เพจดังขโมยภาพ ทนายซัด! ละเมิดลิขสิทธิ์-หมิ่นประมาท


โดย PPTV Online

เผยแพร่




แฟนเพจชื่อดังขโมยภาพลงเฟซบุ๊ก เจ้าของวอนให้ลบ แต่ถูกด่ากลับ กรณีนี้ ทนายความ ระบุว่า มีความผิดละเมิดลิขสิทธิ์และหมิ่นประมาท

จากกรณีมีแฟนเพจชื่อดัง นำภาพของช่างภาพอิสระรายหนึ่ง ไปเผยแพร่ในเพจเฟซบุ๊ก ต่อมาช่างภาพอิสระซึ่งเป็นเจ้าของภาพ จึงได้กดรายงานแจ้งเตือนไปยังเพจดังกล่าวในเรื่องลิขสิทธิ์ เพื่อให้ลบรูปของตนออก แต่กลับถูกด่าทอผ่านข้อความเฟซบุ๊ก และปลุกระดมผู้ที่ติดตามเพจชื่อดัง ให้มาช่วยด่าช่างภาพอิสระ พร้อมมีการนำภาพในเฟซบุ๊กและเพจรับงานของช่างภาพอิสระ ไปตัดต่อล้อเลียนและกล่าวโจมตี ต่อมาช่างภาพอิสระรายนี้ จึงได้ทำการเผยแพร่เรื่องราวทั้งหมดและรูปภาพลงในเว็บไซต์ Pantip.com ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียล ทางผู้สื่อข่าวนิวมีเดียพีพีทีวี จึงได้ทำการติดต่อสอบถามถึงความผิดตามข้อกฎหมายที่เกิดขึ้นในเรื่องนี้

นายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ทนายความอิสระ เจ้าของเพจ “ทนายคู่ใจ” เผยว่า กรณีดังกล่าวจะมีความผิด ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ 2537 มาตรา 27 การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ โดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 15 (5) ให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งการกระทำของเพจดังกล่าว มีความผิดใน มาตรา 27 (2) เผยแพร่ต่อสาธารณชน จึงเป็นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ มีโทษปรับตั้งแต่ 20,000 – 200,000 บาท และจะเป็นคดีอาญา

ขณะที่ ความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมาลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือ ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ มาตรา 328 ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณา ด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ ทำให้ปรากฏด้วยวิธีใด ๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินสองปีและปรับไม่เกิน 200,000 บาท

ส่วนกรณีที่แฟนเพจดังกล่าวระดมกลุ่มผู้ติดตามเข้าไปต่อว่าด่าทอ ช่างภาพอิสระเจ้าของภาพ ถือเป็นการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ หรือ Cyberbullying ซึ่งเป็นพฤติกรรมการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊ก ไลน์ อินสตาแกรม หรือตามเว็บไซต์ต่างๆ ซึ่งปัญหานี้มักเกิดขึ้นกับเด็กและวัยรุ่น แต่กับผู้ใหญ่หรือวัยที่มีวุฒิภาวะแล้วปัญหานี้ก็มีให้เห็นอยู่ไม่น้อยเช่นกัน

รศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล หัวหน้าสาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เคยกล่าวไว้ใน “ดีแทค-มูลนิธิแพธทูเฮลท์ พัฒนาช่องทางให้คำปรึกษาออนไลน์” ว่า จากผลการวิจัยขั้นต้น (preliminary) เรื่อง “ความชุกและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการกลั่นแกล้งบนโลกไซเบอร์ ในระดับชั้น ม.1-3” โดยเป็นความร่วมมือในระดับนานาชาติ 14 ประเทศทั่วโลก ระบุว่า เด็กไทยเกือบ 80% มีประสบการณ์ถูกกลั่นแกล้งในชีวิตจริง โดย 66% ถูกแกล้งอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และอีก 12% ที่ถูกแกล้งทุกวัน ขณะที่เด็กไทย 45% มีประสบการณ์เกี่ยวกับการกลั่นแกล้งทางโลกไซเบอร์อย่างน้อย 1 ครั้ง ซึ่งมากกว่าประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่นถึง 4 เท่า

โดยรูปแบบที่ถูกกระทำมากที่สุด คือ การโดนล้อเลียนและการถูกตั้งฉายาที่ 79.4% ตามด้วยถูกเพิกเฉย ไม่สนใจ 54.4%และคนอื่นไม่เคารพ 46.8% ตามด้วยการถูกปล่อยข่าวลือ การถูกนำรูปไปตัดต่อ ถูกข่มขู่ และการถูกทำให้หวาดกลัว ตามลำดับ ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่า คนที่เด็กจะไปปรึกษาด้วยมากที่สุดคือ เพื่อนถึง 89.2% ตามด้วยผู้ปกครอง 59% พี่น้อง 41.2%โดยครูเป็นลำดับสุดท้าย

ทั้งนี้ เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการถูกกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์ พ่อแม่ผู้ปกครองหรือบุคคลรอบข้างจึงควรให้การดูแลเอาใจใส่และหมั่นสังเกตบุคคลหรือเด็กที่สุ่มเสี่ยง โดยสังเกตจากอาการที่อาจเกิดจากการถูกกลั่นแกล้ง เช่น อาการซึมเศร้า พูดน้อยลง แยกตัว เก็บตัว หรือกับเด็กจะมีอาการไม่อยากไปโรงเรียน และผลการเรียนต่ำลง

ขอบคุณรูปภาพจาก : "รณณรงค์ แก้วเพ็ชร์" , " NCSWT Channel"

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