วิกฤติ! ทูน่าครีบน้ำเงิน (คลิป)


โดย PPTV Online

เผยแพร่




คณะกรรมการนานาชาติ 10 ประเทศ หารือข้อเสนอของญี่ปุ่นที่จะจำกัดจำนวนการจับปลาทูน่าครีบน้ำเงินในมหาสมุทรแปซิฟิก หากจำนวนปลาทูน่าที่ยังไม่โตเต็มวัยลดลงต่อเนื่อง

คณะกรรมการทางตอนเหนือของคณะกรรมาธิการแห่งมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลางและตะวันตก ได้เริ่มการประชุมที่จังหวัดฟุกุโอะกะ วานนี้ เพื่อหารือข้อเสนอของประเทศญี่ปุ่นที่จะออกมาตรการฉุกเฉินจำกัดจำนวนการจับปลาทูน่าครีบน้ำเงินในมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นระยะเวลา 2 ปี หากจำนวนปลาทูน่าที่ยังไม่โตเต็มวัยยังลดลงต่อเนื่อง

ทางการญี่ปุ่นได้เสนอให้กำหนดเพดานการจับปลาทูน่าครีบน้ำเงิน หากจำนวนทูน่าครีบน้ำเงินที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี ต่ำกว่า 4 ล้าน 5 แสนตัว 3 ปีติดต่อกัน  โดยจากข้อมูลล่าสุดปี 2014 จำนวนปลาทูน่าอายุน้อยกว่า 1 ปี มีอยู่เพียง 3 ล้าน 6 แสน 8 หมื่นตัว  ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่เกือบจะต่ำสุดเท่าเคยมีการบันทึก  

การประชุมนี้ มีระยะเวลา 5 วัน โดยมีประเทศที่เข้าร่วม 10 ประเทศ ซึ่งรวมถึง จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา   เบื้องต้น ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันในการกำหนดเป้าหมายระยะยาวที่จะฟื้นฟูประชากรทูน่าครีบน้ำเงินในมหาสมุทรแปซิฟิกให้กลับมาอยู่ที่ 130,000 ตัน ภายในปี 2030 จากที่สถิติล่าสุดในปี 2014 จำนวนที่จับได้อยู่ที่ 16,000 ตัน

เพื่อให้เห็นภาพว่าปริมาณทูน่าครีบน้ำเงินในมหาสมุทรแปซิฟิกนั้นลดลงอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วงขนาดไหน ดูจากกราฟฟิกนี้ ซึ่งเป็นข้อมูลที่คณะกรรมาธิการประมงแห่งมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกตอนกลาง เปิดเผยเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เป็นปริมาณทูน่าครีบน้ำเงินในมหาสมุทรแปซิฟิก ที่มีอายุ 3 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นวัยที่เริ่มออกลูกออกหลานได้แล้ว ตกลงมาเรื่อยๆ เมื่อปี 2014 ที่ผ่านมา สต็อกทูน่าครีบน้ำเงินอยู่ที่ประมาณ 16,000 ตัน หรือไม่ถึง 3% เมื่อเทียบกับช่วงปี 1900 ที่ยังไม่เริ่มจับทูน่าครีบน้ำเงินในเชิงพาณิชย์ ตอนนั้นมีปริมาณกว่า 600,000 ตัน แสดงให้เห็นว่า ความอุดมสมบูรณ์ของประชากรปลาลดลงอย่างน่าตกใจ ซึ่งเป็นผลจากการทำประมงเกินขนาด และจับปลาทูน่าก่อนที่พวกมันจะมีโอกาสขยายพันธุ์  (ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า 70% ของทูน่าครีบน้ำเงินที่จับได้นั้นอายุไม่ถึง 1 ปี ขณะที่ 96% ถูกจับก่อนที่จะมีโอกาสขยายพันธุ์ แทบจะเกือบ 100%)

อีกจุดนึงที่น่าสนใจของกราฟนี้ก็คือ ข้อมูลในปี 2012 จากรายงานเมื่อปี 2014 บอกว่า สต็อกทูน่าครีบน้ำเงินอยู่ที่ราวๆ 26,000 ตัน แต่รายงานฉบับล่าสุด ได้ปรับตัวเลขลงเหลือ 13,795 ตัน หมายความว่า ปริมาณจริงๆมีน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ตอนแรกครึ่งนึง ซึ่งกราฟนี้อยู่ในจุดต่ำที่สุด นับตั้งแต่มีการจับทูน่าครีบน้ำเงินในเชิงพาณิชย์ ต่ำกว่าช่วงต้นทศวรรษที่ 1980

