ในทางการเมือง พรรคเสรีมนังคสิลา ของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ถูกมองว่าเป็นพรรคทหารพรรคแรก ตั้งขึ้นหลัง จอมพล ป.เป็นนายกรัฐมนตรี หลังการรัฐประหาร 2490 มีจอมพล ป. เป็นหัวหน้าพรรค จอมพลสฤดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบก และพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ เป็นกำลังสำคัญ แต่หลังเลือกตั้งปี 2500 ก็เจอข้อหา “การเลือกตั้งสกปรก” ที่เป็นเงื่อนไขให้จอมพลสฤษดิ์ยึดอำนาจ ปี 2501 พรรคเสรีมนังคศิลาถูกยุบ
เมื่อจอมพลสฤษดิ์ อสัญกรรมในปี 2506 จอมพลถนอม ขึ้นเป็นนายกฯในการเลือกตั้งในปี 2512 พรรคสหประชาไทย ของจอมพลถนอม ชนะการเลือกตั้ง แต่อยู่ได้เพียง 2 ปี ก็รัฐประหารตัวเอง ยุบสภาผู้แทนราษฎรทิ้ง
สรุป 2 พรรคทหารยุคแรก พรรคเสรีมนังคศิลา อยู่ได้ 10 ปีเศษ พรรคสหประชาไท อยู่ได้ 4 ปี หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ก็กลายเป็นพรรคขนาดเล็ก
แต่เบื้องหลังสำคัญ กลุ่มยังเติร์ก ที่นำโดยนายทหาร จปร.7 ต้องการให้พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ผู้บัญชาการทหารบก เป็นนายกรัฐมนตรี แม้ไม่มีพรรคการเมืองรองรับ แต่ก็มีอำนาจกองทหารสนับสนุน ชนิดที่พรรคการเมือง ไม่อาจปฏิเสธได้
ถึงจะเผชิญการก่อกบฎ 2 ครั้ง โดยกลุ่มยังเติร์ก แต่พลเอกเปรม ก็อยู่ในอำนาจได้เกือบ 8 ปีเต็ม กระทั่งสภาพการเมือง เริ่มเปลี่ยนแปลง กระแส “นายกฯ มาจากการเลือกตั้ง” เริ่มดัง พลเอกเปรม จึงเอ่ยปากว่า “ผมพอแล้ว”
และแม้ในการเลือกตั้งปี 2531 พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก อดีตผู้บัญชาการทหารบก จะเข้าไปเป็นหัวหน้าพรรคปวงชนชาวไทย และเข้าร่วมรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัน แต่ก็ไม่ใช่ลักษณะของพรรคทหารเหมือนในอดีต
พรรคทหารถูกจับตามองอีกครั้ง หลังพรรคสามัคคีธรรมถูกจัดตั้ง เแม้หัวหน้าพรรค จะเป็นพลเรือน แต่ก็ถูกต่อสายจากทหาร ที่สำคัญเลขาธิการพรรค คือ ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ เพื่อน จปร.5 ของพลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบก แกนนำสำคัญในการยึดอำนาจพลเอกชาติชายในปี 2534
ไม่เพียงแต่ พรรคสามัคคีธรรม ของนายณรงค์ วงศ์วรรณ เท่านั้น พรรคกิจสังคม พลโทเขษม ไกรสรรค์ นายทหาร จปร.5 ก็ถูกส่งไปเป็นหัวหน้าพรรค ขณะที่พรรคชาติไทย ได้พลอากาศเอกสมบุญ ระหงษ์ เป็นหัวหน้าพรรค
ทั้งหมดสนับสนุนพลเอกสุจินดาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่อยู่ได้เพียง 48 วัน อำนาจก็สิ้นสุดลง หลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535
ก่อนการเลือกตั้ง 2550 พลเอกสนธิ บุณยรัตกลิน อดีตหัวหน้าคณะมนตรีความมั่นคงชาติที่ยึดอำนาจรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ในปี 2549 ก็ตั้งพรรคมาตุภูมิ ลงสู่สนามเลือกตั้ง แต่ก็เป็นพรรคขนาดเล็ก ได้ที่นั่งต่ำสิบ
ล่าสุด นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประกาศตั้งพรรคประชาชนปฏิรูป สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกฯ หลังการเลือกตั้งครั้งนี้ จนเกิดคำว่า “เปรมโมเดล” ซึ่งเมื่อย้อนดูเส้นทางละแต่พรรคการเมือง แล้วก็พบว่ามีความแตกต่าง ด้านสภาพสังคมและการเมืองเป็นอย่างมาก
ยุคพลเอกเปรม กองทัพมีความเป็นปึกแผ่น ที่สำคัญก็คือการเมือง ไม่มีความแตกแยก เส้นทางนายกฯของพลเอกเปรม ในสภาผู้แทนราษฎร จึงราบเรียบ ขณะที่ปัจจุบันพรรคสามารถพัฒนาขึ้นเป็นสถาบันทางการเมืองได้ พรรคเพื่อไทย เคยสร้างประวัติเป็นรัฐบาลพรรคเดียว
โอกาสที่ 2 พรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ ที่มีฐานคะแนนรวมกันเกือบ 30 ล้านเสียง จะยกมือสนับสนุนพลเอกประยุทธ์มีไม่มากนัก เว้นแต่จะย่อยสลายหรือเซ็ตซีโรพรรคการเมือง แต่ก็ไม่ง่ายอีกเหมือนกัน เพราะระบบสองพรรคใหญ่ แข็งแกร่งเกินอำนาจกองทัพจะพังทลายได้ และมีคำถามว่าพลเอกประยุทธ์จะมีน้ำอดน้ำทนได้เหมือนพลเอกเปรมหรือไม่ เมื่อต้องเผชิญหน้ากับเหล่า ส.ส.ฝีปากกล้าในสภาในวันที่ไม่มีอำนาจพิเศษเหมือนในวันนี้
และถ้าจะจับสัญญาณคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ถูกสื่อมวลชนถามถึงเรื่อง ‘เปรมโมเดล’ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา จะเห็นว่าแม้จะยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธว่าจะไม่เดินตามโมเดลนี้ เช่นเดียวกับกรณีที่มีข่าวว่าเพื่อนร่วมรุ่น มีแนวคิดตั้งพรรคทหาร ซึ่งก็ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนเช่นเดียวกัน ระบุเพียงแค่อย่าเอาตัวเองไปเกี่ยวข้อง
และแม้การได้เสียง ส.ว.บวกเสียง ส.ส.รวมกัน 375 คน อาจส่งพลเอกประยุทธ์ขึ้นสู่อำนาจได้ แต่หากไม่มีเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.เกินครึ่ง โอกาสได้บริหารก็เท่ากับศูนย์ เพราะ ส.ส.มีอำนาจยกมือผ่าน-ไม่ผ่าน งบประมาณรายจ่ายประจำปี รวมทั้งอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่ส่งผลให้นายกฯ ที่ได้รับการสนับสนุนจากพรรค ส.ว.เป็นหลัก หล่นจากอำนาจได้ทันที