมีผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนน 1,128,384 ราย แบ่งเป็น บาดเจ็บเล็กน้อย 964,819 ราย บาดเจ็บสาหัส 142,136 ราย และเสียชีวิต 21,429 ราย คิดเป็นอัตราการเสียชีวิต เท่ากับ 32.9 รายต่อแสนประชากร ลดลงจากปี 2555 ที่มีจำนวนผู้เสียชีวิต 23,601 ราย ซึ่งเท่ากับ 36.62 รายต่อแสนประชากร โดยเฉลี่ยทุกๆ 24 นาที จะมีคนไทยเสียชีวิตบนถนนอย่างน้อย 1 คน
ภาพรวมอุบัติเหตุทางถนนพบว่า 3 ใน 4 หรือ 76% เป็นผู้ใช้รถจักรยานยนต์ รองลงมาได้แก่ รถจักรยาน 8.8% และคนเดินเท้า 4% ที่เหลือประกอบด้วย รถบรรทุก รถตู้ รถยนต์ อื่นๆ สามล้อเครื่อง รถบรรทุกขนาดใหญ่ และรถโดยสาร โดยกลุ่มผู้ประสบอุบัติเหตุสูงที่สุดตามอายุ คือ อายุ 15-24 ปี ที่น่าสังเกตคือ มีจำนวนเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 1 ปี รวมอยู่ในจำนวนผู้เสียชีวิตในระดับใกล้กับคนอายุ 85-89 ปีร่วมอยู่ด้วย
ส่วนสถานการณ์รายจังหวัด พบว่า 10 อันดับแรก จังหวัดที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ ระยอง (74.73 ต่อแสนประชากร) ปราจีนบุรี ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สระบุรี เพชรบุรี ชุมพร ฉะเชิงเทรา ตาก และพระนครศรีอยุธยา สำหรับ 10 จังหวัดที่มีอัตราการเสียชีวิตต่ำสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (13.60 รายต่อแสนประชากร) ตามด้วย สตูล ยะลา ปัตตานี นนทบุรี แม่ฮ่องสอน อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ หนองบัวลำภู สมุทรสงคราม
ขณะที่ภาพรวมการสำรวจด้านมาตรการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ปี พ.ศ.2557 พบว่า มีการจับกุม ปรับ และดำเนินคดี “เมาแล้วขับ” 52,066 ราย “ขับรถเร็ว” 344,662 ราย “ไม่สวมหมวกนิรภัย” 1,322,351 ราย “ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย” 331,598 ราย “ขับรถย้อนศร” 136,675 ราย “ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร” 194,838 ราย และ “ใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับขี่” 55,575 ราย
ด้าน นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือแห่งองค์การอนามัยโลกด้านอุบัติเหตุและวิกฤติบำบัด โรงพยาบาลขอนแก่น กล่าวว่า หลังจากประเทศไทยเข้าร่วมปฏิบัติการขับเคลื่อน “ทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน” ร่วมกับสมาชิกองค์การสหประชาชาติและองค์การอนามัยโลกมาตั้งแต่ปี 2554 ได้วางเป้าหมายลดการตายลง ร้อยละ 50 จากที่เป็นอยู่ตามแนวทาง 5 เสาหลัก ได้แก่ 1.การบริหารจัดการที่เข้มแข็ง 2.การจัดการโครงสร้างพื้นฐานและถนนที่ปลอดภัย 3.การจัดการยานพาหนะที่ปลอดภัย 4.ผู้ใช้รถใช้ถนนปลอดภัย และ 5.ระบบการดูแลรักษาหลังเกิดเหตุ ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาจะพบว่า “เสาหลักที่ 5 ด้านการดูแลรักษาหลังเกิดเหตุมีผลที่น่าพึงพอใจ แต่เสาหลักด้านอื่นๆ ยังประสบปัญหาโดยเฉพาะด้านบริหารจัดการและการบังคับใช้กฎหมาย
จึงได้จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายต่อหน่วยงานรัฐ โดยขอให้ตระหนักว่าปัญหาอุบัติภัยบนท้องถนนของประเทศไทยอยู่ในขั้นวิกฤต ต้องมีความจริงจังในการดำเนินงานมากกว่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการบังคับใช้กฎหมาย การจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดหาอุปกรณ์ รวมถึงการปรับระบบการเก็บและรายงานข้อมูลการสูญเสีย โดยควรเร่งจัดตั้งหน่วยงานหรือสถาบัน เพื่อทำหน้าที่ประสานการดำเนินงานต่างๆ ที่ปัจจุบันแยกกันทำงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ตลอดจนกำกับติดตามการดำเนินงานของทุกๆหน่วยงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ขณะเดียวกันสื่อมวลชนต้องนำเสนอข้อมูลปัญหา ผลเสีย ผลกระทบ จากภัยบนท้องถนน สู่สังคม อย่างเข้มข้น รายงานข่าวเชิงวิเคราะห์ รวมทั้งเปิดช่องทางด่วนให้ประชาชน มีส่วนร่วมในการเสนอข้อมูล ซึ่งจะเป็นช่องทางให้ประเด็นปัญหาได้รับถ่ายทอดทั้งต่อสังคมให้รับทราบ และส่งต่อหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบให้แก้ไขความเห็น ส่วนภาคประชาคมสังคมต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยให้เกิดมีขึ้น พร้อมทั้งช่วยกันสอดส่องความเสี่ยงที่มีอยู่ และถ่ายทอดสู่สังคมผ่านสื่อสารมวลชน และติดตั้งกล้อง CCTV ในรถทุกคน เพื่อเก็บหลักฐานสำคัญซึ่งอาจนำไปสู่การวิเคราะห์แก้ไขปัญหา
ขณะที่ Mr.Liviu Vendrasco ผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิค สำนักงานองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย เสนอแนะประเทศไทยจำกัดความเร็วในเมืองเหลือเพียง 50 กม./ชั่วโมง และปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ในกลุ่มเด็กรุ่นใหม่ที่ขับรถต้องลดปริมาณในเลือดลงอีก รวมไปถึงการบังคับใช้กฎหมายต้องมีระบบปฏิบัติการที่มีประสิทธิภาพ มีการทำอย่างสม่ำเสมอและมีแบบแผนการจับกุม ปรับ หรือลงโทษ โดยเฉพาะการสวมหมวกนิรภัยในการขับขี่ทั้งคนขับคนซ้อน การคาดเข็มขัดนิรภัย และการใช้เบาะที่นั่งสำหรับเด็กต้องมีกฎหมายออกมาปกป้องเฉพาะพิเศษ
ทั้งนี้ รายงานสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทย ปี พ.ศ.2557 จัดทำขึ้นโดยแผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุระดับจังหวัด (สอจร.) ร่วมกับภาคีต่างๆ ได้แก่ มูลนิธิไทยโรดส์ ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน มูลนิธินโยบายเพื่อถนนปลอดภัย ภายใต้การสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ www.rswgsthai.com