เมื่อมีทูน่าในทะเลน้อยลง ชาวประมงก็จับปลาได้น้อยลงเช่นกัน โดยชาวประมงบนเกาะอิกิของญี่ปุ่น เปิดเผยว่า เมื่อปี 2005 เคยกับทูน่าครีบน้ำเงินได้กว่า 350 ตันในการออกเรือครั้งหนึ่ง แต่พอมาปี 2014 จับได้เพียง 23 ตันเท่านั้น

ไม่ต่างจากชาวประมงที่ออกหาทูน่าในคาบสมุทรอิคิ บอกว่า ปริมาณทูน่าที่จับได้ลดลงถึง 30 เปอร์เซ็นต์ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แถมยังไม่ได้ตัวใหญ่เหมือนเมื่อก่อน จนชาวประมงรุ่นใหม่เลิกอาชีพนี้ไปมากมาย

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่บริโภคปลาทูน่าครีบน้ำเงินมากที่สุดในโลก โดยคิดเป็น 80% ของปริมาณที่จับได้ทั่วโลก 

ซึ่งจากข้อมูลที่รวบรวมโดยสำนักงานวิจัยประมงของญี่ปุ่น เมื่อปี 2014 ระบุว่า ปลาทูน่าในท้องตลาดของญี่ปุ่นกว่า 60% เป็นผลผลิตที่จับได้ภายในประเทศ ส่วนที่เหลือเกือบ 40% มาจากการนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น  สเปน ออสเตรเลีย โครเอเชีย มอลตา และเม็กซิโก เป็นต้น  ถือว่านำเข้าไม่น้อยเลย

เห็นปริมาณการจับและบริโภคแล้ว ญี่ปุ่นหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะต้องเป็นหัวหอกในการกำกับดูแลการทำประมงที่ยั่งยืน เพื่ออนุรักษ์ประชากรปลาทูน่าครีบน้ำเงินนี้

ปลาทูน่าครีบน้ำเงินแปซิฟิก หรือที่เรียกกันในภาษาญี่ปุ่นว่า คุโระมากุโระ หรือ ฮอนมากุโระ เป็นปลาทูน่าที่ชาวญี่ปุ่นนิยมรับประทานมากที่สุด เนื่องจากได้ชื่อว่าเป็นสุดยอดของบรรดาปลาทูน่าทั้งมวล  โดยมีเนื้อส่วนที่เรียกว่า โอโทโร่ อยู่มากกว่าทูน่าชนิดอื่นๆ ซึ่งโอโทโร่ นี้ เป็นเนื้อส่วนที่มีไขมันแทรก เป็นส่วนที่อร่อยที่สุดและแพงที่สุด  ญี่ปุ่นจะแบ่งเนื้อทูน่าเป็น 3 ประเภท อาคามิ  คือส่วนที่เป็นเนื้อแดงไม่มีไขมัน ชูโทโร่ ส่วนที่มีไขมันอยู่บ้าง  แล้วก็โอโทโร่

ด้วยรสชาติความอร่อย บวกกับความหายาก มีไม่ถึง 10% เมื่อเทียบกับจำนวนทูน่าทุกสายพันธุ์ที่จับได้  จึงทำให้ปลาทูน่าครีบน้ำเงินแปซิฟิก เป็นปลาทูน่าที่มีราคาแพงที่สุด  จนมีการตั้งฉายาปลาทูน่าชนิดนี้ว่าเป็น “เพชรสีดำ” แห่งท้องทะเล

ซึ่งที่ญี่ปุ่นก็มีธรรมเนียมในการประมูลทูน่าครีบน้ำเงินตัวแรกของปี ที่ปฏิบัติกันเป็นประจำทุกปี ที่ตลาดปลาสึกิจิ ซึ่งปีนี้ ปลาทูน่าตัวแรกถูกประมูลไปด้วยราคา 4.2 ล้านบาท  อาจจะคิดว่าแพงแล้ว แต่จริงๆ สถิติราคาประมูลที่แพงที่สุดของทูน่าครีบน้ำเงินนั้น อยู่ที่ 60 ล้านบาท ซึ่งเกิดขึ้นในการประมูลเมื่อปี 2013

และนี่ก็เป็นปลาทูน่าชนิดอื่นๆ ที่นิยมรับประทานกันในประเทศญี่ปุ่น อย่าง มินามิ มากุโระ หรือ ทูน่าครีบน้ำเงินตอนใต้ นี่ก็จะได้รับความนิยมรองลงมา บางคนให้คะแนนความอร่อยไม่แพ้กับ  ฮอนมากุโระ  ส่วนอีก 3 ชนิด คือ มิบาชิ มากุโระ   คิฮาดะ มากุโระ และ บินนากะ มากุโระ จะเป็นพันธุ์ที่มีขนาดเล็กกว่าพันธุ์ครีบน้ำเงิน  อย่าง คิฮาดะ มากุโระ ก็จะมีไขมันน้อย นิยมนำไปทำซาชิมิและทูน่ากระป๋อง   ส่วนบินนากะ มากุโระ ถือเป็นพันธุ์ที่ราคาถูกกว่าใครเพื่อน จึงนิยมไปทำเป็นซูชิหรือซาชิมิราคาถูก

