“น้ำท่วม” แฝงโรคภัย รู้วิธีป้องกันห่างไกลโรค


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ช่วงนี้ประเทศไทยในหลายพื้นที่ยังมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง บางพื้นที่ตกหนักจนเกิดน้ำท่วมฉับพลัน จนสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านในพื้นที่ประสบภัย นอกจากจะสร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือน สิ่งของภายในบ้านแล้ว ยังแฝงมี “โรคภัย” แฝงมากับน้ำที่ท่วมขังเป็นเวลานานหลายวันด้วย

ทีมนิวมีเดีย พีพีทีวี จึงได้รวบรวมโรคที่จะถามหา เมื่อน้ำท่วม และวิธีปฏิบัติตนเมื่อเผชิญหน้ากับน้ำท่วม จากกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ห่างไกลโรคในช่วงน้ำท่วมที่อาจจะท่วมขังเป็นเวลานานหลายวัน

โรคตาแดง เกิดจากการอักเสบของเยื่อบุตา ติดต่อโดยการสัมผัสคลุกคลีกับผู้ป่วยโรคตาแดง หรือน้ำสกปรกเข้าตา ซึ่งจะมีอาการตาแดง เคืองตา น้ำตาไหล เจ็บตา มักมีขี้ตามาก ตาบวม จะเป็นอยู่ประมาณ 5-14 วัน  การป้องกันโรคนี้ ควรล้างมือด้วยน้ำและสบู่ ไม่คลุกคลีใกล้ชิดหรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย อย่าให้แมลงหวี่หรือแมลงวันตอมตา หมั่นดูแลรักษาความสะอาดของร่างกาย เครื่องใช้ต่างๆ หากป่วยเป็นโรคตาแดง ไม่ควรซื้อยามาหยอดเอง ควรรีบไปพบแพทย์  ไม่ควรลงเล่นน้ำในสระหรือคลอง เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสแพร่กระจายในน้ำ เพราะโรคนี้อาจแพร่กระจายไปสู่คนอื่นๆ ได้อย่างรวดเร็ว


โรคอุจจาระร่วง มีสาเหตุมาจากการรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ ค้างคืน มีแมลงวันตอม ดื่มน้ำไม่สะอาดหรือมีการปนเปื้อนของเชื้อโรค โดยผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงจะมีอาการถ่ายอุจจาระเหลว 3 ครั้ง/วัน หรือมากกว่า หรือถ่ายมีมูกหรือปนเลือดอย่างน้อย 1 ครั้ง อาเจียนบ่อย กินอาหารไม่ได้ กระหายน้ำกว่าปกติ มีไข้สูง  ควรรับประทานอาหารเฉพาะที่ปรุงสุกใหม่ด้วยความร้อนและสะอาด หลีกเลี่ยงการปรุงโดยวิธีลวกหรือพล่าสุกๆ ดิบๆ สำหรับอาหารที่รับประทานไม่หมดต้องเก็บในตู้เย็นและนำมาอุ่นก่อนรับประทานใหม่ แต่หากมีรสหรือกลิ่นผิดปกติไม่ควรรับประทานเด็ดขาด และหมั่นล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนปรุงอาหาร

โรคฉี่หนู หรือ โรคเลปโตสไปโรสิส ซึ่งภายหลังน้ำลดแล้วจะทำให้สภาพพื้นดินในบริเวณที่พักอาศัยหรือทางเดินชื้นแฉะ เป็นแอ่งน้ำขัง โดยเชื้ออาจอยู่ตามบริเวณดังกล่าวได้ เชื้อโรคชนิดนี้จะสามารถเข้าทางบาดแผล หรือตามรอยถลอก รวมถึงผิวหนังที่แช่น้ำเป็นเวลานานได้ สำหรับการป้องกันโรคฉี่หนู ขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำท่วมขัง หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรสวมรองเท้า เช่นรองเท้าบู๊ทยาง  หรือสวมถุงมือหนาๆเมื่อต้องสัมผัสน้ำเพื่อป้องกันการเกิดบาดแผลจากของมีคมบาดหรือทิ่มแทง  หากมีบาดแผลที่เท้าหรือบริเวณขา ให้ใช้ถุงพลาสติกหรือวัสดุที่กันน้ำได้ ห่อหุ้มขาและเท้าเพื่อป้องกันน้ำเปียกแผล หากมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดน่อง ตาแดง ให้ไปพบแพทย์ทันที และต้องแจ้งประวัติการเดินลุยน้ำให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อการรักษาที่ถูกต้องรวดเร็ว เพราะหากรักษาล่าช้าอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนทำให้เสียชีวิตได้

