รายงานข่าวจากกรมสรรพากร เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 11 ก.ค.60 ที่ผ่านมา กรมสรรพากรได้ปิดรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (อี-บิซิเนส) ภายหลังเปิดให้หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงประชาชนทั่วไป ร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างกฎหมายดังกล่าว ก่อนจะรวบรวมข้อมูลและความคิดเห็น เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ใช้ประกอบการพิจารณาและเห็นชอบ ภายในเดือน ก.ค.นี้
ทั้งนี้ การจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (อี-บิซิเนส) ตามร่างกฎหมายฉบับนี้ มีสาระสำคัญ คือ กำหนดให้นิติบุคคลซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ประกอบกิจการโดยการใช้ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ และในการประกอบกิจการนั้นมีลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ที่ได้รับเงินได้หรือผลกำไรในประเทศไทย ให้ถือว่านิติบุคคลนั้นประกอบกิจการในประเทศไทย และให้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ ในประเทศไทย เฉพาะที่เกี่ยวกับเงินได้หรือผลกำไร เช่น เฟซบุ๊ก กูเกิล ยูทูบ และไลน์ เป็นต้น
สำหรับการจัดเก็บภาษีดังกล่าว เนื่องจากพัฒนาการของเทคโนโลยีในปัจจุบันช่วยให้ผู้ประกอบการที่มีถิ่นที่ตั้งในต่างประเทศสามารถประกอบธุรกิจในอีกประเทศได้อย่างสะดวกโดยผ่านวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้การซื้อสินค้าและรับบริการจากผู้ประกอบการต่างประเทศผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบันนั้นเป็นไปอย่างแพร่หลาย แต่ที่ผ่านมาข้อกฎหมายเดิมการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการต่างประเทศดังกล่าวทำได้อย่างจำกัด ส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐ และก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในภาระภาษีระหว่างผู้ประกอบการในประเทศและต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการต่างประเทศที่ได้ขายสินค้าหรือให้บริการกับผู้ซื้อในประเทศไทยผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าสินค้าทางไปรษณีย์ เป็นไปอย่างเหมาะสมและทั่วถึง ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการในประเทศและต่างประเทศ จึงจำเป็นต้องปรับปรุงประมวลรัษฎากรให้เหมาะสมกับรูปแบบของธุรกิจในปัจจุบัน
รายงานข่าวจากกรมสรรพากร กล่าวว่า ร่างกฎหมายนี้จะกำหนดการจัดเก็บภาษีอย่างชัดเจน โดยกำหนดให้นิติบุคคลซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ประกอบกิจการโดยการใช้ สื่ออิเล็กทรอนิกส์และมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย แต่ได้รับเงินได้พึงประเมินจากการประกอบกิจการดังกล่าวอันเป็นเงินได้ประเภทค่าโฆษณาออนไลน์ ค่าใช้พื้นที่ในเว็บไซต์ หรือประเภทที่จะได้กำหนดโดยกฎกระทรวง ทั้งการใช้โดเมนท้องถิ่นของไทย หรือมีการสร้างระบบการชำระเงินเป็นสกุลเงินไทยหรือมีการโอนเงินจากประเทศไทย ถือว่านิติบุคคลนี้ประกอบกิจการในประเทศไทย ให้ผู้จ่ายหักภาษีจากเงินได้ที่จ่ายในอัตรา 15% และนำส่งกรมสรรพากร และหากมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย
ขอบคุณภาพประกอบ AFP, https://line.me/th/