 

ประชากรทูน่าครีบน้ำเงินวิกฤติ จากการทำประมงเกินขนาด

รายงานของ คณะกรรมการวิทยาศาสตร์นานาชาติ หรือ ไอเอสซี ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนเมษายน ยืนยันว่าประชากรปลาทูน่าครีบน้ำเงินในธรรมชาติได้ลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จะมีความพยายามออกระเบียบข้อบังคับต่างๆ มากมายเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว

จากการวิจัยและสำรวจพบว่าประชากรปลาทูน่าครีบน้ำเงินเหลือเพียงแค่ 3% เมื่อเทียบกับตัวเลขในปี 1970 ซึ่งเป็นช่วงที่กระแสการบริโภคของปลาชนิดดังกล่าวเริ่มได้รับความนิยม

 

 

แม้ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่บริโภคทูน่าครีบน้ำเงินมากที่สุดในโลกตกลงที่จะปฏิบัติตามข้อแนะนำขององค์กรนานาชาติเพื่อช่วยฟื้นฟูประชากรปลาทูน่าครีบน้ำเงินในธรรมชาติ  แต่ผู้เชี่ยวชาญต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ามาตรการต่างๆ ที่ผ่านมาแทบจะไม่ได้ผลเลย

หนึ่งในข้อบังคับสำคัญที่ทางญี่ปุ่นตกลงว่าจะทำตามอย่างเคร่งครัด คือการเพิ่มจำนวนปลาทูน่าครีบน้ำเงินในวัยที่สามารถขยายพันธุ์ได้ ให้อยู่ในระดับไม่ต่ำไปกว่า 6.7% ของจำนวนปลาทูน่าครีบน้ำเงินก่อนปี 1952 (ซึ่งเป็นปีที่เริ่มมีการบันทึกสถิติ)

แต่ตัวเลขที่ญี่ปุ่นตกลงยอมทำตาม ต่ำกว่าตัวเลขที่สหรัฐอเมริกาแนะนำไว้ถึง 3 เท่า โดยตัวเลขที่สหรัฐฯ แนะนำอยู่ที่ 20%

นอกจากนี้ในปี 2012 ญี่ปุ่นยังได้กำหนดเพดานจำนวนฟาร์มปลาทูน่าในประเทศไม่ให้เพิ่มขึ้นไปกว่านี้ และออกข้อบังคับไม่ให้ชาวประมงค์จับปลาทูน่าที่มีน้ำหนักต่ำกว่า 30 กิโลกรัม เพื่อให้ปลาทูน่ามีโอกาศขยายพันธุ์เพิ่มขึ้น

แม้เจ้าหน้าที่บางคนเชื่อว่ามาตรการที่บังคับใช้อยู่ ช่วยชะลอการลดจำนวนของปลาทูน่าครีบน้ำเงินในธรรมชาติได้จริง แต่นักวิชาการจำนวนไม่น้อยไม่เห็นด้วย และกล่าวว่าเรือประมงยังคงจับปลาเกินขนาดไปมาก โดยเฉพาะในญี่ปุ่น

เห็นได้จากประชากรปลาทูน่าใหม่ที่เพิ่มขึ้นมา ยังต่ำกว่าตัวเลขที่บันทึกไว้ในปี 1952 ถึง 7 เท่า – ซึ่งเป็นระดับที่เกือบต่ำที่สุดตั้งแต่เริ่มการบันทึกมาเลย

หากวิธีต่างๆ ที่เสนอไปยังไม่สำเร็จ ไม้แข็งของนานาชาติในการประชุมของคณะกรรมการ 10 ประเทศรอบนี้ คือการขีดเส้นตาย ห้ามจับปลาทูน่าครีบน้ำเงินอย่างเด็ดขาด จนกว่าประชากรในธรรมชาติจะเริ่มฟื้นตัว

ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยโตเกียวเชื่อว่า ทูน่าครีบน้ำเงินจะถูกขึ้นบัญชีเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธ์การประชุมอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศในสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ของสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่นคร โจฮันส์เบิรก ช่วงปลายปีนี้

เพราะถ้าปล่อยให้จับกันต่อไปอย่างนี้ ประชากรทูน่าครีบน้ำเงินอาจจะเข้าขั้นวิกฤติจนสูญพันธ์ในอนาคตอันใกล้นี้เลยก็ได้ 

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