โรคปอดบวม เนื่องจากเด็กมักจะชอบลงเล่นน้ำท่วมขัง อาจเกิดการสำลักน้ำทำให้เชื้อโรคหรือสิ่งสกปรกต่างๆที่อยู่ในน้ำท่วมเข้าไปในปอด ทำให้เกิดการอักเสบ เป็นโรคปอดบวมได้  จึงขอให้ผู้ปกครองดูแลลูกหลานให้หลีกเลี่ยงลงเล่นน้ำท่วมขัง   และขอให้สังเกต หากเด็กมีอาการป่วยหลังเล่นน้ำ เช่น มีไข้สูงเกิน 2 วัน  ไอ หายใจหอบ หรือเจ็บหน้าอกเวลาไอ ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือรีบพาไปพบแพทย์ เพื่อรักษาทันที  

 

 

สำหรับสภาพของน้ำท่วมหลายพื้นที่ในขณะนี้ เป็นลักษณะของน้ำเอ่อขังทำให้น้ำเน่าเสียง่าย และเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค ดังนั้น จึงควรงดการทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูล หรือห้ามขับถ่ายลงในน้ำหากห้องน้ำใช้การไม่ได้ ขอให้ให้ทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูล ขับถ่ายใส่ถุงพลาสติก หรือถุงดำ และมัดปากถุงให้มิดชิดก่อนนำไปกำจัดให้ถูกวิธี เพื่อลดความสกปรกของน้ำท่วมขังให้ได้มากที่สุด

โรคน้ำกัดเท้า พบได้บ่อยที่สุดยิ่งท่วมขังนานก็จะพบโรคน้ำกัดเท้ามากขึ้นไปด้วย เนื่องจากต้องแช่น้ำ เดินลุยน้ำ เป็นระยะเวลานานทำให้ผิวหนังเปื่อย มีแผล โดยเฉพาะบริเวณง่ามนิ้วเท้า เสี่ยงติดเชื้อโรคที่อยู่ในน้ำท่วมขังได้ง่าย หากมีความเป็นต้องแช่น้ำ หรือเดินลุยน้ำ หลังจากขึ้นจากน้ำให้รีบชำระล้างด้วยน้ำและฟอกด้วยสบู่ เช็ดให้แห้งโดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้วเท้า ซึ่งจะมีความอับชื้นมากกว่าที่อื่น อาจใช้แป้งฝุ่นโรยบริเวณเท้าและซอกนิ้วเท้าเพื่อให้เท้าแห้งสนิททุกครั้ง หากมีบาดแผลบริเวณเท้า ให้เช็ดแผลด้วยแอลกอฮอล์ และใส่ยาฆ่าเชื้อ รวมทั้ง หลีกเลี่ยง การใส่รองเท้าและถุงเท้าที่เปียกชื้นเป็นเวลานาน ควรซักถุงเท้าให้สะอาดและตากให้แห้งก่อนนำมาใช้

นอกจากนี้ในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม ผู้ปกครองควรจะดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด เพราะมักจะเกิดอุบัติเหตุเด็กเล็กพลัดตกน้ำ  อย่าปล่อยเด็กให้อยู่ตามลำพัง และให้อยู่ในพื้นที่ที่ต้องมองเห็น เข้าถึงและคว้าถึงง่าย โดยปิดประตูบ้านไว้เสมอ หากพลัดตกน้ำจะจมน้ำได้ง่ายแม้ว่าน้ำจะตื้นก็ตาม เนื่องจากเด็กเล็กยังมีการทรงตัวไม่ดี และไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้

ส่วน ภัยสุขภาพที่สำคัญอื่นๆในช่วงน้ำท่วมคือ แมลงมีพิษกัดต่อย และไฟฟ้าดูด โดยอันตรายที่เกิดจากแมลงมีพิษกัดต่อยช่วงน้ำท่วม เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง ที่หนีน้ำท่วมเข้ามาอาศัยอยู่ในบ้านเรือน ซึ่งหากไม่ระวังก็อาจถูกสัตว์เหล่านี้กัดหรือต่อยได้ การป้องกันควรตรวจสอบจุดต่างๆของบ้านหลังจากฝนตก หากพบเจอสัตว์มีพิษควรตั้งสติให้ดี และเรียกผู้ชำนาญมาช่วย

สำหรับการถูกไฟฟ้าดูด อาจทำให้บาดเจ็บรุนแรง พิการ และเสียชีวิตได้ ขอให้ประชาชนระมัดระวังและป้องกันตนเองโดยก่อนน้ำท่วมควรขนย้ายอุปกรณ์ไฟฟ้าและสิ่งของจำเป็นไว้ที่สูงหรือที่ปลอดภัย น้ำท่วมไม่ถึง และถอดปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้าน งดใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด รวมถึงห้ามเปิดปิดสวิทซ์ไฟโดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะตัวเปียกหรือยืนแช่น้ำ และหากระดับน้ำท่วมขังสูงเกินกว่าปลั๊กหรือเมนสวิทซ์อย่าเดินลุยน้ำ ให้หาวัสดุที่เป็นฉนวนไฟฟ้า เช่น ลังไม้ กล่องพลาสติก เพื่อใช้เป็นทางเดินไม่ให้ร่างกายถูกน้ำ
 

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